ปวดศีรษะไมเกรน

ปวดหัว, ปวดหัวไมเกรน, ปวดหัวเรื้อรัง

อาการปวดศีรษะไมเกรน เป็นอาการปวดศีรษะชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2-3 เท่า มักเริ่มมีอาการครั้งแรกตอนช่วงวัยรุ่นถึงวัยกลางคน ปวดศีรษะไมเกรนสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

  1. ไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือน (Migraine without aura) พบมากที่สุดในกลุ่มที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน
  2. ไมเกรนที่มีอาการเตือน (Migraine with aura) อาการเตือนที่พบบ่อย ได้แก่
    • การมองเห็นผิดปกติ โดยจะเห็นแสงเป็นเส้นซิกแซกคล้ายฟันเลื่อย อาจจะมีหรือไม่มีสี หรือเห็นภาพมืดไปเป็นบางส่วน หรือมองเห็นภาพไม่ชัด หลับตาแล้วยังเห็นได้อยู่ หรือเห็นภาพบิดเบี้ยว ซึ่งอาการผิดปกติของการมองเห็นจะเคลื่อนที่อย่างช้า ๆ
    • อาการเตือนอื่นๆ เช่น
      • อาการชาที่มือ-แขน หรือชารอบปาก, ไม่สามารถพูดได้ชั่วคราวหรือนึกชื่อไม่ออก
      • หรือมีอาการอ่อนแรงของแขน-ขาซีกหนึ่งของร่างกาย เป็นต้น

สาเหตุของปวดศีรษะไมเกรน

อาการปวดศีรษะไมเกรน เกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าที่ผิวสมอง ทำให้สมองเกิดการกระตุ้นได้ง่ายและไวกว่าคนปกติ หลังจากสมองถูกกระตุ้นแล้ว จะเกิดกระแสไฟฟ้าวิ่งไปตามผิวของสมองอย่างช้าๆ (ทำเกิดอาการการเตือนขึ้นมา) ยังไปกระตุ้นเส้นประสาทสมอง ทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทบางชนิด มีผลทำให้หลอดเลือดสมองเกิดการขยายตัวและเกิดการอักเสบขึ้น เป็นผลทำให้มีอาการปวดศีรษะในที่สุด และหากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจทำให้อาการปวดเป็นมากขึ้นได้

อาการปวดศีรษะไมเกรน

ลักษณะอาการปวดศีรษะที่จำเพาะกับปวดศีรษะไมเกรน

  • มีอาการปวดศีรษะข้างเดียว อาจย้ายข้างได้ แต่มักเป็นทีละข้าง
  • ปวดเป็นแบบตุ้บ ๆ
  • ความรุนแรงของอาการปวดจะรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก

อาการปวดศีรษะไมเกรน

  • ความเครียด
  • การอดนอน
  • การนอนและตื่นที่ไม่เป็นเวลา
  • ช่วงที่เป็นประจำเดือน
  • กลิ่นหรือควัน, การเปลี่ยนแปลงของอากาศ หรือ ความร้อน, แสงแดด
  • อาหารบางชนิด (อาหารหมักดอง, ชีส, ไวน์) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยควรสังเกตและพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น

การรักษาไมเกรนเรื้อรัง

โรคไมเกรนเรื้อรัง สามารถรักษาได้ด้วยหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น

  1. ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตดังนี้
    • สังเกตและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ
    • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  2. การรักษาด้วยยาแบบรับประทาน แบ่งได้ 2 ประเภท คือ
    • ระยะที่มีอาการปวดศีรษะเฉียบพลัน ใช้เฉพาะเวลามีอาการปวดศีรษะเท่านั้น และให้รับประทานยาหลังจากที่เริ่มมีอาการปวดศีรษะทันที จะได้ผลในการรักษาอาการปวดศีรษะที่ดี
    • ระยะที่ไม่ปวดศีรษะ (ยาป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน) ต้องรับประทานติดต่อกันทุกวันเพื่อลดความถี่และความรุนแรงของการปวดศีรษะ
  3. การรักษาทางเลือกอื่น ๆ
    • การฝังเข็ม
    • การกระตุ้นสมองคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
    • การฉีดโบทอกซ์



สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :
ศูนย์ระบบประสาทและสมอง
ชั้น 1B โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 225, 226, 227



ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล: