ดูแลดวงตาให้สดใส ป้องกันโรคต้อหิน

ดูแลดวงตาให้สดใส ป้องกันโรคต้อหิน

ในประเทศไทยคาดการว่าคนไทยเป็นโรคต้อหินประมาณ 1.7 – 2.4 ล้านคน โรคต้อหินเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอดชนิดถาวร (irreversible blindness) ที่พบบ่อยเป็นอันดับ 1 มักพบมากในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปแต่อาจพบได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยมีแนวโน้มพบเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ยิ่งอายุมากยิ่งพบมาก

โรคต้อหิน เป็นกลุ่มโรคที่เกิดความผิดปกติที่ขั้วประสาทตา (optic nerve) ที่มีแบบเฉพาะตัว โดยจำนวนเซลล์ประสาทตา (ganglion cell and retinal nerve fiber) ค่อยๆ ลดจำนวนลงและไม่สามารถสร้างทดแทนขึ้นใหม่ได้ ทำให้สูญเสียการมองเห็น มักมีภาวะความดันลูกตาสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ แต่ความดันตาอาจจะสูงหรือเป็นปกติก็ได้ โรคนี้จะมีการทำลายขั้วประสาทตาและเส้นประสาทตาอย่างค่อยเป็นค่อยไป การทำลายดังกล่าวมีผลทำให้ลานสายตาหรือความกว้างของการมองเห็นแคบลง ตามัวลง หากไม่ทำการรักษา หรือตรวจพบแล้ว แต่ทำการรักษาไม่ต่อเนื่อง ควบคุมโรคไม่ดี จะสูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

ความดันลูกตา (intraocular pressure) ที่ผิดปกติเกิดจากการเสียสมดุลของการระบายน้ำหล่อเลี้ยงภายในตา (aqueous humor) ซึ่งเป็นของเหลวใสภายในช่องด้านหน้าของลูกตา ในคนไทยค่าเฉลี่ยความดันลูกตาอยู่ที่ประมาณ 13-14 มิลลิเมตรปรอท ดังนั้นหากมีค่าความดันตา 20 มิลลิเมตรปรอท หรือสูงกว่าก็ถือว่าผิดปกติมาก
 

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคต้อหิน

1..ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ หรือเป็นโรคที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงขั้วประสาทตาลดลง เช่น เบาหวาน

โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง

2..ผู้ที่มีสายตาสั้นมากหรือยาวมาก ผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดดวงตาหรือเคยมีอาการตาอักเสบ

3..ผู้มีประวัติการกระแทกหรือเกิดอุบัติเหตุบริเวณดวงตา

4..ผู้ที่ใช้ยากิน หยอดตา พ่นยา ทายาด้วยยาสเตียรอยด์ (steroid)

5..มีประวัติเป็นโรคปวดหัวไมเกรน หรือมีภาวะปวดปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า อย่างรุนแรงเวลาโดยความเย็น

6..ภาวะเครียดหรือการใช้สายตาอย่างมากติดต่อเป็นเวลานาน อาจกระตุ้นให้เป็นต้อหินบางชนิดได้

อาชีพหรือกิจกรรมบางประเภท ที่เพิ่มความดันบริเวณคอและใบหน้าอาจทำให้ความดันตาสูงขึ้น

 

ประเภทของโรคต้อหิน

ต้อหินมุมเปิด (open angle glaucoma) ต้อหินมุมปิด (angle closure หรือ closed-angle glaucoma) และต้อหินที่พบในเด็ก (congenital หรือ developmental glaucoma) หรืออาจแบ่งตามสาเหตุ ต้อหินชนิดเป็นเองที่เรียกว่าต้อหินปฐมภูมิ (primary glaucoma) หรือต้อหินที่เกิดจากโรคอื่นที่เรียกว่าต้อหินทุติยภูมิ (secondary glaucoma) แต่ถ้าจะแบ่งตามอาการแสดงที่มาพบแพทย์ ก็อาจจะแบ่งเป็นต้อหินชนิดเรื้อรังและต้อหินชนิดเฉียบพลัน

ต้อหินปฐมภูมิ ได้แก่ ต้อหินชนิดมุมเปิด (Primary Open-Angle Glaucoma, POAG) เป็นต้อหินที่พบได้บ่อยกว่าต้อหินประเภทอื่น สำหรับคนไทยพบต้อหินชนิดมุมปิด (Primary Angle-Closure Glaucoma) ในสถิติที่สูงมากกว่าชาวผิวขาวหรือพวกฝรั่ง ส่วนใหญ่เป็นชนิดโรคต้อหินแบบเรื้อรังซึ่งไม่มีอาการ ส่วนน้อยจะเป็นต้อหินเฉียบพลันที่อาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดตา อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย และพบในผู้หญิงเอเชีย วัยกลางคนหรืออายุมากอายุมาก ส่วนต้อหินแต่กำเนิด (Congenital Glaucoma) มักพบในเด็กแรกคลอด-3 ปี เกิดจากพันธุกรรมหรือสาเหตุอื่นๆ

อาการของโรคต้อหินแต่ละประเภท

ผู้ป่วยโรคต้อหินส่วนใหญ่ไม่มีอาการในระยะแรก โดยเฉพาะต้อหินชนิดเรื้อรังที่พบบ่อยมักจะไม่มีอาการผิดปกติ ไม่ปวดตา การสูญเสียของประสาทตาเกิดขึ้น อย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง เพราะเป็นการสูญเสียลานสายตาที่จะเกิดที่บริเวณรอบนอกก่อนและจุดบอดเกิดขึ้นในตาข้างหนึ่งจะถูกชดเชยด้วยจุดที่มองเห็นของตาอีกข้างหนึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัว เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นผู้ป่วยจะมีอาการเดินชนขอบประตู ชนเสา ไม่มั่นใจขณะเดินขึ้นลงบันได เพราะมองไม่เห็นด้านข้าง จนกระทั่งมีการสูญเสียลานสายตาในส่วนตรงกลางซึ่งกระทบต่อการอ่านหนังสือ ทีวีและมือถือ จนผู้ป่วยสังเกตความผิดปกติได้ ในที่สุดคือสูญเสียทั้งหมดของลานสายตาหรือภาวะตาบอดนั่นเอง การมีอาการร่วมอย่างอื่นเช่นตาแดงหรือปวดตาพบได้ไม่บ่อยในต้อหินประเภทเรื้อรัง นับเป็นภัยเงียบหรือภัยมืดที่คุกคามอย่างไม่รู้ตัว

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นต้อหินชนิดเฉียบพลัน จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 1 – 2 วัน มีอาการปวดตาหรือปวดศีรษะรุนแรง ตาแดง ตามัว อาจมองเห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ อาจมีคลื่นไส้อาเจียน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วจะทำให้เชลล์ประสาทตาเสีย และสูญเสียการมองเห็น โดยไม่สามารถรักษาให้กลับมาดีเหมือนเดิม บางครั้งมีการตายของกล้ามเนื้อม่านตาทำให้ไม่สามารถควบคุมแสงได้

รศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ กล่าวว่า “การตรวจวินิจฉัยเพื่อเฝ้าระวังโรคต้อหินมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อหิน เพราะโรคนี้ไม่มีสัญญาณเตือน ปัจจุบันพบโรคต้อหินในคนที่มีอายุน้อยลงอาจบ่งบอกถึงปัจจัยเสียงที่เปลี่ยนไปของวิธีดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบัน สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตา แต่ถ้าหากเป็นคนทั่วไปแนะนำให้ตรวจช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งการตรวจต้อหินในปัจจุบันสามารถทราบผลได้ทันที”

แพทย์หญิงณัฐธิดา ชาติบัญชาชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “การป้องกันทางที่ดีที่สุด คือการตรวจสุขภาพตาประจำปี เมื่ออายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไปหรือถ้ามีความเสี่ยง กรรมพันธุ์ในครอบครัวเป็นต้อหิน, สายตาสั้นหรือยาวผิดปกติมาก , เคยมีอุบัติเหตุ / ผ่าตัดทางตา ใช้ยาสเตอรอยด์เป็นเวลานาน, มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดัน ไขมัน ที่มีผลต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาทตาก็ควรมีตรวจด้วย เพราะวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือมาตรวจและได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ เนื่องจากการรักษาตั้งแต่ยังเป็นไม่มากได้ จะให้ผลดีกว่าเพราะถ้าเส้นประสาทตาเสียหายจากต้อหินแล้วจะไม่สามารถรักษาให้กลับมาได้ รักษาอย่างทันท่วงที เพื่อให้อาการของโรคไม่รุนแรงจนถึงขั้นตาบอดและคงการมองเห็นให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผู้ป่วยควรมาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง ไม่ขาดยาที่ได้รับ เพื่อลดความเสี่ยงจากอาการรุนแรงจากโรคต้อหิน”


ขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยาและต้อหิน
โรงพยาบาลสุขุมวิท


ขอบคุณข้อมูลจาก : แพทย์หญิงณัฐธิดา ชาติบัญชาชัย
แพทย์ผู้ชำนาญการจักษุวิทยาและต้อหิน
โรงพยาบาลสุขุมวิท


รศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์

รศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยาและต้อหิน


พญ. ณัฐธิดา ชาติบัญชาชัย

พญ. ณัฐธิดา ชาติบัญชาชัย
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยาและต้อหิน

 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์ตา
ชั้น 1 โรงพยาบาลสุขุมวิท
เปิดบริการทุกวัน 08.00 - 20.00 น.
โทร. 02-391-0011 ต่อ 601, 602

ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล: