เมื่อสวนหลอดเลือดหัวใจพบหลอดเลือด ตีบตันแล้วรักษาได้ทันทีเลยไหม?

นี่อาจเป็นคำถามที่คนไข้หลายๆ คนสงสัย นายแพทย์นิวิธ กาลราให้คำตอบว่าขึ้นอยู่กับอาการเจ็บหน้าอกของคนไข้ว่าต้องรับการรักษาฉุกเฉินเลยหรือไม่ “หลังจากทำการวินิจฉัยด้วยการสวนหัวใจแล้ว จะทำการรักษาเลยทันทีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยที่เข้ามา ถ้าผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกอยู่ แล้วคลื่นไฟฟ้าหัวใจโชว์ว่ามีการอุดตันฉุกเฉิน เราจะพาคนไข้เข้าไปตรวจสวนหัวใจแล้วให้ การรักษาฉุกเฉินทันที แต่ถ้าคนไข้ที่มาด้วยอาการเจ็บหน้าอกที่ไม่ฉุกเฉิน เราจะค่อยๆ วินิจฉัยตาม ขั้นตอน และขั้นตอนสุดท้ายของการวินิจฉัยหรือการรักษา จึงจะเป็นการสวนหลอดเลือดหัวใจ แล้วตามด้วยการขยายหลอดเลือดที่ตีบ ซึ่งเราก็สามารถทำการวินิจฉัยและต่อเนื่องด้วย การรักษาได้โดยทันทีเช่นกัน”

ระหว่างการสวนหัวใจ คนไข้ก็ยังพูดคุยปรึกษากับหมอได้ เพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด

เนื่องจากกระบวนการสวนหัวใจขยายหลอดเลือดนั้น คนไข้ไม่ต้องรับการวางยาสลบ ระหว่างที่หมอให้การรักษาคนไข้จะสามารถให้ความร่วมมือและพูดคุยปรึกษาได้ตลอด นายแพทย์นิวิธอธิบายว่า “นอกจากขดลวดที่เรามีจะมีขนาดที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยทุกราย เรายังมีขดลวดให้เลือกตั้งแต่ชนิดดั้งเดิมที่ทำจากโลหะ ขดลวดชนิดที่มีการเคลือบยา มาจนถึงชนิดใหม่ล่าสุด คือขนิดที่สามาถดูดซึมได้โดยหลอดเลือด โดยเราจะให้คำแนะนำกับผู้ป่วยถึงประโยชน์และโทษของแต่ละชนิด แล้วก็เป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างผู้ป่วยกับหมอ ณ ขณะเวลาที่ทำการรักษาอยู่ได้เลยทันที”

ผู้ป่วยแบบไหน...ที่ต้องระวังโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

นอกจากทุกๆ คนควรจะดูแลรักษาสุขภาพตัวเองเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแล้ว นายแพทย์นิวิธย้ำว่า “คนไข้ที่จะต้องเฝ้าระวังเรื่องหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นพิเศษ คือคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวาน คนไข้ที่มีคนในครอบครัวแบบสายตรงมีประวัติเป็นโรคหัวใจ และคนไข้ที่เป็นโรคอ้วน ซึ่งบางทีอาการจะไม่ได้เหมือนอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจเสมอไป ดังนั้นอาการเริ่มต้นที่ควรสังเกตตัวเองคือ มีอาการเหนื่อยง่าย เจ็บแน่นหน้าอก อาจจะไม่เจ็บหนักมาก แต่ไม่ควรต้องรอให้มีอาการจนเป็นมาก แนะนำว่าควรมาตรวจดูก่อนเสมอว่า มีโอกาสจะเป็น หรือยัง หรือถ้าเป็นแล้ว เป็นมากเป็นน้อยแค่ไหน ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างจะต้องลงท้ายด้วยการสวนหัวใจเสมอ แต่อย่างน้อยถ้าเรามาตรวจ แต่เนิ่นๆ ก็จะมีทางรักษาได้เร็วขึ้น และรักษาได้ง่ายขึ้นด้วย”