การนอนหลับส่งผลอย่างไรกับหัวใจ

การนอนหลับ

การนอนหลับเป็นสิ่งสำคัญมากในการที่จะมีสุขภาพดี หาใช่สิ่งหรูหราเกินความจำเป็นที่จะมีก็ได้ไม่มีก็ได้ การพักผ่อนที่ดีที่สุดคือการนอนนี้ในผู้ใหญ่ควรนอนอย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวัน การนอนหลับสนิทที่เพียงพอช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้

หากนอนหลับไม่เพียงพออาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพอะไรบ้าง?

นอนไม่พอ
  • ความดันโลหิตสูง การนอนหลับสนิททำให้ความดันโลหิตลดต่ำลงขณะหลับเมื่อเปรียบเทียบกับขณะตื่นตอนกลางวัน แต่หากเรานอนหลับไม่เพียงพอนอกจากจะทำให้ความดันไม่ลดยังส่งผลให้ความดันสูงขึ้น ซึ่งความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองแตก
  • เบาหวาน คือภาวะที่ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลได้ไม่ดี ทำให้เกิดการสะสมน้ำตาลในหลอดเลือด และทำให้หลอดเลือดหัวใจเสื่อมลงและตีบตัน การนอนหลับที่เพียงพอจะส่งผลให้ร่างกายนำน้ำตาลไปใช้ได้ดี ร่างกายสมส่วน จิตใจกระปี้กระเปร่า
  • อ้วน การนอนหลับไม่เพียงพอสามารถส่งผลให้ร่างกายไม่แข็งแรง และเป็นสาเหตุของน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น การนอนหลับไม่เพียงพออาจส่งผลกระทบต่อสมองส่วนที่ควบคุมความอยากอาหาร ทำให้อยากทานมากขึ้น นอนพอเพียงแล้วจะไม่หิวเท่าไหร่

ปัญหาการนอนหลับอะไรบ้างที่ส่งผลต่อหัวใจ ?

ปัญหาการนอน

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เกิดขึ้นเมื่อเราหลับสนิทแล้วลิ้นตกลงไปบล็อกทางเดินอากาศ เกิดภาวะขาดอากาศขาดออกซิเจน ปลุกให้เราตื่น เป็นแล้วเป็นเล่าตลอดคืน คนข้างๆจะบอกเราว่าเราหลับเรากรน แต่เรารู้สึกว่าเรานอนไม่หลับ ภาวะขาดอากาศหายใจขณะหลับมักเป็นในโรคอ้วน พวกคอสั้น หรือคนมีอายุ มีอาการนอนกรน ง่วงเหงาหาวนอนตอนกลางวัน(เอาคืน) ขาดสมาธิ ความจำเสื่อมเร็ว มักทำให้ความดันสูงขึ้นทั้งในตอนกลางคืนและเป็นต่อในตอนกลางวัน (carry over) ความดันโลหิตคุมยาก เดี๋ยวต่ำไปเดี๋ยวสูงไป (หมอมักบ่น แต่หมอมักไม่นึกถึงโรคนี้) อาจทำให้หัวใจวายฉับพลันจากเส้นเลือดอุดตันทันที หัวใจล้มเหลว อัมพฤกษ์อัมพาต

โรคนอนไม่หลับ พบบ่อย ผู้ใหญ่หนึ่งในสองคน อาจนอนไม่หลับชั่วคราว และพบว่า 1 ใน 10 นอนไม่หลับเรื้อรัง โดยโรคนอนไม่หลับนั้นสัมพันธ์กับความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ เมื่อเวลาผ่านไปการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพสามารถนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ความเครียดสูงขึ้น ส่งผลให้แรงจูงใจที่จะออกกำลังกายน้อยลง

ทำอย่างไรให้การนอนหลับมีประสิทธิภาพ

แก้ปัญหาการนอน
  • เข้านอนและตื่นนอน ให้เป็นเวลาสม่ำเสมอ
  • รับแสงธรรมชาติให้เพียงพอระหว่างวัน กระตุ้นเซลล์สมองว่านี่กลางวัน
  • ไม่ออกกำลังกายใกล้กับเวลาที่จะนอนหลับ
  • หลีกเลี่ยงแสงต่างๆที่ไม่ใช่แสงธรรมชาติ ก่อนเวลานอน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และอาหารที่มีปริมาณไขมัน และน้ำตาลสูงก่อนนอน
  • ทำให้ห้องนอนเหมาะแก่การนอนหลับ เช่น เย็นสบาย มืดสลัว และเงียบเหมาะกับการพักผ่อน

ที่มา cdc.gov

ทบทวนบทความ: นพ.ชาติ วานิชสวัสดิ์ อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: ศูนย์โรคหัวใจ
ชั้น1 โรงพยาบาลสุขุมวิท
เปิดบริการทุกวัน
เวลา 07.00 - 20.00 น. โทร. 02-391-0011 ต่อ 145, 155
เวลา 20.00 - 07.00 น. โทร. 02-391-0011 ต่อ 753, 755

ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

facebook instagram line youtube