ปกป้องลูกน้อยจากการติดเชื้อ นิวโมคอคคัส (Pneumococcal disease)

โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสคืออะไร ?

โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส เป็นความเจ็บป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า "สเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี" เชื้อนี้ก่อให้เกิดโรคได้ในทุกกลุ่มอายุ และพบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ตัวอย่างโรคที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส เช่น การติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด และหูน้ำหนวก เป็นต้น

โรคที่เกิดจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัส มีอาการและอันตรายอย่างไร ?

เชื้อนิวโมคอคคัสทำให้เกิดโรคที่รุนแรงได้ในอวัยวะหลายระบบ ที่พบได้บ่อย ได้แก่ การติดเชื้อในระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ในเด็กทารกจะวินิจฉัยยาก อาจมีอาการงอแง ซึม ไม่กินนม และชักได้ ถ้ารักษาไม่ทันท่วงทีอาจเสียชีวิต หรือเกิดความพิการ เช่น เป็นโรคลมชัก หูหนวก ปัญญาอ่อน การติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีไข้สูง ร้องกวน งอแง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ช็อก เสียชีวิต นอกจากนี้เชื้ออาจจะกระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ เช่น เยื่อหุ้มสมอง ปอด กระดูก และข้อ เป็นต้น การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หูน้ำหนวก เด็กจะมีอาการไข้สูง บ่นปวดหู งอแง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง การติดเชื้ออาจลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง หรือสมองได้ และสามารถเกิดหูน้ำหนวกเรื้อรัง แก้วหูทะลุ และการได้ยินบกพร่อง ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กด้วย การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น ปวดอักเสบ เด็กจะมีอาการไข้ ไอ หายใจเร็ว หอบ ซึ่งอาจรุนแรง ถ้าต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตได้ถ้าได้รับการรักษาล่าช้า จะทราบได้อย่างไรว่าลูกติดเชื้อโรคนิวโมคอคคัส

ผู้ปกครองควรสังเกตว่าเด็กมีอาการดังกล่าวมาแล้วข้างต้นหรือไม่ ถ้ามีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอีกครั้ง โดยแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจมีการส่งเลือดหรือสิ่งคัดหลั่งต่างๆ เพื่อตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการอีกครั้ง

เด็กกลุ่มไหนมีความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ชนิดแพร่กระจาย

มีการศึกษาว่ากลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงสูงในการรับเชื้อ นิวโดมคอคคัส และป่วยเป็นโรคที่รุนแรง ได้แก่
เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
เด็กที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกลางวัน
เด็กที่ได้รับยาปฏิชีวนะมาก่อน
เด็กที่เคยมีประวัติติดเชื้อในหู
เด็กที่ไม่มีม้าม หรือม้ามทำหน้าที่บกพร่อง
เด็กที่มีน้ำในเยื่อบุช่องท้อง
และเด็กที่มีภูมิต้านทานบกพร่อง หรือเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ

เด็กๆ ได้รับเชื้อนิวโมคอคคัสมาอย่างไร?

ในผู้ใหญ่ และเด็กที่แข็งแรงดี สามารถตรวจพบเชื้อนิวโมคอคคัสนี้ในโพรงจมูก และลำคอได้ โดยอาจไม่มีอาการใดๆ (เป็นพาหะ) หรือมีอาการหวัดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเด็กที่ป่วยเป็นโรค หรือเป็นพาหะของโรค ไอ จาม สู่คนอื่นๆ สามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้ โดยพบว่าเด็กเล็กมีโอกาสรับเชื้อ และเป็นพาหะของเชื้อในจมูกได้นานกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากร่างกายยังไม่มีภูมิต้านทานโรค ทำให้กำจัดเชื้อได้ช้า และแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้นาน

เราสามารถรักษาโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสได้อย่างไร ?

แพทย์สามารถรักษาโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสได้โดยการให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งมักได้ผลดีถ้าเชื้อไม่ดื้อยา และมารับการรักษาในช่วงแรกๆ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีเชื้อนิวโมคอคคัสบางสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ ทำให้การรักษาทำได้ยากขึ้น ต้องให้ยาขนาดสูงเป็นเวลานาน เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นในการนอนโรงพยาบาล และการเดินทางไปพบแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่มารับการรักษาช้า อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้มากถึงเสียชีวิตได้ ดังนั้นการป้องกันโรคจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

การป้องกัน

สอนให้เด็กมีสุขอนามัยที่ดี ล้างมือบ่อยๆ และปิดปาก ปิดจมูกทุกครั้งที่ไอ จาม สอนให้เด็กหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับคนที่เป็นหวัดหรือป่วย ในเด็กเล็ก คุณแม่ควรให้กินนมแม่ เพื่อให้มีภูมิต้านทานจากแม่ส่งผ่านไปยังลูกทางน้ำนม อย่างไรก็ตามนมแม่จะป้องกันได้เฉพาะในช่วงที่เด็กกินนมแม่เท่านั้น การให้วัคซีนเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง ในการป้องกันการติดเชื้อโรคนิวโมคอคคัส ชนิดแพร่กระจาย

การให้วัคซีนป้องกันโรคนิวโมคอคคัส มีข้อดีอย่างไร ?

วัคซีนนี้สามารถช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดโรคนิวโมคอคคัส ชนิดแพร่กระจายในเด็กทารก และเด็กเล็กได้ นอกจากนี้ยังสามารถลดการแพร่เชื้อนิวโมคอคคัสไปยังเด็กคนอื่นๆ อีกทั้งสามารถช่วยลดอุบัติการณ์การดื้อยาปฏิชีวนะต่อเชื้อนิวโมคอคคัสลงได้อีกด้วย โดยในปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถใช้ป้องกันโรคได้ผลดี ที่สามารถเริ่มให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงของการเกิดโรคสูง เรียกว่า วัคซีนป้องกันการติดเชื้อโรคนิวโมคอคคัสคอนจูเกต

วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่เมื่อไร ?

เด็กสามารถรับวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ - 9 ปี สำหรับผู้ปกครองที่สนใจ ควรปรึกษาแพทย์หถึงข้อบ่งชี้ ข้อดีและผลข้างเคียงของการให้วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกตกับลูกน้อยของท่านได้ที่โรงพยาบาลสุขุมวิท

เรียบเรียงโดย : พญ.จริยา ศาสตรสาธิต
กุมารแพทย์ประจำศูนย์กุมารเวชกรรม