โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (Peripheral Arterial Disease)

ถ้าร่างกายของมนุษย์เปรียบเหมือนเมืองๆ หนึ่ง เส้นเลือดคงไม่ต่างอะไรกับท่อน้ำประปาที่เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ เพื่อนำน้ำสะอาดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของเมือง แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ท่อน้ำเกิดอุดตัน เมืองส่วนนั้นก็จะขาดน้ำทันที...

ร่างกายของคนเราก็เช่นกัน ถ้าเส้นเลือดบริเวณใดเกิดการอุดตัน ก็จะทำให้เลือดไม่สามารถไหลผ่านไปเลี้ยงอวัยวะส่วนนั้นได้ นานวันเข้าก็จะเกิดปัญหา เช่น บริเวณมือหรือเท้า เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (Peripheral Arterial Disease) และอาจจะรุ่นแรงยิ่งกว่า ถ้าเกิดขึ้นกับอวัยวะที่มีความสำคัญมากๆ เช่น สมอง หัวใจ นำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคสมองขาดเลือด ดังนั้น การดูแลรักษาหลอดเลือดแดงให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรง สมบูรณ์ จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันโรคต่างๆ ไว้แต่เนิ่นๆ

โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ เกิดจากภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง และทำให้หลอดเลือดแดงที่ขาตีบหรือตัน ในคนที่อายุน้อยกว่า 60 ปี พบโรคนี้น้อยกว่า 3% แต่ในคนที่อายุมากกว่า 70 ปี พบถึง มากกว่า 20% พบทั้งในเพศชายและเพศหญิงไม่ต่างกัน ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบ แม้จะไม่มีอาการใดๆ ปรากฎก็มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองสูง และในความเป็นจริงผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบก็เสียชีวิตจากโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง

อาการแสดงของโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ

มากกว่า 50% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ ที่ตรวจพบด้วยเครื่องตรวจสมรรถภาพหลอดเลือดแดง ABI (Ankle-brachial index) ไม่แสดงอาการใดๆ ต่อเมื่อเส้นเลือดตีบมากขึ้น เลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนนั้นไม่พอผู้ป่วยจะมีอาการ

  • ปวดน่อง
  • ตะคริว
  • ชาเท้า
  • อ่อนแรง

โดยเฉพาะเมื่อเวลาเดิน และจะเริ่มมีอาการปวดเมื่อเดินได้ระยะทางใกล้เคียงกัน อาการจะเป็นๆ หายๆ ทางการแพทย์เรียก Intermittent Claudicatioin เมื่อเส้นเลือดตีบมากขึ้น จะเกิดอาการปวดแม้ขณะพัก

หากท่านมีอาการดังกล่าว ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบอย่างละเอียด เมื่อแพทย์สงสัยแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม หากการตรวจเบื้องต้นพบว่าหลอดเลือดแดงตีบค่อนข้างมาก และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ท่านอาจจะต้องได้รับการฉีดสี เพื่อตรวจหลอดเลือดเพิ่มเติม โดยอาศัยวิธีพิเศษร่วมกับการถ่ายภาพรังสีต่อเนื่อง จะช่วยให้ตรวจการไหลเวียนของโลหิต และตำแหน่งของการตีบแคบหรืออุดตันได้

มาป้องกันภัยร้ายที่อาจจะเกิดกับหลอดเลือดก่อนที่จะสายเกินไป ตั้งแต่วันนี้ ด้วยเครื่องตรวจโรคหลอดเลือดส่วนปลาย หรือ ABI ได้ที่โรงพยาบาลสุขุมวิท

เครื่องตรวจหาโรคหลอดเลือดส่วนปลาย ABI (Ankle-Brachail Index)

การตรวจสมรรถภาพหลอดเลือดแดง ด้วยเครื่อง ABI (Ankle Brachial Index) เป็นวิธีการวัดที่ง่าย และไม่แพง เป็นการตรวจหลอดเลือดแดงส่วนปลายของขา ค่าที่ได้มีความแม่นยำสูง มีความไว 90% ความจำเพาะ 98% เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วยเครื่องวัดความดันโลหิตแบบบีบ และอุปกรณ์คลื่นเสียงความถี่สูง โดยเครื่องจะวัดความดันที่หลอดเลือดแขนทั้งสองข้างก่อน จากนั้นเครื่องจะวัดความดันหลอดเลือดที่ข้อเท้าทั้งสองข้าง ค่า ABI คือ อัตราส่วนระหว่างค่าความดันโลหิตตัวบนของข้อเท้าต่อค่าเฉลี่ยของความดันโลหิตตัวบนของแขนข้างเดียวกัน ค่า ABI ที่น้อยกว่า 0.9 ถือว่ามีโรคของหลอดเลือดแดงของขา ค่ายิ่งต่ำบ่งบอกว่าหลอดเลือดตีบมาก

มีการศึกษาที่บ่งชี้ว่าค่า ABI ทำนายอัตราการเสียชีวิตได้ การศึกษาหนึ่งพบว่าผู้ที่มีอายุเฉลี่ย 66 ปี ที่มีค่า ABI ผิดปกติ จะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือด และหัวใจมากกว่าผู้ที่มีค่า ABI ปกติ 6.3 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ 4.8 เท่า ดังนั้นการตรวจความผิดปกติของหลอดเลือดแดง โดยการใช้เครื่องวัด ABI (Ankle-Brachail Index) จึงช่วยบ่งชี้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์ ซึ่งเมื่อพบความผิดปกติ ก็จะพิจารณาให้ยาเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยง

ใครบ้างที่ควรได้รับการตรวจ?

  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี
  • ผู้ที่สูบบุหรี่มามากกว่า 10 ปี
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
  • ผู้ที่เป็นโรคอ้วน
  • ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง
  • ผู้ที่ป่วยจากภาวะใดๆ ก็ตามจนไม่สามารถเดินไปมาได้ ต้องใช้ชีวิตอยู่บนเตียงตลอด
  • ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัว เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมองก่อนวัยอันควร

การป้องกัน

  • ป้องกัน และรักษาโรคหัวใจ
  • รักษาระดับไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ : การเดินเป็นวิธีการที่ดีที่สุด กระตุ้นให้เดิน จนกระทั่งเริ่มปวดแล้วหยุด เมื่อหายปวดเริ่มเดินใหม่ การเดินจะทำให้หลอดเลือดที่ขา มีการสร้างขึ้นใหม่ ช่วยทำให้เดินได้นานขึ้น ปวดน้อยลง
  • หยุดสูบบุหรี่
  • รักษาน้ำหนัก อย่าให้อ้วน
  • ควบคุมระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงปกติ

การรักษา

  • การใช้ยาต้านเกร็ดเลือด และยาควบคุมอาการปวด
  • การควบคุมระดับไขมันในเลือด
  • การให้ยาขยายหลอดเลือด
  • การควบคุมความดันโลหิต
  • การควบคุมโรคเบาหวาน
  • การทำ Balloon Angioplasty แพทย์จะสอดสายเข้าไปหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบ แล้วเอาบอลลูนดันส่วนที่ตีบ ให้ขยายพร้อมทั้งใส่ขดลวด
  • การผ่าตัด Bypass โดยการใช้เส้นเลือดเทียมต่อข้ามส่วนที่ตัน

เส้นเลือดของคุณมีโอกาสตีบหรือไม่?

สภาวะแข็งตัวของหลอดเลือดแดง และหลอดเลือดตีบแคบ หรือการอุดตันของหลอดเลือด เป็นสาเหตุสำคัญที่สำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจ คุณ...ตรวจพบได้แต่เนิ่นๆ ด้วยเครื่อง ABI (Ankle Brachial Index Vascular Screening) สามารถตรวจเช็คได้ง่ายๆ และไม่เจ็บปวด เพียง 5-10 นาที

เรียบเรียงโดย : นพ.จิราณัติ ชลธีศุภชัย
ศูนย์ : อายุรกรรม
ปรึกษาอายุรแพทย์ : 02-391-0011

VAR_INCL_CK