ทำไมปวดศีรษะจึงต้องไปหาหมอ

ปวดหัว, ปวดหัวไมเกรน, ปวดหัวเรื้อรัง

เนื่องจากอาการปวดศีรษะเป็นอาการที่พบเจอได้บ่อย และเป็นอาการที่ทุกคนต้องเคยเป็นมาก่อน ซึ่งอาการปวดศีรษะนั้นมีสาเหตุได้ตั้งแต่แบบที่ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ รับประทานยาแก้ปวดแล้วหาย ไปจนถึงมีสาเหตุอันตรายจากในสมองจนเป็นสาเหตุให้ถึงแก่ชีวิตได้หากรักษาไม่ทันท่วงที

สาเหตุของอาการปวดศีรษะ

สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

  1. อาการปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ หรือ ปวดศีรษะที่ตรวจไม่พบพยาธิสภาพที่เป็นสาเหตุ เช่น ไมเกรน การปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว (Tension type headache) ปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster headache) เป็นต้น ซึ่งการปวดศีรษะในกลุ่มนี้ไม่ได้มีสาเหตุที่อันตรายถึงชีวิต แต่ระดับความรุนแรงและความถี่ของอาการปวดพบได้หลากหลาย ซึ่งอาจมีผลรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมาก ดังนั้นหากได้รับการรักษาที่ตรงจุด จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
  2. อาการปวดศีรษะแบบทุติยภูมิ หรือ ปวดศีรษะที่ตรวจพบพยาธิสภาพที่เป็นสาเหตุ เช่น ไข้ การติดเชื้อในร่างกาย หลอดเลือดดำในสมองอุดตัน การติดเชื้อในระบบประสาท เนื้องอกในสมอง ไซนัสอักเสบ ต้อหิน เป็นต้น ในกลุ่มนี้จะเห็นได้ว่าสาเหตุการเกิดโรคมีความรุนแรงที่หลากหลายมาก ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยที่ทันท่วงทีจึงมีความสำคัญ โดยหากแพทย์ได้ซักประวัติ และตรวจร่างกายผู้ป่วยแล้ว สงสัยโรคในกลุ่มนี้ อาจจะต้องมีการส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย เช่น การตรวจภาพถ่ายทางสมองและเส้นเลือดสมอง (CT/MRI/MRA Brain) การตรวจเลือด การตรวจน้ำไขสันหลัง เป็นต้น

การปวดศีรษะที่น่าสงสัยว่าจะเป็นการปวดศีรษะที่มีสาเหตุ

  • ผู้ป่วยที่เริ่มปวดศีรษะหลังอายุมากกว่า 50 ปี
  • มีโรคประจำตัวเป็นมะเร็ง หรือ HIV
  • มีอาการทางระบบประสาทอื่นๆ เช่น ชาครึ่งซีก อ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
  • อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด
  • อาการปวดศีรษะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

ดยอาการปวดศีรษะที่ร่วมกับข้อบ่งชี้เหล่านี้ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์โดยละเอียด หรือส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อได้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง




สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :
ศูนย์ระบบประสาทและสมอง
ชั้น 1B โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 225, 226, 227



ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

VAR_INCL_CK