พัฒนาการในเด็ก ส่งผลสำคัญอย่างไรในอนาคต

ออกกำลังกาย

พัฒนาการในเด็ก ส่งผลสำคัญอย่างไรในอนาคต

การได้เห็นเด็กๆ เติบโตไปตามพัฒนาการที่ควรจะเป็น ถือเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองทุกคนควรจะให้ความสำคัญ และส่งเสริมในทิศทางที่เหมาะสม ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้ พญ. กนกอร จ่างจรูญโรจน์ กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมประจำโรงพยาบาลสุขุมวิท จะมาช่วยเสริมว่าทำไมเราต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้

พัฒนาการในเด็กคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

เราต้องทำความเข้าใจถึงความหมายของคำว่า “พัฒนาการ” กันก่อน ซึ่งคำว่า พัฒนาการ (Development) ในที่นี้ หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงในด้านการทำหน้าที่และวุฒิภาวะของอวัยวะในร่างกาย และตัวบุคคล ทำให้สามารถทำสิ่งที่ยากและซับซ้อนขึ้นได้ โดยมีการเพิ่มทักษะใหม่ๆ และความสามารถในการปรับตัว เพื่อให้บุคคลนั้น สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งพัฒนาการของเด็ก จะประกอบด้วย

  • พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว
  • พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา
  • พัฒนาการด้านการเข้าใจและการใช้ภาษา
  • พัฒนาการด้านการช่วยเหลือตนเองและสังคม

โดยการเพิ่มความสามารถในแต่ละช่วงวัยนั้นจะต้องมีความพร้อมของวุฒิภาวะของบุคคลและการสนับสนุนจากสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพัฒนาการในวัยทารกจะต้องมีความพร้อมจากตัวทารกเองและได้รับการส่งเสริมจากมารดาและครอบครัวเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามช่วงวัย

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการในเด็ก มีอะไรบ้าง

  • ปัจจัยทางด้านพันธุกรรมที่เด็กได้รับจากบิดามารดา
  • ปัจจัยก่อนการตั้งครรภ์ของมารดา สภาวะทางโภชนาการและการเจ็บป่วยของมารดา
  • ปัจจัยขณะคลอดและการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะคลอด
  • ปัจจัยหลังคลอดและสภาวะหลังคลอดของมารดาและเด็ก
  • ปัจจัยทางด้านครอบครัวและสภาพแวดล้อมของเด็ก

โดยทุกปัจจัยข้างต้นจะส่งผลร่วมกันต่อพัฒนาการของเด็ก

เมื่อพบว่าลูกมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กคนอื่นๆ ผู้ปกครองควรทำอย่างไร

ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำในการส่งเสริมพัฒนาการเบื้องต้น (ตามข้อมูลที่มีในสมุดสุขภาพของลูก) และให้ลูกงดการดูโทรทัศน์ เล่นเกมส์ เล่นโทรศัพท์มือถือ แล้วหันมาให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการ รวมทั้งมีการนัดหมายเพื่อตรวจกับกุมารแพทย์ เพื่อทำการประเมินพัฒนาการเบื้องต้น หาสาเหตุ และให้การรักษา เนื่องจากการได้รับการส่งเสริมพัฒนาการเร็วเท่าใด ก็จะเป็นประโยชน์ต่อลูกมากขึ้นเท่านั้น

เด็กในวัยไหน ควรได้รับการดูแล และส่งเสริมในเรื่องของพัฒนาการเป็นพิเศษ

เด็กอายุ ก่อน 1 ปี จะมีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ และประสาทการรับรู้อย่างรวดเร็ว จึงควรได้รับการส่งเสริมพัฒนาการผ่านระบบประสาทสัมผัสทั้ง 5 (ตา หู จมูก ปาก และการสัมผัส) หากพบปัญหาด้านการเคลื่อนไหว การมองเห็นและการได้ยิน จะได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพื่อช่วยให้เด็กมีพัฒนาการดีขึ้นตามศักยภาพ

เด็กอายุ 1-3 ปี เป็นช่วงที่มีพัฒนาการด้านภาษามากขึ้น มีกล้ามเนื้อการควบคุมการเคลื่อนไหวดีขึ้น จึงควรส่งเสริมทักษะทางด้านภาษา เพื่อให้เด็กเพิ่มความสามารถในการสื่อสารและการเรียนรู้ ส่งผลให้มีพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมที่ดีตามมา

เด็กอายุมากกว่า 3 ปี 6 เดือน จะมีพัฒนาการด้านสติปัญญามากขึ้น และเป็นช่วงเตรียมพร้อมเข้าโรงเรียน จึงเป็นช่วงที่ควรส่งเสริมทักษะทางด้านการอ่าน การวาดรูปและทักษะการแก้ไขปัญหา โดยผ่านการอ่านนิทานหรือการเล่นสมมติ เพื่อให้เด็กมีความพร้อมในการไปโรงเรียน และมีการพัฒนาด้านคุณธรรมจริยธรรม

การเสริมสร้างพัฒนาการเด็กควรเริ่มต้นเมื่อไร

การเสริมสร้างพัฒนาการเด็กควรเริ่มต้นตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์ โดยมีการดูแลสุขภาพมารดาให้แข็งแรง มีอารมณ์ที่แจ่มใส และมีภาวะโภชนาการที่เหมาะสม เมื่อคลอดลูกแล้วให้เสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก โดยผ่านการฟัง การดู การจับต้อง การเล่น การทำตามแบบอย่าง และให้เด็กๆ ได้ลองทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง บิดามารดา และผู้ปกครองควรพูดคุยกับลูกตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ เล่นกับลูก เล่าเรื่องสิ่งที่กำลังทำกับลูก เล่านิทาน อ่านหนังสือให้ฟัง ชี้ชวนดูสิ่งต่างๆ รอบตัว ดูรูป ทำกิจกรรมด้านศิลปะและดนตรี มีกิจกรรมในบ้าน คอยรับฟังเรื่องราวของลูก ส่งเสริมให้ลูกซักถามและสังเกต ชี้ชวนกันสนทนาและให้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น โดยไม่ใช้วิธีบังคับหรือเร่งรัดลูก ไม่ก้าวร้าวหรือทำร้ายลูกทั้งทางกาย วาจา ใจ ลูกต้องได้รับโอกาสฝึกวินัยในตนเอง ร่วมไปกับการดูแลสุขภาพของเด็กให้แข็งแรง ได้รับวัคซีนและมีภาวะโภชนาการที่เหมาะสมตามวัย

ผู้ปกครองควรสังเกตอย่างไรว่าเด็กมีพัฒนาการที่ดี หรือไม่ดีตามวัย

บิดามารดาควรเริ่มจากการสังเกตพัฒนาการของลูก เปรียบเทียบกับตารางพัฒนาการตามวัยของเด็ก โดยสามารถหาดูได้จากสมุดสุขภาพของลูก และควรปรึกษากุมารแพทย์ หากพบว่าเด็กมีพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าอายุของลูก 2-3 เดือน และมีพัฒนาการถดถอยจากเดิม หรือบิดามารดาสงสัยว่าเด็กมีพัฒนาการล่าช้า เช่น อายุ 2 เดือน ยังไม่จ้อง อายุ 4 เดือน ยังชันคอไม่ได้ในท่านั่ง ยังไม่มองตาม อายุ 6 เดือน ไม่หันหาเสียง ไม่ยิ้ม อายุ 9 เดือน ยังไม่สามารถนั่งเองได้ ไม่ส่งเสียง อายุ 1 ปี ไม่เล่นน้ำลาย ไม่หันเวลาเรียกชื่อ อายุ 1 ปี 6 เดือน ยังเดินเองไม่ได้ ไม่มีภาษาพูดและภาษาท่าทาง อายุ 2 ปี ยังไม่พูดคำเดี่ยว ไม่พูดวลี 2 คำ อายุ 3 ปี ไม่พูดเป็นประโยค 3 คำ เป็นต้น เด็กๆ เติบโตเร็ว โดยเฉพาะช่วง 5 ปีแรก การได้เฝ้ามองพัฒนาการของเขาและเธอให้เป็นไปตามวัย ล้วนเป็นหน้าที่ที่สำคัญของบิดา มารดา รวมถึงผู้ปกครองทุกคน เพื่อให้เด็กได้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพทั้งทางร่างกาย และจิตใจต่อไปในอนาคตนั่นเอง


พญ. กนกอร จ่างจรูญโรจน์

พญ. กนกอร จ่างจรูญโรจน์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านกุมารเวชศาสตร์ทั่วไป


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: ศูนย์กุมารเวช
ชั้น 2A โรงพยาบาลสุขุมวิท
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 22.00 น.
โทร. 02-391-0011 ต่อ 314, 317, 318

ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

facebook instagram line youtube
VAR_INCL_CK