การดูแลรักษา โรคตาเหล่-ตาเขในเด็ก

ตาเหล่ตาเข

ตาเหล่ หรือ ตาเข (Strabismus, Squint) เป็นภาวะหรือโรคที่พบได้ในเด็กและผู้ใหญ่ได้ โดยอาจพบได้ทุกช่วงอายุนั่นเอง โดยผู้ป่วยจะมีอาการที่ตาไม่อยู่ในแนวตรงตามธรรมชาติ สืบเนื่องมาจากการมีภาวะผิดปกติที่ทำให้การเคลื่อนไหวของลูกตาทั้ง 2 ข้างขาดการประสานงานกันที่ดี

หากจะกล่าวถึงโรคตาเหล่หรือตาเข สิ่งที่ผู้ปกครองควรทำความรู้จักนั่น ก็คือ

  • ตาเหล่ปรากฏ คือ ภาวะที่ตาเหล่ปรากฏให้เห็น
  • ตาเหล่ซ่อนเร้น คือ ภาวะตาเหล่ที่ไม่เคยปรากฏให้ใครเห็น แต่สามารถตรวจพบได้โดยจักษุแพทย์ ซึ่งภาวะนี้ไม่อันตรายแต่ต้องได้รับการตรวจหาสาเหตุและติดตามการรักษา
  • ภาวะตาเหล่เทียม คือ ตาไม่ได้มีภาวะตาเหล่จริงแต่ดูเสมือนดวงตามีภาวะตาเหล่ เมื่อทำการตรวจแล้วจะพบว่าเป็นคนตาตรง ซึ่งภาวะตาเหล่เทียมจะพบได้บ่อยในเด็กที่มีเนื้อผิวหนังบริเวณระหว่างดวงตาทั้ง 2 ข้างกว้างผิดปกติ อย่าให้เสมือนหลอกตาว่าดวงตามาชิดบริเวณหัวตา โดยในกลุ่มนี้ถ้าตรวจก็จะไม่พบความปกติ อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยโรคตาเหล่หรือตาเขในเด็กนั้นจะทำได้เมื่อเด็กมีการจับจ้องวัตถุดีพอคือ อายุ 3 เดือนเป็นต้นไป

โรคตาเข-ตาเหล่ มีการแบ่งชนิดของโรคอย่างไร?

การแบ่งชนิดของโรคตาเข-ตาเหล่ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ในการแบ่งโดยสามารถแบ่งออกให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ดังนี้

  1. ตาเหล่หรือตาเขเข้า คือ ตาดำข้างที่เขจะเบนเข้าด้านในหรือมุดเข้าหาหัวตา ตาเขชนิดนี้จะพบได้บ่อยทุกช่วงอายุ และอาจพบได้ในเด็กแรกเกิดอายุตั้งแต่อายุ 3 เดือนขึ้นไป จึงอาจเรียกว่าเป็นตาเขเข้าด้านในชนิดแรกเกิด
  2. ตาเหล่หรือตาเขออก คือ ตาดำข้างที่เขจะเบนหรือเฉียงออกด้านนอก (หางตา) เป็นชนิดที่พบได้บ่อย อาจพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ชนิดที่พบบ่อยจะเป็นชนิดที่เป็น ๆ หาย ๆ (Intermittent Exotropia) ซึ่งตาเหล่หรือตาเขชนิดนี้อาจจะเกิดร่วมกับภาวะสายตาสั้น หรือตาข้างที่เขมองไม่ชัด มีความผิดปกติโครงสร้างตา เป็นต้น
  3. ภาวะตาเหล่หรือตาเขที่เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทคู่ที่มาเลี้ยงดวงตาคู่ที่ 3 4 และ 6
  4. ตาเหล่หรือตาเขในกลุ่มที่มีลักษณะเฉพาะ ที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของกล้ามเนื้อตาบางมัดที่ทำงานมากเกินไปหรือน้อยเกินไป
  5. ตาเหล่หรือตาเขในแนวบนล่าง
  6. ตาเหล่หรือตาเขที่เกิดจากการกลอกตาผิดปกติ
  7. ตาเหล่หรือตาเขที่เกิดจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคไทรอยด์ เป็นต้น

ลักษณะอาการของโรคตาเข-ตาเหล่

อาการโดยรวมของโรคตาเข-ตาเหล่ อาจจะสังเกตได้จากตำแหน่งดวงตาไม่ได้อยู่ตรงกลาง และผู้ป่วยอาจจะมีปัญหาการมองเห็นของภาพเป็นภาพซ้อน โดยที่ภาพ 1 ภาพปรากฏออกเป็น 2 ภาพ หรือบางคนอาจจะเห็นเป็นลักษณะของภาพซ้อนโดยที่ภาพ 2 ภาพมาทับซ้อนที่ตำแหน่งเดียวกัน ซึ่งผู้ที่มีอาการดังกล่าว อาจลดการเกิดภาพซ้อนของตัวเองด้วยการเอียงหัวหรือเอียงใบหน้า เช่น อาจจะมีท่าทางการมองที่ผิดปกติ คือชอบเอียงศีรษะ เอียงหน้า หรือ แม้กระทั่งก้มหน้าเพื่อดูสิ่งต่าง ๆ

ทั้งนี้ การตรวจวินิจฉัยโรคตาเขหรือตาเหล่ต้องได้รับการยืนยันจากจักษุแพทย์ที่มีความชำนาญ เบื้องต้นแพทย์จะมีการใช้อุปกรณ์ในการตรวจ ซึ่งเรียกว่า ปริซึม (Prism) ในการตรวจหาขนาดของมุมเหล่ นอกจากนี้จะมีการตรวจประเมินการกลอกตาของเด็กและตรวจประเมินการมองเห็น หากสงสัยหรือพบความผิดปกติ ก็จำเป็นต้องได้รับการตรวจตาอย่างละเอียดเพื่อดูว่าโครงสร้างของดวงตามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น เป็นต้อกระจก หรือมีเนื้องอก Retinoblastoma ในดวงตาหรือไม่ ทั้งนี้ อาจจำเป็นต้องตรวจความสามารถด้านอื่น ๆ ของดวงตา เช่น ความสามารถในการมองภาพ 3 มิติ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังต้องได้รับการประเมินค่าสายตาว่ามีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขด้วยการใส่แว่นตาหรือไม่ ในกลุ่มโรคบางโรค การวินิจฉัยจำเป็นจะต้องดูร่วมกับกุมารแพทย์ระบบประสาทเพื่อหาสาเหตุในการรักษาร่วมกัน

แนวทางการรักษา

แนวทางการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของตาเหล่หรือตาเขและสาเหตุของการเกิดโรคเป็นหลัก ถ้าโรคตาเหล่หรือตาเขเกิดจากสาเหตุที่สามารถรักษาให้หายได้ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis) ไทรอยด์ เส้นประสาทตาขาดเลือด ก็จะทำการรักษาร่วมกับทีมกุมารแพทย์ แต่ถ้าความผิดปกติของโรคตาเหล่-ตาเข เกิดจากความผิดปกติของดวงตา เช่น เป็นต้อกระจกก็ต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข หรือหากมีภาวะสายตาผิดปกติ เช่น มีภาวะสายตายาวและทำให้เกิดตาเขหรือตาเหล่เข้า ก็จำเป็นต้องได้รับการใส่แว่นสายตายาว เป็นต้น

นอกจากนี้ หากเป็นโรคกล้ามเนื้อตาก็จะมี ‘การปิดตา’ เพื่อกระตุ้นการทำงานของดวงตา และช่วยลดอาการปรากฏของอาการตาเขหรือตาเหล่บางชนิด เช่น ตาเขหรือตาเหล่ที่เป็น ๆ หาย ๆ รวมถึงการปิดตาเพื่อรักษาภาวะอาการตาขี้เกียจร่วมด้วย

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะการเห็นภาพซ้อน การใส่แว่นปริซึมก็จะเป็นตัวช่วยในการลดภาพซ้อนในกรณีที่ตาเหล่มีขนาดมุมเหล่ไม่มากเกินไป สุดท้ายก็จะมีการผ่าตัดในกลุ่มที่ต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อขยับตำแหน่งของกล้ามเนื้อตา เป็นต้น

การที่ปล่อยให้เด็กมีภาวะตาเหล่จะทำให้มีปัญหาการมองเห็นเป็นภาพทับซ้อนกันหรือเป็นภาพซ้อน ในระยะยาวเด็กที่ไม่มีความสามารถในการสลับใช้ดวงตาได้ ก็จะทำให้ตาข้างที่เขเกิดการปรับตัวจากสมองโดยที่สมองจะทำการปิดภาพนั้นไปเพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนของภาพ (Suppression) อาจทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจ คือ ตาข้างนั้นจะสูญเสียการมองเห็น

นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญของภาวะตาขี้เกียจมักจะเกิดขึ้นกับเด็กที่มีอายุไม่เกิน 8 ปีแรก ในช่วงที่การมองเห็นกำลังพัฒนา การรักษาที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นก็จะสามารถแก้ไขได้เฉพาะความสวยงามของดวงตาเท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขเรื่องของการมองเห็นได้


“โดยส่วนใหญ่ หลายคนมีความเชื่อที่ผิดอยู่ว่าโรคตาเหล่หรือโรคตาเขเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษา ทำอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ปกครองมีความเชื่อว่าเมื่อเด็กโตอาการเหล่านี้จะหายไปเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความเชื่อที่ผิดมาก ในความเป็นจริงแล้วถ้ามีอาการผิดปกติควรรีบเข้ามาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่จะสายเกินไป
อย่างไรก็ตาม การป้องกันเบื้องต้น ผู้ปกครองควรป้องกันความเสี่ยงของการเกิดโรคตาเหล่หรือโรคตาเข ควรหลีกเลี่ยงการคลอดก่อนกำหนด ในระหว่างตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ระวังภาวะชักในเด็ก ทั้งนี้การป้องกันที่ดีที่สุดเมื่อเกิดความสงสัยว่าเด็กมี ตาเหล่หรือตาเข มีปัญหาเรื่องของการมองเห็นควรรีบเข้ามาตรวจหาสาเหตุและทำการประเมินโดยจักษุแพทย์เพื่อดูว่าเป็นตาเหล่ชนิดที่แก้ไขได้หรือไม่”


พญ.ภิยดา ยศเนืองนิตย์
พญ.ภิยดา ยศเนืองนิตย์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยาเด็กและตาเข



สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์ตา
ชั้น 6 โรงพยาบาลสุขุมวิท
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 20.00 น.
โทร. 02-391-0011 ต่อ 601, 602