ปลดล็อคความกลัวการรักษา ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ สามารถรักษาได้อย่างไร?

ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ สามารถรักษาได้ด้วย 3 วิธี คือ

  1. การรับประทานยา เพื่อให้เข้าไปลดการทำงานที่ผิดปกติ ลดการปล่อยสัญญาณไฟฟ้าผิดจากจุดบางจุดในห้องหัวใจ แม้ว่าการรับประทานยาจะมีความเสี่ยงน้อย แต่การรักษาให้หายก็ไม่ได้ 100% เช่นกัน อีกทั้งในผู้ป่วยรับประทานยาอาจมีผลข้างเคียงของอาการซึมเศร้าได้ แม้ว่าจะรับประทานยาได้ไม่นานก็เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน หรือคนที่เป็นหอบหืดอยู่แล้วก็อาจจะเป็นมากขึ้น
  2. ดังนั้น นพ.อภิชัย โภคาวัฒนา จึงได้แนะนำวิธีการรักษาที่หายขาดและได้ผลลัพธ์อย่างน่าพึงพอใจคือ การรักษาด้วยการจี้ไฟฟ้าหัวใจ จะมีการเอาสายนำสัญญาณเข้าไปในร่างกายผ่านเส้นเลือดเข้าไปยังหัวใจห้องต่าง ๆ และบันทึกสัญญาณไฟฟ้าหัวใจว่ามีความผิดปกติแบบไหน กระตุ้นให้เกิดการเต้นผิดจังหวะและหาจุดที่ผิดปกติ เมื่อเจอแล้วจึงใช้คลื่นวิทยุหรือคลื่นความร้อนเข้าไปทำลาย อาการเต้นผิดจังหวะของหัวใจก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไป โดยวิธีนี้มีโอกาสหายขาดได้มากถึง 95% และผลข้างเคียงพบได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการทานยา
  3. และการรักษาสุดท้าย คือ รักษาด้วยเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ ในกรณีนี้มักใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะการเต้นของหัวใจผิดจังหวะแบบรุนแรงที่ใช้การรักษาด้วยการจี้ไฟฟ้าไม่ได้ โดยการฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจไว้ที่หน้าอกซ้ายหรือขวา เครื่องกระตุกหัวใจนี้จะคอยบันทึกการเต้นของหัวใจ ถ้ามีการเต้นผิดจังหวะแบบรุนแรง เครื่องจะช็อตไฟฟ้าให้หัวใจกลับมาเต้นในจังหวะปกติ การรักษาด้วยวิธีนี้จะทำเพียงไม่กี่รายเท่านั้นหรือในกรณีจำเป็น เช่น ผู้ป่วยมีเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจนั้น จะแตกต่างจากเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจปกติ เนื่องจากสามารถช๊อตไฟฟ้าหัวใจได้

ภาวะหัวใจเต้นช้าผิดจังหวะ สามารถรักษาได้อย่างไร?

ภาวะหัวใจเต้นช้าผิดจังหวะ สามารถรักษาได้ด้วยเพียงวิธีเดียวเท่านั้น คือ การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจถาวร การรับประทานยาหรือจี้ไฟฟ้าไม่สามารถทำให้หัวใจกลับมาเต้นปกติได้ แม้ว่าการฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจถาวรจะทำให้ใคร ๆ หลายคนเกิดความกลัวว่าจะเจ็บหรือไม่ จะส่งผลเสียต่อร่างกายหรือไม่ เมื่อเราต้องเอาเครื่องอะไรสักอย่างหนึ่งเข้าไปฝังอยู่ในร่างกายตลอดเวลา นพ.อภิชัย กล่าวว่า การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจไม่น่ากลัว ไม่ต้องใช้ยาสลบเพียงแค่ฉีดยาชาและผ่าเอาอุปกรณ์ลงตรงที่ต้องการจะฝังเครื่องกระตุ้นไว้ หลังจากการฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจจะช่วยให้ผู้ป่วยหายจากภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ แต่ยังมีข้อระวังอยู่บ้างหลังจากที่ฝังเครื่องเข้าไปแล้ว คือ

  1. ในช่วงแรกคือ 1 - 2 เดือนแรก จะต้องไม่ใช้แขนข้างที่ฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้สายนำสัญญาณเลื่อนหลุดได้
  2. หมั่นเข้ามาตรวจเช็คอาการและอุปกรณ์เป็นระยะ ๆ ตามที่แพทย์กำหนด
  3. เครื่องกระตุ้นไฟฟ้ามีลักษณะเป็นโลหะ ดังนั้น เมื่อไปเข้าเครื่องสแกนโลหะตามสถานที่ต่าง ๆ เครื่องสแกนก็จะดัง หรือแม้กระทั่งการทำ MRI ถ้ารู้ตัวว่าจะต้องทำการตรวจที่ผ่านเครื่อง MRI จะต้องมีการปรับจูนเครื่องก่อน เพราะเครื่อง MRI สามารถรบกวนการทำงานของเครื่องกระตุ้นหัวใจได้

นายแพทย์อภิชัย โภคาวัฒนา
นายแพทย์อภิชัย โภคาวัฒนา
แพทย์อายุรกรรมโรคหัวใจและหลอดเลือด
เฉพาะทางโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ



สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์โรคหัวใจ
ชั้น 1 โรงพยาบาลสุขุมวิท
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 20.00 น.
โทร. 02-391-0011 ต่อ 145, 155