โรคพิษสุนัขบ้า ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

โรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดเชื้อทางระบบประสาท เกิดจากไวรัสชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า เรบีส์ (Rabies) ที่ทำให้เกิดโรคในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น หมา แมว หนู วัว ควาย ม้า แกะ ลิง ชะนี กระรอก ค้างคาว เป็นต้น โดยพบมากสุดในสุนัข ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาทส่วนกลางได้ เช่น เส้นประสาท สมอง เป็นต้น โดยเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจะใช้ระยะเวลาในการฟักตัวจนถึงขั้นเกิดอาการ ประมาณ 5 วัน – 5 ปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและตำแหน่งของบาดแผล

โรคพิษสุนัขบ้า สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้อย่างไร?

โรคพิษสุนัขบ้าที่เกิดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้น สามารถติดต่อสู่คนได้ 4 ทาง คือ

  1. การถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด เชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรค จะถูกถ่ายทอดผ่านทางบาดแผล
  2. การถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย หากบริเวณที่ถูกเลียมีบาดแผล อาจมีโอกาสติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ ยกเว้นกรณีที่บริเวณที่ถูกเลียเป็นผิวหนังปกติ ไม่มีบาดแผล ก็จะไม่ติดโรคจากสัตว์ที่มีเชื้อเหล่านั้น
  3. การถูกสัตว์ที่เป็นโรคข่วน เนื่องจากสัตว์ส่วนใหญ่มักมีพฤติกรรมชอบเลียอุ้งเท้า จึงทำให้น้ำลายของสัตว์ติดอยู่ตามอุ้งเท้าและซอบเล็บ เมื่อถูกสัตว์เหล่านี้ข่วน จึงอาจทำให้ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าได้ เทียบเท่ากับการถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด
  4. การกินเนื้อสัตว์และสมองของสัตว์ที่เป็นโรค เริ่มมีรายงานทางการแพทย์ระบุออกมาว่า มีผู้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า จากการรับประทานเนื้อสัตว์และสมองสัตว์ เนื่องจากอาจยังมีเชื้อไวรัสอยู่ในเนื้อสัตว์และสมองของสัตว์ถึงมีแม้ว่าจะผ่านปรุงสุกแล้วก็ตาม

โรคพิษสุนัขบ้า มีอาการอย่างไร?

ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าในระยะ 2-3 วันแรก อาจไม่แสดงอาการใด ๆ หรือหากมีอาการ อาจคล้ายคลึงกับอาการไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยอาจมีไข้ต่ำ ๆ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันหรือปวดแสบปวดร้อนบริเวณผลที่ถูกกัดหรือข่วน ต่อมาจะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อที่ใช้กลืน ทำให้กลืนลำบากแม้จะเป็นของเหลวหรือน้ำ ทำให้คนไข้มีอาการกลัวน้ำ จึงเป็นที่มาของชื่อโรคที่เรียกว่า “โรคกลัวน้ำ” คนไข้จะมีอาการตื่นเต้นง่าย กระสับกระส่าย ไม่ชอบเสียงดัง แสงสว่าง หรือแม้กระทั่งลม และสุดท้ายอาจมีอาการชัก เป็นอัมพาต หรือถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิตได้

โรคพิษสุนัขบ้า ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

เพราะในปัจจุบัน ยังไม่มียาที่ใช้ในการรักษาโรคพิษสุนัขบ้าให้หายได้ การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเรบีส์ หรือ โรคพิษสุนัขบ้านั้น จึงเป็นการป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุด เพราะหากเราถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดและไม่ได้รับวัคซีนได้อย่างทันท่วงที อาจมีโอกาสที่เชื้อจะแพร่เข้าสู่ร่างกายและเกิดอาการจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

เมื่อไหร่ที่เราควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า?

การฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้านั้น สามารถฉีดได้ใน 2 กรณี คือ

  1. การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคก่อนสัมผัสหรือถูกสัตว์กัด ซึ่งการฉีดในกรณีนี้ แนะนำให้ฉีดในทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการรับเชื้อหรือถูกสัตว์กัด เช่น
    • บุคลากรทางการแพทย์ หรือสัตวแพทย์
    • บุรุษไปรษณีย์ หรือพนักงานส่งสินค้าตามบ้าน
    • ผู้ที่เลี้ยงสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ
    ซึ่งสามารถรับวัคซีนโดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนังจำนวนทั้งหมด 3 เข็ม โดยแบ่งระยะการรับวัคซีนดังนี้
    • เข็มที่ 1 - วันที่มาโรงพยาบาล
    • เข็มที่ 2 - ฉีดหลังจากเข็มแรก 7 วัน
    • เข็มที่ 3 – ฉีดหลังจากเข็มแรก 21-28 วัน
  2. การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคหลังสัมผัสหรือถูกสัตว์กัด เมื่อถูกสัตว์กัดหรือถูกเลียบริเวณที่มีบาดแผล ควรรีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับวัคซีน ซึ่งแพทย์จะพิจารณาการให้วัคซีนโดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
    • กรณีที่เคยรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครบ 3 เข็ม ก่อนการมาสัมผัส หรือถูกสัตว์กัด แพทย์จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนัง 2 เข็ม โดยไม่ต้องฉีดอิมมูโนโกลบูลิน1ร่วมด้วย โดย
      • ฉีดเข็มแรก ในวันที่มาพบแพทย์หลังสัมผัสสัตว์หรือถูกสัตว์กัด
      • ฉีดเข็มที่ 2 หลังจากเข็มแรก 3 วัน
    • กรณีที่ไม่เคยรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แพทย์จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 4 เข็ม หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 3 เข็ม และพิจารณาการฉีดอิมมูโนโกลบูลิน1ร่วมด้วย โดยแบ่งการฉีดออกเป็นดังนี้

    วิธีการฉีด เข็มที่ 1 เข็มที่ 2 เข็มที่ 3 เข็มที่ 4
    ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ วันแรกที่มาโรงพยาบาล หลังเข็มแรก 3 วัน หลังเข็มแรก 7 วัน หลังเข็มแรก 14-28 วัน
    ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง วันแรกที่มาโรงพยาบาล หลังเข็มแรก 3 วัน หลังเข็มแรก 7 วัน -

อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) คืออะไร ทำไมต้องฉีดร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า?

การฉีดอิมมูโนโกลบูลิน เป็นการฉีดเพื่อให้ภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย ป้องกันไม่ให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้าหลังโดนสัตว์กัด โดยอิมมูโนโกลบูลินสามารถช่วยทำลายเชื้อไวรัสบริเวณบนแผลได้