เทคโนโลยีการรักษา โรคเบาหวานเข้าจอประสาทตา

เบาหวานขึ้นจอประสาทตา

เมื่อเทียบสัดส่วนต่อประชากรคนไทยพบว่า มีผู้ป่วยโรคเบาหวานอยู่ประมาณ 10-15% โดยมีแนวโนัมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มเกิดโรคในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยลง สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น อาหารฟาสต์ฟูดส์ อาหารที่มีแคลอรีสูง มีน้ำตาลสูง คาร์โบไฮเดรตสูง ทำให้สมดุลของการนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานกับส่วนที่เหลือค้างในกระแสเลือดผิดไปจากที่ควรจะเป็น ส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานขึ้น นอกจากนี้พันธุกรรมยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ คือเมื่อพ่อแม่ป่วยเป็นเบาหวาน ลูก ๆ ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคเบาหวานมากขึ้น เมื่อภาพรวมแนวโน้มอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานในประชากรสูงขึ้น ย่อมส่งผลให้อุบัติการณ์ของโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตาสูงขึ้นตามไปด้วย การรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายให้เหมาะสม ต้องอาศัยความร่วมออกกำลังกายให้เหมาะสม ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างอายุรแพทย์ผู้รักษาโรคเบาหวานและจักษุแพทย์ประสานงานกัน เพื่อให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานทุกรายได้รับการตรวจจอประสาทตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้สามารถรับการวินิจฉัยโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตาได้ในระยะเริ่มแรก และให้การรักษาอย่างทันท่วงที

ความล้ำหน้าของนวัตกรรมเกี่ยวกับการตรวจรักษาโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตา ของ โรงพยาบาลสุขุมวิท

การตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตาด้วยวิธีมาตรฐาน คือ การตรวจจอประสาทตาด้วยวิธีขยายม่านตา ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันทั่วไป โดยพยาบาลจะหยอดยาขยายม่านตาให้แก่ผู้ป่วยทุก 5 นาที แล้วรอเวลาให้ม่านตาของผู้ป่วยค่อย ๆ ขยายออกจนเต็มที่ โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อจักษุแพทย์ส่องกล้องตรวจจอประสาทตาเสร็จแล้วม่านตาจะยังคงอยู่ในท่าขยายต่อไป ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการตามัวจากฤทธิ์ของยาขยายม่านตาต่อไปหลังการตรวจราว 4-6 ชั่วโมง นอกจากนี้ยาขยายม่านตาอาจส่งผลกระทบต่อโรคประจำตัวของผู้ป่วยเช่นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงได้ อย่างไรก็ตามวิธีการตรวจดังกล่าวยังคงให้ผลการตรวจที่ละเอียดที่สุดและยังคงเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

โรงพยาบาลสุขุมวิท มีเครื่องมือที่ช่วยให้การตรวจจอประสาทตาและรักษาเบาหวานเข้าจอประสาทตามีความสะดวกปลอดภัยและมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ดังนี้

  1. กล้องถ่ายภาพจอประสาทตาโดยไม่ต้องขยายม่านตา (Non-mydriatic Fundus Camera) ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจจอประสาทตาได้ในรายที่ไม่สะดวกที่จะรับการขยายม่านตาหรือมีข้อห้ามบางประการเช่นความดันโลหิตสูงมาก โรคหัวใจ เป็นต้น แต่การตรวจจอประสาทตาด้วยวิธีขยายม่านตาก็ยังคงให้รายละเอียดที่สูงกว่า
  2. เครื่องสแกนจอประสาทตาด้วยแสงเลเซอร์ (Optical Coherence Tomography) เป็นอุปกรณ์ที่สามารถให้ภาพภาคตัดขวางของเนื้อจอประสาทตาที่มีความละเอียดสูงมาก คล้ายการทำ MRI scan สมอง เป็นวิธีการที่มีความปลอดภัยสูงมากเนื่องจากไม่ต้องฉีดสารทึบรังสีใด ๆ เข้าสู่ร่างกาย และเลเซอร์ที่ใช้ก็มีความปลอดภัยต่อตาของมนุษย์ ช่วยให้เห็นรายละเอียดภายในชั้นเนื้อจอประสาทตาว่ามีการบวมขนาดเล็ก มีของเหลวรั่วอยู่ได้จอประสาทตา หรือมีพังผืดขนาดบางมาก ๆ เกาะอยู่บนผิวจอประสากตาหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่อาจตรวจไม่พบจากการส่องกล้องตรวจปกติ ส่งผลให้ทำการวินิจฉัยโรคและทำการรักษาได้ในระยะเริ่มแรกมากขึ้น/li>
  3. กล้องถ่ายภาพจอประสากตาชนิดใช้สารทึบแสง (Fundus Fluorescein Angiography) เป็นกล้องถ่ายภาพจอประสากตาชนิดพิเศษที่สามารถตรวจพบการรั่วของของเหลวปริมาณน้อยมากๆจากเส้นเลือดฝอยในเนื้อจอประสาทตาได้ ทำให้สามารถระบุตำแหน่งรอยรั่วเพื่อทำการรักษาด้วยเลเซอร์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ช่วยให้การบวมของจอประสาทตาลดลงและการมองเห็นฟื้นตัวดีขึ้น
  4. เครื่องเลเซอร์จอประสาทตา (Argon Laser-532) เป็นอุปกรณ์กำเนิดแสงเลเชอร์เพื่อใช้ในการรักษาเบาหวานเข้าจอประสาทตาในระยะต่าง ๆ เพื่อให้โรดสงบลงและฟื้นการมองเห็นกลับคืนมา อุปกรณ์ดังกล่าวนี้สามารถใช้ในแผนกตาผู้ป่วยนอกและสามารถเคลื่อนย้ายไปใช้ในการทำผ่าตัดจอประสาทตาในห้องผ่าตัดได้ด้วย
  5. เครื่องผ่าตัดวุ้นตาและจอประสาทตา (vitrectomy Machine) เป็นเครื่องมือรุ่นใหม่ล่าสุดในปัจจุบัน ใช้เพื่อทำผ่าตัดลงเลือดออกจากช่องวุ้นตา และลอกพังผืดออกจากผิวจอประสาทตา หรือซ่อมแชมจอประสาทตาที่ขาดและลอกตัวจากเบาหวานได้

ระยะของเบาหวานเข้าจอประสาทตา

โดยทั่วไปถ้าควบคุมเบาหวานได้ดี ระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting blood sugar) สูงไม่เกิน 140 mg/dl ในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ส่วนมากผู้ป่วยจะยังปลอดภัยจากเบาหวานเข้าจอประสาทตา ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมักควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีและเป็นเบาหวานมานานเกินกว่า 5 ปี สามารถแบ่งโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตาได้เป็น 2 ระยะคือ ระยะเริ่มแรก (Non-proliferative diabetic retinopathy, NPDR) และระยะลุกลาม (Proliferative diabetic retinopathy, PDR) ระยะเริ่มแรกจะมีลักษณะพบจุดเลือดออก และมีโปรตีนรั่วบนเนื้อจอประสาทตา อาจพบศูนย์กลางจอประสาทตาบวมร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งจะเป็นสาเหตุของอาการตามัวในระยะนี้ ระยะลุกลามจะมีลักษณะพบเส้นเลือดฝอยผิดปกติงอกใหม่ปรากฏบนเนื้อจอประสาทตา อาจมีเลือดออกในช่องวุ้นตา จอประสาทตาลอกจากพังผืดดึงรั้งบนจอประสาทตา อาจพบศูนย์กลางจอประสาทตาและขั้วประสาทตาบวมร่วมด้วยก็ได้ ระยะนี้เป็นระยะที่สำคัญมาก หากรักษาไม่ทันท่วงทีจะส่งผลให้ตาบอดได้

การตรวจคัดกรองโรค

ผู้ป่วยเบาหวานทุกรายจำเป็นต้องได้รับการตรวจคัดกรองว่ามีเบาหวานเข้าจอประสากตาหรือไม่โดยเร็วที่สุด เนื่องจากในขณะที่อายุรแพทย์วินิจฉัยโรคเบาหวานในครั้งแรก ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยเพิ่งเริ่มป่วยเป็นเบาหวาน พบว่าผู้ป่วยหลายรายได้รับการตรวจพบเบาหวานเข้าจอประสาทตาในระยะลุกลามแล้วในขณะที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคเบาหวานในครั้งแรก ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโรค ผู้ป่วยเบาหวานทุกรายต้องได้รับการตรวจคัดกรองเบาหวานเข้าจอประสาทตาโดย

  • หากตรวจแล้วผลเป็นปกติ ควรได้รับการตรวจซ้ำที่ 1 ปื
  • หากพบว่าเป็นเบาหวานระยะแรก ควรได้รับการตรวจซ้ำที่ 3 ถึง 6 เดือน
  • หากพบว่าเป็นเบาหวานระยะลุกลามหรือ พบศูนย์กลางจอประสาทตาบวม ต้องได้รับการรักษาในทันที

เบาหวานขึ้นจอประสาทตา รักษาได้อย่างไรบ้าง?

  1. เบาหวานเข้าจอประสาทตาระยะแรก กรณีไม่มีศูนย์กลางจอประสาทตาบวม ใช้วิธีนัดตรวจติดตามอาการทุก 3 ถึง 6 เดือนกรณีมีศูนย์กลางจอประสาทตาบวม มีทางเลือกในการรักษาโดยการใช้เลเซอร์หรือการฉีดยาเข้าสู่ช่องวุ้นตา
  2. เบาหวานเข้าจอประสาทตาระยะลุกลาม มีทางเลือกในการรักษา 3 ทางคือ
    • การใช้เลเซอร์
    • การฉีดยาเข้าสู่ช่องวุ้นตา
    • และการผ่าตัดจอประสาทตา
    โดยจักษุแพทย์สาขาจอประสาทตาจะเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย

การรักษาทุกวิธีข้างต้นรวมถึงการผ่าตัดรักษาจอประสาทตา กว่า 90% เป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ภายใต้ยาชาเฉพาะที่ ระยะเวลาในการทำผ่าตัดรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความยากง่ายของโรค โดยทั่วไปใช้เวลาในการผ่าตัดประมา 1 ชั่วโมง ซึ่งการรักษาแบบผู้ป่วยนอกและไม่ต้องดมยาสลบนี้ส่งผลดีต่อผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหลายๆโรค ช่วยให้มีความปลอดภัยสูงขึ้นและประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษา

การปฏิบัติตัวหลังเข้ารับการรักษา

  • กรณีรับการรักษาด้วยเลเชอร์ ผู้ป่วยสามารถเดินทางกลับบ้านได้ทันที ใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่มีข้อห้ามใด ๆ
  • กรณีรับการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าสู่ช่องวุ้นตา ห้ามน้ำเข้าตาเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ส่วนการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ระยะพักฟื้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของการผ่าตัดโดยทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 2-4 สัปดาห์
โรคเบาหวานเข้าจอประสาทตาเป็นภัยเงียบที่มากับโรคเบาหวาน ในระยะเริ่มแรกอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลย อย่าได้นิ่งนอนใจว่าน่าจะไม่มีอะไรผิดปกติ การเพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นเบาหวานอาจไม่ได้หมายความว่าท่านเพิ่งป่วยเป็นเบาหวานเสมอไป ท่านอาจป่วยเป็นเบาหวานมาระยะหนึ่งแล้วโดยไม่แสดงอาการก็ได้ ซึ่งหมายความว่าเบาหวานอาจเข้าสู่จอประสาทตาของท่านเรียบร้อยแล้ว

เมื่อใดที่ทราบว่าป่วยเป็นโรคเบาหวานจำเป็นต้องได้รับการตรวจจอประสาทตาโดยเร็วที่สุด ท่านจะมีความเสี่ยงสูงในกรณีที่ท่านมีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคเบาหวาน, มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน (Body mass index สูงกว่า 25), อยู่ในภาวะตั้งครรภ์และมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินค่าปกติ การมีความดันโลหิตสูงและระดับไขมันในเลือดสูงจะเป็นปัจจัยให้การดำเนินโรคแย่ลงเร็วขึ้น การตรวจคัดกรองและพบความผิดปกติในระยะเริ่มแรกจะช่วยให้ท่านสามารถรักษาการมองเห็นและดวงตาของท่านเอาไว้ได้ จึงควรขอรับคำปรึกษาและรับการตรวจจอประสากตาจากจักษุแพทย์ที่ท่านไว้วางใจเพื่อดวงตาที่ท่านรักจะยังคงการมองเห็นที่ชัดเจนตลอดไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์ตา
ชั้น 1 โรงพยาบาลสุขุมวิท
เปิดบริการทุกวัน 08.00 - 20.00 น.
โทร. 02-391-0011 ต่อ 601, 602