ปวดข้อ

โรคข้อ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งมีมากกว่า 100 โรค ทำให้เกิดการบวม ปวด และลดการเคลื่อนไหวของข้อ และเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อต่างๆ ของร่างกาย สำหรับโรคข้ออักเสบชนิดที่เรื้อรัง จำเป็นต้องรักษาไปตลอดชีวิต สาเหตุที่แท้จริงของโรคข้ออักเสบหลายๆ ชนิด ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

อาการปวดข้อที่พบได้บ่อย ได้แก่

อาการปวดข้อที่พบร่วมกับไข้หวัด ซึ่งนอกจากจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาจมีอาการปวดตามข้อร่วมด้วย มักไม่มีอาการอักเสบ บวมแดงที่ข้อ อาการจะดีขึ้นพร้อมไข้หวัด

อาการปวดข้อจากการออกกำลังกาย หรือใช้งานอย่างหนัก มักเป็นในข้อที่ใช้งานมาก เช่นข้อเข่าที่ใช้ในการเดิน หรือเล่นกีฬาอย่างหนัก

โรคข้อรูมาตอยด์ ซึ่งมีอาการอักเสบของเยื่อบุภายในของข้อ ทำให้เกิดการบวม, แดง, ปวด การอักเสบเรื้อรังทำให้มีปวดข้อ และขยับเคลื่อนไหวข้อได้ลดลง อาการปวดตึงข้อนิ้วมือ กำมือไม่ได้ มักเป็นเวลาตื่นนอน อาการมักเป็นหลายข้อ และมักจะเป็นในข้อข้างซ้าย-ขวา ระดับเดียวกัน สมมาตรกัน

โรคข้อเสื่อมตามอายุ ซึ่งมีการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่ปกป้อง และครอบคลุมผิวของกระดูกข้อ ไม่ให้กระดูกข้อ 2 ชิ้นสบกัน ทำให้เกิดความปวด และขยับได้น้อยลง เมื่อกระดูกถูบนกระดูกมักพบที่ข้อเข่า หากมีอาการน้อยก็จะปวดเฉพาะเวลาขยับหรือเดิน แต่ถ้าอาการมากจะปวดตลอดเวลา รวมถึงข้อบวมแดงและโก่งผิดรูป

โรคข้ออักเสบ หรือเก๊าต์ มักเป็นในเพศชายที่มีระดับยูริคในเลือดสูง ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า มักเป็นข้อที่มีการอักเสบ บวมแดงมากที่สุด

"มาออกกำลังกายกันเพื่อสุขภาพที่ดี"

การรักษานอกเหนือจากการใช้ยา

ในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง ควรได้มีการปฏิบัติตนให้ถูกต้องทุกวัน นอกเหนือจากการรับประทานยา

  • การออกกำลังกาย : การออกกำลังกายที่ถูกต้องและสม่ำเสมอเป็นประจำเป็นสิ่งสำคัญ นอกเหนือจากการรับประทานยา เพราะการออกกำลังกายช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทำให้ข้อมีความยืดหยุ่น และปกป้องกระดูกข้อ การออกกำลังกาย แบ่งอย่างกว้างๆ เป็น 2 แบบ
    • การออกกำลังกายเพื่อการรักษา แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจะเป็นผู้ช่วยคุณในเรื่องนี้ โดยวางแผนการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับคนไข้เป็นรายๆ ไป การออกกำลังกายแบบแอโรบิค โดยทั่วไปใช้ได้ดีกับผู้ป่วยโรคข้อ เช่น การว่ายน้ำ เพราะหลีกเลี่ยงการทำงานหนักของข้อ
    • การออกกำลังกายเพื่อการสันทนาการ รวมความทั้งหมดของการเคลื่อนไหวของร่างกาย เพื่อการหย่อนใจหรือทำให้ร่างกายและจิตใจสดชื่น ควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่มีการกระทบกระแทกใช้ความรุนแรง (Contact Sport) เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล เป็นต้น
  • กายภาพบำบัด / กิจกรรมบำบัด  : กายภาพบำบัด จะช่วยในเรื่องเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และการเพิ่มพิสัยของข้อให้ขยับได้มากขึ้น ถ้ามีการติดขัดของข้อ รวมทั้งการบำบัดการปวดโดยไม่ต้องใช้ยา
  • พักผ่อน : การพักผ่อนที่เหมาะสม ช่วยลดอาการปวดได้ ต้องระวังไม่ให้พักผ่อนมากเกินไป เนื่องจากจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ยได้จากการนอนนานๆ
  • ความร้อน และความเย็น : การใช้ความร้อน หรือเย็นช่วยลดความเจ็บปวดลงได้ชั่วคราว การให้ความร้อนสามารถให้ได้ในรูปน้ำอุ่น, กระเป๋าน้ำร้อน, กระเป๋าไฟฟ้า เป็นต้น ความเย็นสามารถให้ได้ในรูปน้ำแข็ง เจลเย็น (cold pack) เป็นต้น
  • อาหาร : อาหารที่ถูกโภชนาการ และการควบคุมน้ำหนักที่เหมาะสมกับส่วนสูง ช่วยลดการปวดของข้อบางชนิดได้

สัญญาณเตือนโรคข้ออักเสบเรื้อรัง

    ถ้าคุณมีอาการดังต่อไปนี้มากกว่า 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์
  • ปวดข้อ
  • ข้อติด
  • ข้อบวม

การพบแพทย์ในระยะเริ่มต้นของโรค ช่วยชะลอความเสียหายของข้อ ยิ่งโรคข้ออักเสบเป็นนานเท่าไรความเสียหายต่อข้อยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

อนึ่งกรณีที่คุณมีการบาดเจ็บของข้อที่เกิดจากการใช้งานมากเกินไป หรือมีการเกิดอุบัติเหตุต่อข้อ เพิ่มอัตราเสี่ยงในการเป็นโรคข้อนั้นๆ เสื่อมก่อนเวลาอันสมควร การออกกำลังกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อให้แข็งแรงอาจลดอัตราเสี่ยงดังกล่าวได้ ควรปรึกษาแพทย์สำหรับโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมเช่นกัน

เรียบเรียงโดย : นพ. ชัยสิทธิ์ ศุภประการ
ศูนย์ : เวชศาสตร์ฟื้นฟู
ปรึกษาแพทย์ เวชศาสตร์ฟื้นฟู : 02-391-0011

VAR_INCL_CK