มาทำความรู้จักกับไวรัสตับอักเสบกันเถอะ

โรคไต

เนื่องในวันที่ 28 กรกฏาคมของทุกปีเป็นวันตับอักเสบโลก เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงภัยใกล้ตัวของไวรัสตับอักเสบ ที่นอกจากจะทำให้เกิดตับอักเสบแล้วบางชนิดยังนำไปสู่ภาวะตับแข็ง และมะเร็งตับได้ จึงขอเชิญชวนมาทำความรู้จักกับไวรัสตับอักเสบประเภทต่าง ๆ กัน

ไวรัสตับอักเสบที่มีความสำคัญทางคลีนิกในปัจจุบันได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี และ อี แต่ในวันนี้จะกล่าวถึงชนิดที่พบได้บ่อยในไทย คือ ไวรัสตับอักเสบเอ บี และซี

ไวรัสตับอักเสบเอ

การติดต่อ
ติดต่อจากคนสู่คนผ่านทาง fecal-oral route คือรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อไวรัสเข้าไป เช่น ผักสด น้ำแข็ง อาหารทะเลจำพวกมีเปลือกเช่น กุ้ง ปู หอยที่ปรุงไม่สุก เมื่อเชื้อเข้าสู่ปาก ไปสู่ลำไส้ และเข้าผ่านหลอดเลือดเลือดไปยังตับ จากตับไปสู่น้ำดี และถูกปล่อยกลับออกมาในลำไส้และขับออกมากับอุจจาระในที่สุด

อาการแสดง

  • เชื้อมีระยะฟักตัว 2-4 สัปดาห์
  • ในเด็กต่ำกว่า 6 ปีมักไม่มีอาการ
  • มากกว่า 70% ในเด็กอายุมากกว่า 6 ปีและในผู้ใหญ่ มาด้วยไข้ ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย จุกแน่นชายโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียนนำมาก่อนหนึ่งสัปดาห์ หลังจากนั้น จะมีตาเหลืองตัวเหลือง ปัสสาวะเหลืองเข้ม ผู้ป่วยอาจตรวจพบมีตับอักเสบได้นาน 2-8 สัปดาห์ จากนั้นจะหายได้เอง และกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
  • ประมาณ 5% ของผู้ป่วยอาจมีดีซ่านยาวนานมากกว่า 10 สัปดาห์ จากการคั่งของน้ำดีในตับ โดยผู้ป่วยจะมีอาการคันตามตัว และน้ำหนักลดร่วมด้วย
  • มีเพียง < 0.5% เท่านั้นที่ผู้ป่วยอาจมีตับอักเสบรุนแรงจนถึงตับวายเฉียบพลัน ทำให้เสียชีวิตได้ มักเป็นผู้ป่วยที่มีโรคตับอักเสบหรือตับแข็งอยู่เดิม
  • 3-20% ของผู้ป่วย มีอาการกลับเป็นซ้ำหลังจากอาการดีขึ้นแล้วในครั้งแรก โดยมักเกิดหลังครั้งแรก 6-10 สัปดาห์ และหายขาดใน 24 สัปดาห์
  • เมื่อผู้ป่วยหายแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต และไม่ก่อให้เกิดเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง

การวินิจฉัย
ทำได้โดยการตรวจเลือด

การรักษา
ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและหายเองได้ การรักษามักเป็นการประคับประคองเช่น ให้ยาแก้อาเจียน ให้สารน้ำอย่างเพียงพอ

การป้องกัน ทำได้โดย

  1. รับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาดถูกสุขลักษณะ
  2. อาหารประเภทหอยปรุงให้สุกด้วยความร้อน 85-90 องศาเซลเซียศนานมากกว่า 4 นาที
  3. ล้างมือหลังจากการใช้ห้องน้ำ ล้างมือก่อนกินอาหาร
  4. ในสถานรับเลี้ยงเด็กมีการกำจัดอุจจาระให้ถูกหลักสุขาภิบาล
  5. ฉีดวัคซีนป้องกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีโรคตับอักเสบเรื้อรังหรือตับแข็งอยู่เดิม รวมถึงผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือจะเดินทางไปประเทศเสี่ยง

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ ในปัจจุบันมี 2 ชนิดคือ

  1. Formalin-inactivated hepatitis A vaccine ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อรวม 2 เข็มห่างกัน 6-12 เดือน
  2. Live attenuated hepatitis A vaccine ใช้ฉีดครั้งเดียวใต้ผิวหน้ง

บุคคลที่แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ ได้แก่

  • ผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรังอยู่เดิม
  • ผู้ประกอบอาชีพปรุงอาหาร
  • บุคคลากรที่ทำงานในศูนย์รับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล
  • ชายรักร่วมเพศ
  • ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือนักท่องเที่ยวที่ต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีความชุกของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอสูง

ไวรัสตับอักเสบบี

เป็นไวรัสที่เป็นปัญหาสำคัญอย่างมากในโลก เนื่องจากเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดตับแข็งและมะเร็งตับได้

การติดต่อ

  • ส่วนใหญ่แล้วเกิดการติดเชื้อในทารกขณะคลอดจากการสัมผัสเลือดแม่ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
  • ติดเชื้อจากการได้รับบริจาคเลือด ฟอกไต ปลูกถ่ายอวัยวะ
  • ติดผ่านผิวหนังที่เป็นแผลเมื่อสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่นติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มฉีดยา เข็มสำหรับการสักเจาะร่างกาย ร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ
  • สัมผัสเลือดผ่านการใช้ของใช้มีคมร่วมกันเช่น แปรงสีฟัน มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ
  • ไม่ติดต่อทางการให้นมบุตร
  • ไม่ติดต่อทางอาหารและน้ำ

การดำเนินของโรค อาการและอาการแสดง
ขึ้นอยู่กับอายุที่ได้รับเชื้อ

  • หากมาด้วยการติดเชื้อเฉียบพลัน ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยอาจมาด้วยไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ตัวเหลือง ตาเหลือง จุกท้องชายโครงขวา แต่ร่างกายมักกำจัดเชื้อให้หมดไปจนหายขาดได้เองภายในหกเดือน มีเพียง 5-10% ของผู้ได้รับเชื้อเท่านั้นที่กลายเป็นโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง
  • หากติดเชื้อในทารกแรกคลอดจนถึงเด็กอายุต่ำกว่าห้าปี ผู้ป่วยมีโอกาสกลายเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ได้สูงถึง 90% โดยในวัยแรกคลอดถึง 20 ปีมักยังไม่มีอาการ ช่วงอายุ 20-40 ปี บางรายไม่มีอาการ บางรายมาด้วยอาการตับอักเสบรุนแรง (flare) ในเวลาไม่กี่เดือนแล้วเข้าสู่ระยะโรคสงบ บางรายเกิดการอักเสบเป็น ๆ หาย ๆ หรืออักเสบต่อเนื่องเป็นปี ทำให้เกิดผังผืดในตับ เมื่อเข้าสู่วัยกลางคนอาจมาด้วยอาการแสดงจากภาวะตับแข็ง เช่น ท้องมานน้ำ ขาบวม ดีซ่าน อาเจียนเป็นเลือด และมะเร็งตับ

การรักษา

  • ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อทุกรายที่ต้องได้รับการรักษาด้วยการรับประทานยาต้านไวรัส
  • ในไวรัสตับอักเสบบีเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องได้ยาต้านไวรัส เพราะมากกว่า 50% ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้เอง แต่ควรได้รับการตรวจติดตามประเมินความรุนแรงเป็นระยะ และรักษาแบบประคับประคองเรื่องคลื่นไส้ อ่อนเพลีย ควรได้รับสารอาหารสารน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ
  • สำหรับไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังนั้น ผู้ป่วยทุกรายควรได้รับการติดตามโดยแพทย์ เพื่อเฝ้าระวังภาวะตับอักเสบ ตับแข็งและมะเร็งตับ แต่การรักษาโดยการให้ยาต้านไวรัส จะให้ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการรักษา เช่นอายุมากกว่า 30 ปี มีปริมาณเชื้อไวรัสตามเกณฑ์ที่กำหนด มีตับอักเสบ มีผังผืดในตับ ตับแข็ง หรือมีโรคร่วม
  • เป้าหมายของการรักษาคือกดเชื้อให้ได้นานที่สุด เพื่อลดภาวะตับแข็ง และลดการเกิดมะเร็งตับ

การป้องกัน

ฉีดวัคซีนป้องกัน

  • เด็กแรกคลอดทุกรายควรได้รับวัคซีนทันทีหลังคลอด
  • กลุ่มเสี่ยงเช่นชายรักร่วมเพศ multiple partners
  • ผู้ป่วย HIV ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี
  • ผู้ป่วยฟอกไต
  • บุคคลากรทางการแพทย์

ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีในหญิงตั้งครรภ์ทุกราย
ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังในปริมาณสูงนั้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจประเมินการให้ยาต้านไวรัสในสัปดาห์ที่ 24-28 ไปจนถึงอย่างน้อยสามเดือนหลังคลอดเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากแม่ไปสู่ลูกขณะคลอด

ไวรัสตับอักเสบซี

การติดต่อ

ติดต่อทางเลือดและเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบบี โดยมีกลุ่มเสี่ยง เช่น

  • ผู้ใช้ยาเสพติดโดยใช้เข็มร่วมกัน
  • ผู้ได้รับการสัก เจาะผิวหนังโดยใช้เข็มร่วมกัน
  • ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย
  • ผู้ที่ได้รับบริจาคเลือดหรือปลูกถ่ายอวัยวะก่อนปี พ.ศ. 2535 ซึ่งยังไม่มีระบบการคัดกรองไวรัสตับอักเสบซีที่เพียงพอ
  • ผู้ป่วยฟอกไตเป็นประจำ
  • ผู้มีมารดาติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
  • ผู้ป่วยเอชไอวี ผู้ป่วยโรคตับ

อาการแสดง

ในการติดเชื้อเฉียบพลัน บางรายมาด้วยอ่อนเพลีย คลื่นไส้ ตรวจเลือดพบตับอักเสบ แต่ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ ทำให้ตรวจพบเมื่อเข้าสู่ระยะเรื้อรัง (ติดเชื้อมากกว่าหกเดือน) ไปแล้ว ซึ่งภายใน 20-30 ปีต่อมาหลังการติดเชื้อมักจะมาด้วยตับแข็ง และมะเร็งตับได้ โดยผู้ป่วยตับแข็งจากไวรัสตับอักเสบซี มีโอกาสเกิดมะเร็งตับได้ถึง 2-5% ต่อปี

การรักษา

ไวรัสตับเสบซีเฉียบพลัน
มักจะยังไม่ได้ให้ยาต้านไวรัสในทันที เนื่องจากผู้ป่วยประมาณ 20-50% มีโอกาสหายขาดเองได้ แพทย์จะทำการนัดผู้ป่วยมาตรวจเลือด HCV RNA ซ้ำที่ 12-16 สัปดาห์ถัดมา ถ้าไม่พบ HCV RNA แล้วแสดงว่าร่างกายผู้ป่วยสามารถกำจัดเชื้อจนหายขาดเองได้ แต่หากยังพบเชื้อ แพทย์จะพิจารณาให้ยารับประทานเป็นเวลา 8-12 สัปดาห์ก็จะมีโอกาสหายขาดได้เช่นกัน

ไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง
สำหรับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังนั้น ควรได้รับการรักษาทุกราย โดยมุ่งหวังการรักษาให้หายขาด ยกเว้นผู้ป่วยที่มีโรคร่วมรุนแรงจนไม่สามารถรับยาได้ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจประเมินเบื้องต้นหลายอย่างก่อนเริ่มการรักษา เช่นตรวจค่าการทำงานของตับ ตรวจหาภาวะตับแข็งและผังผืดของตับ ตรวจหาโรคร่วม ตรวจปริมาณเชื้อและสายพันธ์ก่อนวางแผนการรักษา เพื่อเลือกสูตรยาให้เหมาะสมโดยมีระยะเวลาการรักษา 12-24 สัปดาห์

ไวรัสตับอักเสบซี ต่างจากไวรัสตับอักเสบบีที่เมื่อรักษาหายแล้ว ร่างกายไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ ดังนั้นหากไม่ป้องกันหรือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงก็จะมีโอกาสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีซ้ำได้อีก

โดยสรุป จะเห็นว่า ไวรัสตับอักเสบเรื้อรังบีและซีเป็นภัยเงียบที่มีช่วงที่ไม่แสดงอาการขณะติดเชื้อ แต่มีอาการให้เห็นเมื่อมีตับอักเสบ ตับแข็งหรือมะเร็งตับไปแล้ว จึงแนะนำให้มีการตรวจเลือดคัดกรองหาไวรัสแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะในประชาชนกลุ่มเสี่ยงดังที่กล่าวไปแล้ว เพื่อจะได้เข้ารับการรักษาเมื่อพบว่ามีการติดเชื้อ และแนะนำให้ติดตามกับแพทย์อย่างต่อเนื่องในการคัดกรองหามะเร็งตับ อีกทั้งยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยงในเป็นโรคด้วย



พญ.วริศรา รัชปัตย์

พญ.วริศรา รัชปัตย์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรกรรมระบบทางเดินอาหารและตับ


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ
ชั้น 1A โรงพยาบาลสุขุมวิท
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 20.00 น.
โทร. 02-391-0011 ต่อ 225-227

VAR_INCL_CK