ผ่าตัดไซนัสผ่านกล้องเอนโดสโคป

ผ่าตัดไซนัสผ่านกล้องเอนโดสโคป

ในปัจจุบัน ผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป มลภาวะทางอากาศที่มีควันและฝุ่นละองจำนวนมาก จึงทำให้ผู้คนเจ็บป่วยง่ายขึ้น เป็นภูมิแพ้กันมากขึ้นนั่นเอง แต่นี่ ไม่ใช้เพียงสาเหตุเดียวที่ทำให้เกิดไซนัสอักเสบ ยังมีปัจจัยอีกหลาย ๆ ประการที่ทำให้ไซนัสอักเสบได้

เมื่อพูดถึงเรื่องการรักษาไซนัสอักเสบแล้ว คงหนีไม่พ้นเรื่องของการผ่าตัด ที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า เป็นวิธีการรักษาไซนัสอักเสบที่ได้ผลค่อนข้างดี ซึ่งในปัจจุบัน เราใช้เทคนิคการรักษาที่เรียกว่า “การผ่าตัดไซนัสอักเสบผ่านกล้องเอนโดสโคป”

การผ่าตัดไซนัสผ่านกล้องเอนโดสโคป คืออะไร?

การผ่าตัดโพรงจมูกและไซนัสด้วยกล้องเอนโดสโคป คือ การผ่าตัดโดยสอดกล้องเอนโดสโคปผ่านทางช่องจมูก (Endoscopic Sinus Surgery) เพื่อรักษาโรคต่าง ๆ ในโพรงจมูกและไซนัส ได้แก่ โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง, โรคริดสีดวงจมูก, โรคผนังกั้นจมูกคด, โรคเนื้องอกของโพรงจมูกและไซนัส รวมทั้งยังสามารถดัดแปลงเพื่อรักษา โรคของอวัยวะใกล้เคียงได้อีกด้วย เช่น ภาวะน้ำในสมองรั่วเข้าโพรงจมูก, ถุงน้ำตาอักเสบเรื้อรัง, โรคที่ต้องผ่าตัดเพื่อลดความดันในกระบอกตา และโรคเนื้องอกของต่อใต้สมอง

ผ่าตัดไซนัสอักเสบผ่านกล้องเอนโดสโคป ดีกว่าผ่าตัดแบบเดิมอย่างไร?

การผ่าตัดไซนัสผ่านกล้องเอนโดสโคปนั้น นอกจากจะช่วยให้แพทย์เห็นภาพของอวัยวะหรือบริเวณที่จะต้องทำการรักษาได้อย่างชัดเจน และให้การรักษาอย่างถูกต้องแม่นยำแล้ว ยังมีข้อดีกว่าการผ่าตัดแบบเดิม คือ

  • มองเห็นบริเวณที่ผ่าตัดได้อย่างชัดเจน
  • สามารถผ่าตัดได้ทั้งในบริเวณที่อยู่ด้านหน้าตรง ๆ และที่อยู่ด้านข้างได้
  • ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดน้อย เลือดออกน้อย เจ็บแผลน้อย ฟื้นตัวเร็ว ไม่มีแผลภายนอก
  • ผลการผ่าตัดดีกว่าแบบเดิม, ลดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด และการบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียง

หลังผ่าตัด ควรปฏิบัติตนอย่างไร?

  1. ผู้ป่วยจะมีแผลในโพรงจมูกและไซนัส และวัสดุห้ามเลือดในช่องจมูกหลังผ่าตัด อาจมีอาการเจ็บจมูกจากแผลผ่าตัดเล็กน้อย อาจมีน้ำมูกหรือน้ำลายปนเลือดออกมาได้ ในช่วงหลังผ่าตัดเสร็จใหม่ ๆ อาจทำให้ผู้ป่วยต้องหายใจทางปาก อาจทำให้มีอาการเจ็บคอ คอแห้งได้ ควรจิบหรือดื่มน้ำบ่อย ๆ ห้ามดึงวัสดุห้ามเลือดในโพรงจมูกออกเอง เพราะอาจทำให้มีเลือดออกมากได้
  2. หลังการผ่าตัด 24-48 ชั่วโมงแรก เยื่อบุจมูกอาจบวมมากขึ้น ดังนั้นจึงควรนอนศีรษะสูง อมและประคบน้ำแข็งบ่อย ๆ บริเวณหน้าผากหรือลำคอ เพื่อลดอาการบวมและเลือดออกบริเวณที่ทำการผ่าตัด
  3. แพทย์จะให้ผู้ป่วยพักรักษาตัวที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ แต่ควรหลีก เลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรงๆ การแคะจมูก หรือการกระทบกระเทือนบริเวณจมูก เพราะอาจทำให้มีเลือดออกจากแผลในโพรงจมูกและไซนัสได้ ถ้ามีเลือดออกจากจมูก หรือไหลลงคอ ควรนอนพัก ยกศีรษะสูง นำน้ำแข็งหรือ Cold Pack มาประคบบริเวณหน้าผากหรือคอ ถ้าเลือดออกไม่หยุด หรือออกมากผิดปกติ ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ทันที
  4. หลังจากที่แพทย์เอาวัสดุห้ามเลือดออกจากโพรงจมูกแล้ ผู้ป่วยควรล้างทำความสะอาดโพรงจมูกและแผลผ่าตัดด้วยน้ำเกลือ เพื่อป้องกันการเกิดสะเก็ดแผล
  5. หลังกลับบ้านแล้ว แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาทำความสะอาดในโพรงจมูกที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ประมาณ 3-4 ครั้ง และห่างออกเป็นระยะ เช่น ทุก 2 สัปดาห์, 1 เดือน จนกว่าแผลจะหายดี

การดูแลหลังผ่าตัดนี้ เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งสำหรับความสำเร็จในการรักษาโดยวิธีผ่าตัดนี้ โดยปกติ หลังผ่าตัดประมาณ 4 สัปดาห์ แผลในโพรงจมูกและไซนัสจะหายเป็นปกติ อาการคัดจมูก คัน จาม น้ำมูกไหล เสมหะลงคอจะดีขึ้นหลังการผ่าตัดประมาณ 2-4 สัปดาห์

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัด

  1. การมีเลือดออกใน หรือรอบดวงตา จะค่อย ๆ หายไปเองภายใน 1-2 เดือน แต่หากเลือดออกมากอาจกระทบกระเทือนต่อประสาทตา ทำให้การมองเห็นลดลง
  2. ท่อน้ำตาอุดตัน เนื่องจากท่อน้ำตาซึ่งช่วยระบายน้ำตาลงสู่โพรงจมูกอยู่ใกล้กับบริเวณที่ทำการผ่าตัด จึงอาจเกิดการกระทบกระเทือน หรือบาดเจ็บจนมีการอุดตันได้ ทำให้น้ำตาไหลท้นจากตาอยู่ตลอดเวลา การอุดตันนี้อาจเป็นเพียง ชั่วคราว
  3. ภาวะน้ำในสมองรั่วเข้ามาในโพรงจมูก เกิดจากการกระทบกระเทือน หรือบาดเจ็บต่อเพดานจมูก
  4. การบาดเจ็บต่อด้วยตา ทำให้ดวงตามัวลง


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :

ศูนย์หู คอ จมูก โรงพยาบาลสุขุมวิท
เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08:00 - 20:00 น.
โทร. 02-391-0011 ต่อ 608, 612