หัวใจล้มเหลว (Heart Failure)

อาหารบำรุงหัวใจ

ภาวะหัวใจล้มเหลว คือ ภาวะที่หัวใจไม่สามารถทำงานสูบฉีดเลือดได้ตามปกติ ทำให้ร่างกายไม่ได้รับออกซิเจนและสารอาหารอย่างเพียงพอ ซึ่งจะส่งผลให้มีอาการอ่อนเพลีย ออกแรงได้ลดลง โดยที่ในช่วงแรกอาจสังเกตุได้ว่าเริ่มใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบากขึ้น เช่น เดินขึ้นลงบันได้แล้วเหนื่อยเร็วกว่าปกติ ในบางรายที่เริ่มมีอาการรุนแรง อาจเริ่มมีอาการหายใจลำบาก รู้สึกว่าเหนื่อยง่ายขึ้น ออกแรงได้ลดลงอย่างชัดเจน แม้แต่ในขณะที่ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ กินข้าว ก็ยังรู้สึกว่าเหนื่อยกว่าปกติ

ในภาวะหัวใจปกติ เลือดที่อุดมด้วยออกซิเจนจะเดินทางจากปอดไปยังหัวใจห้องบนด้านซ้ายจากนั้นไปยังหัวใจห้องล่างซ้ายซึ่งจะสูบฉีดเลือดไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ซึ่งหัวใจห้องล่างซ้ายจะมีหน้าที่หลักในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย และในแง่ของการรักษาเอง หัวใจห้องล่างซ้ายก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องประเมินเพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม

ในภาวะหัวใจล้มเหลว คือหัวใจไม่สามารถส่งผ่านเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างพอเพียง จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในร่างกาย ทั้งที่ตัวหัวใจ และส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง

  • การขยายหัวใจให้ใหญ่ขึ้น โดยในช่วงแรกหัวใจจะเริ่มมีการขยายตัวเพื่อให้สามารถรับเลือดได้ในปริมาณมากขึ้น และสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างพอเพียง ซึ่งถือเป็นสัญญาณเริ่มต้นของภาวะหัวใจล้มเหลว
  • อัตราการเต้นหัวใจที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากร่างกายต้องการออกซิเจนและสารอาหารอย่างพอเพียง ดังนั้นจะมีการเร่งอัตราการเต้นของชีพจรให้เพิ่มขึ้นจากปกติ ซี่งจะสังเกตุได้ว่า ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว มักจะมีอัตราการเต้นของหัวใจที่เร็วกว่าคนปกติ
  • การคั่งของสารน้ำในร่างกาย นอกจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับหัวใจแล้ว ร่างกายจะมีการปรับเปลี่ยนการทำงานของฮอร์โมนบางตัว ส่งผลให้เริ่มมีการคั่งของน้ำและเกลือในร่างกาย เพื่อช่วยให้มีปริมาณน้ำในร่างกายมากขึ้นจะได้ชดเชยกับการทำงานของหัวใจที่ลดลง

การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกายไม่ว่าจะเป็นทางด้านหัวใจและระบบฮอร์โมน ในช่วงแรกๆ จะถือเป็นการเปลี่ยนที่ช่วยชดเชยความผิดปกติที่เกิดขึ้น แต่ในระยะยาวแล้วจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะส่งผลเสียให้เกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น หัวใจที่มีขนาดโตเกินไป ส่งผลให้หัวใจทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ และการเปลี่ยนแปลงของระบบฮอร์โมนอาจส่งผลให้เกิดภาวะไตวายตามมาได้

ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) มีอยู่ 2 ชนิด

  1. ภาวะหัวใจล้มเหลว ชนิดที่ หัวใจห้องล่างซ้ายทำงานลดลง (Heart failure with reduced EF, HFrEF) ซึ่งจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวที่สัมพันธ์กับการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้ายที่ลดลง โดยที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีแผนการรักษาที่ค่อนข้างชัดเจนโดยมีแบบแผนของการให้ยาที่เป็นลำดับขั้นตอน
  2. ภาวะหัวใจล้มเหลว ชนิดที่ หัวใจห้องล่างซ้ายทำงานปกติ (Heart failure with preserved EF, HFpEF) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็จะมีอาการเหนื่อยง่ายและบวมได้เหมือนกับผู้ป่วยอีกกลุ่มนึง แต่มีสิ่งที่ต่างกันคือ การทำงานของหัวใจห้องล่างซ้ายที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ ในแง่ของการรักษาจะเป็นการมุ่งเน้นหาสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นหลัก ร่วมกับการให้ยาขับปัสสาวะ เพื่อขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย

สัญญาณและอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว

  • หายใจถี่ (หายใจลำบาก) เมื่อคุณออกแรงหรือนอนราบ
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • อาการบวม (บวมน้ำ) ที่ท้อง หน้าแข้ง และหลังเท้า
  • หัวใจเต้นเร็วหรือผิดปกติ
  • ความสามารถในการออกกำลังกายลดลง
  • ไอหรือหายใจดังเสียงฮืดๆ โดยอาจมีเสมหะสีขาวหรือสีชมพูปนเลือด
  • อาการบวมที่ท้อง (น้ำในช่องท้อง)
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (มักจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 กิโลกรัมภายใน 24 ชั่วโมง)

รีบพบแพทย์หากคุณมีอาการเหล่านี้

  • เจ็บหน้าอก
  • เป็นลมหรืออ่อนแรงอย่างรุนแรง
  • หัวใจเต้นอย่างรวดเร็วหรือผิดปกติ
  • หายใจถี่ เจ็บหน้าอกเป็นลม
  • หายใจถี่อย่างรุนแรงและไอเป็นเสมหะสีชมพู

การตรวจวินิจฉัย

  • ตรวจเลือด
  • ตรวจรังสีเอกซเรย์ปอดและหัวใจ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของปอด หัวใจ
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • ตรวจการทำงานของหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงหรืออัลตราซาวด์หัวใจ เพื่อการทำงานของหัวใจ และหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น การทำงานของลิ้นหัวใจที่ผิดปกติ
  • • การตรวจอื่นๆ ที่อาจช่วยในการหาสาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น การตรวจ coronary calcium score เพื่อประเมินหลอดเลือดหัวใจว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ และในบางรายหากพบว่ามีสัญญาณที่บ่งชี้ถึงหลอดเลือดหัวใจตีบ อาจจำเป็นต้องได้รับตรวจหลอดเลือดหัวใจโดยการสวนหัวใจฉีดสี เพื่อแก้ไขเส้นเลือดหัวใจที่มีความผิดปกติ


นพ.อภิชัย โภคาวัฒนา
นพ.อภิชัย โภคาวัฒนา
แพทย์อายุรกรรมโรคหัวใจและหลอดเลือด
เฉพาะทางโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ



สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์โรคหัวใจ
ชั้น 1 โรงพยาบาลสุขุมวิท
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 20.00 น.
โทร. 02-391-0011 ต่อ 145, 155

ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล: