โรคมือ เท้า ปาก อันตรายที่มากับหน้าฝน

โรคมือ เท้า ปาก

โรคติดต่อที่ถูกพูดถึงอยู่เป็นประจำในทุก ๆ ปี และมีการเฝ้าระวังกันอย่างมากในเด็ก ๆ อายุต่ำกว่า 5 ปี นั่นก็คือ “โรคมือ เท้า ปาก” ซึ่งเป็นโรคที่สามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบมากที่สุดในช่วงหน้าฝน โดยในแต่ละปี จำนวนเด็กที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก นี้ จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจสาเหตุของการติดเชื้อ ก็จะสามารถดูแลลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้ไม่ยากเลย

โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อกันได้ย่างไร?

โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง การติดต่อของโรคจะติดต่อได้จากการรับเชื้อโดยตรงทางปาก ซึ่งการรับเชื้อทางปากในที่นี้หมายถึง การที่เด็กมีเชื้ออยู่ที่มือแล้วนำของเล่น ของกินที่ถูกสัมผัสด้วยน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ ที่มีจากผู้ที่มีเชื้อ เช่น การไอ จาม เป็นต้น หรือไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร กินน้ำกับผู้ที่มีเชื้ออยู่ก็สามารถติดต่อได้เช่นกัน และจากการสำรวจพบว่า “โรคมือ เท้า ปาก พบบ่อยในเด็กทารกและเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี” เนื่องจากเด็กเหล่านี้ยังมีภูมิคุ้มกันโรคที่ต่ำอยู่ โอกาสในการติดเชื้อจึงง่าย โดยเชื้อที่เป็นต้นเหตุของโรคนี้ คือ เชื้อไวรัสเอนเทอโร (Enterovirus) ที่เมื่อเด็กรับเชื้อเข้าไปแล้วจะแสดงอาการภายใน 3-7 วัน

โรคมือ เท้า ปาก อันตรายขนาดไหนกัน?

หลังจากที่เด็กได้รับเชื้อไวรัสมาแล้วภายใน 7 วัน เด็กจะเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร มีน้ำมูก เจ็บคอ คลื่นไส้ หลังจากนั้นประมาณ 1-2 วัน เก็กก็จะเริ่มมีตุ่มพองเล็ก ๆ เป็นจุดนูนแดงที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ และตุ่มน้ำใสบริเวณภายในปาก และหลังจากเป็นตุ่มแดงตามร่างกายได้สักพัก ตุ่มแดง ๆ เหล่านั้นจะกลายเป็นตุ่มน้ำ เด็กบางคนอาจจะคันหรือไม่คันก็ได้ แต่อาการของตุ่มแดง ๆ จะมาพร้อมมีไข้ แต่ไข้จะค่อย ๆ หายได้เองภายใน 3-4 วันส่วนแผลในปากก็จะหายได้เองเช่นกันภายใน 7 วัน และตุ่มตามมือและเท้าจะค่อย ๆ หายไปภายใน 10 วัน สำหรับที่มีอาการรุนแรง เด็กอาจจะได้รับเชื้อเอนเทอโรไวรัส ชนิด 71 ซึ่งจะอาจจะมีอาการปวดหัวมาก ชัก แขนขาอ่อนแรง หายใจหอบ ซึมและอาจจะอาเจียนรุนแรงก็ได้ หากเด็กมีอายุน้อยกว่า 3 ปีหรือมีดรคประจำตัวอยู่แล้ว อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาต และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ เมื่อเรารู้ถึงอันตรายของโรคมือ เท้า ปากแล้ว หากสังเกตเห็นว่าลูกน้อยเริ่มมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์

สัญญานเตือนของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

  • เด็กมีอาการซึมลง ไม่เล่น ไม่อยากทานอาหารหรือน้ำ
  • บ่นปวดศีรษะมาก ปวดทนไม่ไหว
  • มีอาการพูดเพ้อ ไม่รู้เรื่อง สลับกับซึมลง หรือเห็นภาพแปลก ๆ
  • มีอาการสะดุ้ง ผวา ตัวสั่น ๆ แขนหรือมือสั่น
  • มีอาการไอ หายใจเร็ว หน้าซีด เสมหะมาก

เมื่อลูกเป็นโรคมือ เท้า ปาก พ่อแม่ควรดูแลลูกน้อยอย่างไร?

แพทย์หญิงวาสินี สรรพดิลก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ในเด็ก ให้คำแนะนำมาว่า

  1. ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีไข้สูง ไม่สบายตัว เจ็บแผลในปาก ทานอาหารลดลง อาจให้ทานยาชาบริเวณช่องปากก่อนทานอาหาร เน้นอาหารเหลวและมีความเย็น เช่น นมแช่เย็น เยลลี่ น้ำหวาน ไอศกรีม เน้นทานน้ำมาก ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดน้ำ ถ้าทานอาหารได้น้อยควรรีบพาไปพบแพทย์
  2. ควรให้ลูกหยุดเรียน เพื่อดูอาการของลูก และยังเป็นการลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น
  3. โดยปกติ โรคมือ เท้า ปาก ถ้าอาการไม่รุนแรง จะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถ้ากรณีที่ซึมมาก อาเจียนมาก ควรรีบไปพบแพทย์

ข้อสังเกตโรคมือ เท้า ปาก

ในระยะเริ่มต้น โรคมือ เท้า ปาก จะมีอาการใกล้เคียงเหมือนเป็นไข้หวัดปกติ คือมีอาการเจ็บคอ ปวดหัว อ่อนเพลีย มีน้ำมูก แต่หลังจากนั้นไม่นาน จะมีตุ่นน้ำขึ้นตามตัวเด็ก จึงสามารถบอกได้แล้วว่าไม่ใช่อาการไข้หวัดธรรมดาแน่นอน อย่างไรก็ตาม โรคอีสุกอีใสก็มีตุ่มน้ำขึ้นตามตัวเด็กเช่นกัน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่าลูกเราเป็นอะไรกันแน่

อาการตุ่มน้ำใสตามตัวเด็กของโรคอีสุกอีใสจะกระจายไปตามใบหน้า ลำตัว แขนขา และอาจจะมีในปากด้วยเช่นกัน แต่สำหรับโรคมือ เท้า ปากแล้ว ตุ่มน้ำที่ขึ้นมาจะแสดงเฉพาะที่อย่าง ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และภายในปากเท่านั้น

โรคมือ เท้า ปาก ป้องกันได้ แค่ “เลี่ยง”

แม้ว่าในปัจจุบัน จะยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ แต่การป้องกันก็สามารถทำได้ไม่ยากเลย เพียงแค่รู้จัก “หลีกเลี่ยง”

  1. เลี่ยงการเข้าไปคลุกคลีกับเด็กที่ป่วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัสเชื้อจากการไอ จาม หรือการรับประทานอาหารร่วมกัน
  2. เลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอด ช้อนส้อม ของเล่น เป็นต้น เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ
  3. เลี่ยงการนำสิ่งของหรือนิ้วมือเข้าปาก
  4. เลี่ยงการสัมผัสสิ่งสกปรก หากลูกน้อยจำเป็นต้องสัมผัสของใช้ที่เป็นของสาธารณะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ควรหมั่นให้ลูกน้อยล้างทำความสะอาดมืออยู่เป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะนำมือที่สัมผัสกับเชื้อโรคเข้าปาก

ดังนั้น การรักษาสุขอนามัยของเด็กและสภาพแวดล้อมที่เด็กอยู่นั้นเป็นการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ได้ดีที่สุด โดยพ่อแม่สามารถหมั่นทำความสะอาดและดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด สอนให้เด็กล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคมากขึ้น





สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : คลินิกโรคเด็ก ศูนย์กุมารเวช
ชั้น 2A โรงพยาบาลสุขุมวิท
เปิดบริการทุกวัน เวลา 07.00 - 22.00 น.
โทร. 02-391-0011 ต่อ 314, 317, 318