ทำไมควรตรวจสุขภาพหัวใจ

EST

องค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2559 พบทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 57 ล้านคน โดยโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 9.2 ล้านคน และในประเทศไทยมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือด มีปัจจัยการเกิดโรค ทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้ ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วนลงพุง สูบบุหรี่ โรคเบาหวาน ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย และเครียด ในส่วนปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ประวัติกรรมพันธุ์ อีกทั้งโรคหัวใจไม่ได้แสดงอาการเตือนล่วงหน้าทุกครั้งไป หรือหากเกิดอาการอาจไม่รู้ว่าอาการดังกล่าวเป็นโรคหัวใจ ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะวิกฤติถึงขั้นเสียชีวิตได้

ทำไมการตรวจสุขภาพหัวใจจึงสำคัญ?

โรคหัวใจมีหลากหลายชนิดด้วยกัน อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือภาวะโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคหัวใจแต่ละชนิดมีอาการแตกต่างกัน และไม่แสดงอาการในระยะแรกเริ่ม การตรวจสุขภาพหัวใจจะช่วยค้นหาปัจจัยเสี่ยง หรือภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหัวใจชนิดอื่นๆ เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต การเลือกทานอาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกาย หรือการรับประทานยา

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ได้แก่

  1. ประวัติพันธุกรรมเป็นปัจจัยการเกิดโรคหัวใจที่ไม่สามารถควบคุมได้ และมีแนวโน้มการเกิดโรคหัวใจมากกว่าคนทั่วไป การตรวจสุขภาพหัวใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการตรวจหาปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้น
  2. ระดับไขมันในเลือดการตรวจวัดระดับไขมันในเลือดจะช่วยตรวจหาปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจได้ โดยหากไขมัน (LDL) สูง ไขมัน (HDL) ต่ำ และระดับไตรกลีเซอไรด์สูง จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจ
  3. ระดับความดันในเลือดความดันโลหิตสูงจะไม่แสดงอาการ แต่จะแสดงอาการเมื่อเป็นมากแล้ว โดยความดันสูงเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจ
  4. ระดับน้ำตาลในเลือดน้ำตาลในเลือดสูงคือสาเหตุการเกิดโรคเบาหวาน ซึ่งโรคเบาหวานเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง

อีกทั้งการตรวจสุขภาพหัวใจเฉพาะทางยังช่วยประเมินความเสี่ยงและลดการเกิดภาวะวิกฤติจากโรคหลอดเลือดหัวใจได้

การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการเดินสายพาน (EST) มีประโยชน์อย่างไร?

การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยตรวจหาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือใช้ประเมินประสิทธิภาพความสามารถสูงสุดของร่างกายและหัวใจในการออกกำลังกาย หรือตรวจหาการเต้นของหัวใจผิดจังหวะที่เกิดขณะออกกำลังกาย โดยผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการใดๆในภาวะปกติ เลยคิดว่าไม่มีความเสี่ยงโรคหัวใจ แต่เมื่อออกกำลังกายหัวใจจะทำงานหนักขึ้นจะมีเลือดไปเลี้ยงไม่พอ ทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดมีอาการแสดงและการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ดังนั้นการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย จะทำให้แพทย์หัวใจทราบถึงอาการหรือปัญหาสุขภาพจากการตรวจสมรรถภาพหัวใจได้ โดยจะสามารถวางแนวทางในการรักษาในลำดับต่อไป ทั้งอาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทานยา หรืออาจได้รับการฉีดสีสวนหัวใจ เพื่อการรักษาในลำดับต่อไป ซึ่งการตรวจสมรรถภาพหัวใจนี้นอกจากจะแม่นยำ ปลอดภัยแล้ว ยังสามารถช่วยป้องกันการเสียชีวิตเฉียบพลันจากโรคหลอดเลือดหัวใจได้อีกด้วย

ประโยชน์ของการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย

  • เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการเจ็บแน่นหน้าอกว่าเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือเกิดจากสาเหตุอื่น
  • เพื่อประเมินความเสี่ยงว่ามีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ เพราะผู้มีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจบางราย มักไม่แสดงอาการ
  • เพื่อประเมินประสิทธิภาพสูงสุดในการออกกำลังกาย

นอกจากนี้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 - 40 ปีขึ้นไป ควรหมั่นตรวจเช็คสุขภาพหัวใจ อาทิ การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (EST) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ปีละ 1 ครั้ง ควบคู่กับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อช่วยป้องกันภาวะที่อาจเกิดขึ้นกะทันหัน ป้องกันการเสียชีวิตเฉียบพลัน

ตรวจวัดระดับแคลเซียมผนังหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium Score)

CTcalciumScore

คือการตรวจวัดระดับแคลเซียม หรือหินปูนที่ผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ที่อาจเกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือด ลิ้นหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งเกิดจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดงและจะเกิดการสะสมก่อนอาการของโรคหัวใจนานหลายปี ซึ่งหินปูนดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการตีบหรืออุดตันในหลอดเลือดหัวใจ ปริมาณแคลเซียมนี้สามารถทำนายโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้ และช่วยลดการเกิดภาวะการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack) ซึ่งผลที่ได้จะช่วยประเมิน ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต การรับประทานยา หรือแม้แต่การเข้ารับการรักษาฉีดสีและขยายหลอดเลือดหัวใจได้ทันการ ซึ่งการตรวจวัดระดับแคลเซียมผนังหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium Score) ยังถือเป็นวิธีการที่สะดวก แม่นยำ ปลอดภัย และเชื่อถือได้ที่สุด ในการตรวจหาภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันก่อนเกิดโรค และเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack)

ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจ CT Calcium Score

  • สูบบุหรี่
  • ประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
  • ความดันสูง
  • ไขมันสูง
  • เบาหวาน
  • ภาวะอ้วน

การเตรียมตัว

การเข้ารับการตรวจวัดระดับแคลเซียมผนังหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium Score) ผู้เข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวใดมากมาย แค่หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มคาเฟอีน กาแฟ ชา ต่างๆ สูบบุหรี่ และการออกกำลังกายก่อนเข้ารับการตรวจ 4 ชั่วโมง


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์โรคหัวใจ
ชั้น 1 โรงพยาบาลสุขุมวิท
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 20.00 น.
โทร. 02-391-0011 ต่อ 145, 155

ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล: