การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound)

การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจทางการแพทย์ที่อาศัยคลื่นความถี่สูงเกินความสามารถที่หูมนุษย์จะได้ยิน (สูงกว่า 20,000 รอบต่อวินาที) ส่งคลื่นเสียงผ่านหัวตรวจไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่ต้องการตรวจ เมื่อคลื่นเสียงกระทบกับเนื้อเยื่อร่างกายต่างชนิดกันจะหักเหสะท้อนกลับมาสู่หัวตรวจต่างกันไปตามแต่ชนิดของเนื้อเยื่อ จากนั้นเครื่องอัลตราซาวด์จะนำคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับนี้แปลงเป็นภาพ 2 มิติ ซึ่งเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องตามการเคลื่อนที่ของหัวตรวจในขณะนั้น และสามารถนำมาสร้างภาพเป็น 3 มิติ เหมื่อนการถ่ายรูป เช่น การดูทารกในครรภ์

วิธีการตรวจ

ผู้รับการตรวจจะไม่ได้รับความเจ็บปวดใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่นอนเฉยๆ แพทย์จะนำหัวตรวจมาแตะที่ผิวหนังบริเวณที่ต้องการตรวจ แล้วเลื่อนหัวตรวจไปมาเพื่อตรวจดูอวัยวะภายใน

ข้อบ่งชี้ในการตรวจ

  • การตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้อง
  • ตับ ตรวจดูก้อนเนื้องอกหรือการแพร่กระจายของมะเร็งจากอวัยวะอื่นๆ มายังตับ ตรวจดูขนาดของตับ ดูภาวะผิดปกติ เช่น ตับแข็ง ฯลฯ
  • ถุงน้ำดี ตรวจหานิ่วถุงน้ำดีอักเสบ มะเร็ง และเนื้องอก อื่นๆ ของถุงน้ำดี
  • ท่อน้ำดี ตรวจดูภาวะอุดตันจากนิ่ว หรือเนื้องอก มะเร็ง ภาวะตีบตัน หรือโป่งพอง ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด
  • ตับอ่อน ตรวจดูเนื้องอก มะเร็งภาวะตับอ่อนอักเสบ ตรวจหานิ่วในท่อตับอ่อน
  • ม้าม ดูขนาดของม้าม ตรวจดูภาวะฉีกขาดเลือดออกในรายที่ประสบอุบัติเหตุ
  • ไต ใช้ตรวจหานิ่วในเนื้อไต และท่อไต ตรวจหาเนื้องอกและซิสต์ของไต วัดขนาดไตในผู้ป่วยไตวาย ไตอักเสบความผิดปกติแต่กำเนิด
  • การตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะอุ้งเชิงกราน มดลูก ดูขนาดของมดลูก ต่อมลูกหมาก ตรวจหาเนื้องอกในมดลูกและรังไข่ และก้อนเนื้อในอุ้งเชิงกราน
  • การตรวจดูทารกในครรภ์ ได้แก่ ดูความเจริญเติบโต ตรวจอายุครรภ์ ตรวจหาตำแหน่ง และความสมบูรณ์ของรก ดูความผิดปกติของทารกในครรภ์ ดูเพศของทารก ฯลฯ
  • ตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะที่อยู่ตื้นอื่นๆ เช่น ต่อมธัยรอยด์ เต้านม
  • ตรวจดูความผิดปกติในสมองของเด็กทารก เช่น ภาวะน้ำในช่องโพรง เลือดคั่งในสมอง ฯลฯ
  • ตรวจดูการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง
  • ตรวจดูความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น ภาวะหลอดเลือดโป่งพอง ภาวะหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน เป็นต้น
  • ตรวจเพื่อเป็นแนวทาง และวางตำแหน่งเข็มในการเจาะดูดหรือตัดชิ้นเนื้อ

ข้อดีของการตรวจด้วยอัลตราซาวด์

  • ผู้ป่วยไม่เจ็บตัว และไม่เป็นอันตราย หรือภาวะแทรกซ้อนต่อผู้ป่วย รวมทั้งทารกในครรภ์
  • การเตรียมตัวและวิธีการตรวจไม่ยุ่งยาก
  • ราคาต่อหน่วยไม่สูง
  • การเตรียมตัวก่อนตรวจ

การตรวจอวัยวะในช่องท้อง

  • การตรวจอวัยวะในช่องท้อง
    ถ้านัดตรวจเช้า งดอาหาร ยา และเครื่องดื่มทุกชนิด หลังเที่ยงคืนก่อนตรวจหรืออย่างน้อย 6 ชม. ถ้านัดตรวจบ่าย มื้อเช้าตรวจให้รับประทานอาหาร่อ่นที่ไม่มีไขมันหลัง 08.00 น. ให้งดอาหาร ยา และเครื่องดื่มทุกชนิดจนกว่าจะตรวจเสร็จ
  • การตรวจในอุ้งเชิงกราน
    สามารถเลือกตรวจโดยผ่านทางหน้าท้อง หรือทางช่องคลอด การตรวจโดยผ่านทางหน้าท้องผู้รับการตรวจต้องปวดปัสสาวะขณะตรวจและต้องกลั้นปัสสาวะจนกว่าจะตรวจเสร็จ หากไม่ปวดปัสสาวะควรดื่มน้ำ 2-3 แก้วก่อนตรวจ 30-60 นาที เพื่อให้ปวดปัสสาวะ ทั้งนี้ต้องอาศัย น้ำในกระเพาะปัสสาวะ เป็นตัวกลางส่งผ่านเสียงไปยังอวัยวะอื่นๆ ในอุ้งเชิงกรานที่อยู่หลังกระเพาะปัสสาวะ
  • การตรวจอวัยวะอื่นๆ
    ที่ไม่เกี่ยวกับช่องท้อง ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวก่อนการตรวจ

อัลตราซาวด์ 3 มิติ

ภาพที่ได้จากการอัลตราซาวด์ทั่วไปนั้นจะเป็นแบบ 2 มิติ เป็นลักษณะภาพตัดขวางตามแนวของคลื่นเสียงความถี่สูงที่ส่งออกไป (มิติที่ 1 คือความกว้าง มิติที่ 2 คือความยาว) ในการสร้างภาพ 3 มิติ หัวตรวจและอุปกรณ์ประมวลผลจะมีความซับซ้อนมากขึ้น เครื่องจะทำหน้าที่เก็บภาพ 2 มิติ แต่ละภาพที่หัวตรวจได้ลากผ่านไปแล้วนำมาประกอบกันขึ้นสร้างเป็นภาพ 3 มิติ มิติที่ 3 คือ ความลึก ทำให้เรามองภาพนั้นเหมือนจริง

อัลตราซาวด์ขณะตั้งครรภ์ปลอดภัยหรือไม่ ?

การอัลตราซาวด์ขณะตั้งครรภ์ไม่เป็นอันตรายใดๆ สามารถตรวจการตั้งครรภ์ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

เรียบเรียงโดย :
ศูนย์ : สูติ-นรีเวช
ปรึกษาสูติ-นรีแพทย์ : 02-391-0011

VAR_INCL_CK