5 มะเร็งโรคร้ายภัยของสตรี

มะเร็งรังไข่,ตรวจภายใน,

มะเร็งเต้านม

เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในผู้หญิง ส่วนในผู้ชายก็สามารถพบมะเร็งเต้านมได้เช่นกันแต่ไม่บ่อยนัก โดยประมาณ 90% ของมะเร็งเต้านมเกิดจากต่อมน้ำนมและท่อน้ำนม จึงมีโอกาสมากที่จะพบการเกิดมะเร็งในเต้านมทั้งสองข้าง ทั้งในระยะแรกและหลังจากการตรวจวินิจฉัยอย่างไรก็ดีการตรวจพบมะเร็งในระยะแรกจะช่วยให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูง

ปัจจัยเสี่ยง

  • อายุ ในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึน
  • มีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านม โดยผู้ป่วยที่เกิดมะเร็งเต้านมขึ้นที่ข้างหนึ่งมีความเสี่ยง 3-4 เท่าในการเกิดก้อนมะเร็งขึ้นที่เต้านมอีกข้าง
  • มีประวัติการเป็นมะเร็งรังไข่ เนื่องจากการเป็นมะเร็งรังไข่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสฮอร์โมน จึงเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น
  • การกลายพันธุ์ของยืน BRCA1 หรือ BRCA2 (BRCA ย่อมาจาก BReast Cancer gene) มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม และ การมีประวัติมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ ในครอบครัวตั้งแต่อายุน้อย
  • การสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮฮร์โมนเพศหญิงที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงของลักษณะทางเพศ โดยพบว่าการสัมผัสกับเอสโตรเจนเป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม
  • ลักษณะของการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ความอ้วน ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การได้รับรังสีในปริมาณสูง

การตรวจประเมินเบื้องต้นเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะต้นๆ ซึ่งจะส่งผลให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จสูง โดยการตรวจประเมินมะเร็งเต้านมเบื้องต้นสามารถทำได้ดังนี้

  • การคลำเต้านมด้วยตนเอง
  • การตรวจด้วยวิธีแมมโมแกรม (mammogram) แนะนำให้ผู้หญิงอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมทุกๆ 1-2 ปี
  • การตรวจด้วยอัลตราซาวด์และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance imaging :MRI) จะใช้ในกรณีที่ผลของแมมโมแกรมตรวจพบความผิดปกติและต้องการตรวจหาเพื่อให้แน่ชัดยิ่งขึ้น

การรักษา

การรักษามะเร็งเต้านมอาศัยทีมแพทย์ในสาขาต่างๆ เช่น ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ และ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง มาร่วมกันวางแผนการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกวิธีการรักษาของแพทย์ เช่น

  • ขนาด ตำแหน่ง และ ลักษณะของเซลล์มะเร็ง
  • ระยะโรคและการกระจายของมะเร็ง
  • อายุและสุขภาพของผู้ป่วย
  • ตัวรับ ฮอร์โมนของมะเร็ง

1.การผ่าตัด แบ่งออกเป็น

  • การผ่าตัดเต้านมทั้งข้าง (Mastectomy)
  • การผ่าตัดเฉพาะก้อนมะเร็ง (Lumpectomy) ในผู้ป่วยมะเร็งระยะต้น
  • การผ่าตัดเต้านมพร้อมกับการสร้างเต้านมใหม่

2.การฉายแสง

3.การรักษาด้วยยา ได้แก่

  • ยาเคมีบำบัด
  • ยามุ่งเป้า
  • ยาต้านฮอร์โมน
  • ยาภูมิคุ้มกันบำบัด

โดยแพทย์อาจใช้การรักษาอย่างใดอย่างหนึ่งหรือใช้การรักษาหลายๆอย่างร่วมกัน ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค อายุและความแข็งแรงของผู้ป่วย เป็นต้น

มะเร็งปากมดลูก

คือ
เกิดขึ้นในเซลล์ปากมดลูกซึ่งอยู่บริเวณช่วงล่างของมดลูกและเชื่อมต่อกับช่องคลอด โรคมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดฮิวแมนแปปิโลมาไวรัส (Human Papillomavirus) หรือ เอชพีวี (HPV) ซึ่งมักจะติดต่อทางเพศสัมพันธ์

เมื่อร่างกายได้รับเชื้อ HPV เป็นครั้งแรก ระบบภูมิคุ้มกันจะพยายามปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตามเชื้อ HPV อาจทำให้เซลล์ที่ปากมดลูกเกิดความผิดปกติและกายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและการฉีดวัคซียมะเร็งปากมดลูกเพื่อป้องกันเชื้อ HPV จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ ในระยะแรกที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกมักจะไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ แต่ในภายหลังเมื่อเริ่มเป็นหนักมากขึ้นร่างกายจะเริ่มแสดงอาการผิดปกติ เช่น มีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือ ตกขาวผิดปกติ และอาจมีอาการปวดร่วมด้วยได้

สาเหตุโรคมะเร็งปากมดลูก

เชื้อ HPV มีบทบาทสำคัญในการเกิดมะเร็งปากมดลูก เมื่อเซลล์ปกติที่อยู่บริเวณปากมดลูกเกิดการกลายพันธุ์จะส่งผลให้เกิดเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือ รอยโรคก่อนเป็นมะเร็งได้ อย่างไรก็ตามคนส่วนมากที่ได้รับเชื้อไวรัส HPV เซลล์อาจจะยังไม่พัฒนาเป็นมะเร็งตั้งแต่แรกที่ได้รับเชื้อ ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมหรือรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลอาจส่งผลต่อการเกิดโรคด้วยเช่นกัน

เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

ผู้ป่วยควรทำการนัดพบแพทย์เมื่อพบลักษณะอาการที่ผิดปกติหรือไม่พึงประสงค์ ดังนี้

  • มีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดได้แก่ เลือดออกกระปริดกระปรอย เลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ประจำเดือนมาผิดปกติประจำเดือนมานานขึ้นหรือมากขึ้นผิดปกติ หรือมีเลือดออกหลังจากหมดประจำเดือนแล้ว
  • มีตกขาวผิดปกติ ได้แก่ ตกขาวปริมาณมากขึ้น ตกขาวมีกลิ่นเหม็นหรือมีเลือดปน
  • ปวดท้องหน่วงท้องน้อยโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือ มีอาการเจ็บหลังจากมีเพศสัมพันธ์

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อมะเร็งปากมดลูก

ปัจจัยเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงขึ้นได้แก่

  • การมีคู่นอนหลายคน หรือ การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
  • การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย
  • การได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นๆ อย่างเช่น โรคติดเชื้อคลามีเดีย (Chlamydia) โรคหนองในแท้ (Gonorrhea) โรคซิฟิลิส (Syphilis) และ โรคติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์(HIV/AIDS)
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดีจะมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่าคนทั่วไปโดยเฉพาะหากระบบภูมิคุ้มกันต่ำ
  • การสูบบุหรี่

การป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่ป้องกันได้ เริ่มจากแนะนำให้ลดปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลลูก ได้แก่ หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคนและงดสูบบุหรี่ เป้นต้น นอกจากนี้ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV (HPV Vaccine) ซึ่งสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกและรอยโรคก่อนเป็นมะเร็งได้ นอกจากนี้การป้องกันการติดเชื้อ HPV ที่มีความเสี่ยงสูงยังสามารถป้องกันมะเร็งปากช่องคลอด ช่องคลอด ทวารหนัก และมะเร็งช่องปากได้อีกด้วย โดยทั่วไปแนะนำให้ฉีด HPV วัคซีน ที่ช่วงอายุ 11 หรือ 12 ปี ถึงอายุ 26 ปี และได้ผลดีที่สุดในคนที่ไม่เคยได้รับเชื้อหรือไม่เคยมีเพศสัมสันธ์ อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้วแพทย์ก็ยังแนะนำให้ไปตรวจภายในและคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามปกติ

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมีทั้งวิธีการตรวจ แปปสเมียร์ (Pap smear) และวิธีตรวจ เอชพีวี ดีเอ็นเอ (HPV DNA) สำหรับการตรวจแปปสเมียร์ แพทย์จะทำการป้ายเซลล์จากปากมดลูกเพื่อเก็บไปตรวจความผิดปกติ หรือ ปัจจุบันใช้วิธี Liquid-base cytology (LBC) เป็นการเก็บเซลล์จากปากมดลูกใส่ในของเหลวเพื่อตรวจหาเซลล์ผิดปกติ ซึ่งให้ผลตรวจที่ชัดเจนมากขึ้น การตรวจแปปสเมียร์หรือ LBC จะสามารถตรวจหาได้ทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ที่มีโอกาสเกิดมะเร็งปากมดลูกอย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการตรวจเชื้อ HPV DNA สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกร่วมด้วย เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจคัดกรองมากขึ้น

ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์สำหรับแนวทางการตรวจคัดกรองมดลูก โดยทั่วไปจะแนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองมดลูกในหญิงที่อายุ 21 ปี ขึ้นไป

มะเร็งลำไส้ใหญ่

เป็นมะเร็งที่เกิดที่ลำไส้ส่วนปลายของระบบทางเดินอาหาร พบมากเป็นอันดับสามของมะเร็งทุกชนิดและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับที่สองในประเทศไทย

อาการโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • ท้องอืด ท้องผูกหรือท้องเสียสลับกับท้องผูก
  • มีเลือดปนมาในอุจจาระ
  • มีเลือดออกทางทวารหนัก
  • อุจจาระมีขนาดเล็กหรือบางลง
  • อาการจุกเสียด แน่น หรือปวดท้องบ่อยๆ
  • ซีด อ่อนเพลีย น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อาจคลำได้ก้อนในช่องท้องมักพบด้านขวาตอนล่าง
  • ปวดเบ่งบริเวณทวารหนักคล้ายปวดอุจจาระตลอดเวลา

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • การได้รับถ่ายทอดทางพันธุกรรม พ่อแม่ หรือ ญาติพี่น้องและทายาทสายตรง
  • มีประวัติพบเนื้องอก (Polyps) ในลำไส้ หากพบมากมีแนวโน้มเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้อักเสบเรื้อรัง
  • ประวัติการเจ็บป่วยเดิมเช่นเคยเป็นมะเร็งรังไข่,มดลูก,เต้านมมีโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีโอกาสเป็นมะเร็งได้ง่าย
  • ผู้ที่มาอายุมากกว่า 50ปี
  • การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
  • การรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์หรือประเภทเนื้อแดง ที่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนนานๆมากเกินไป
  • การรับสารพิษเข้าสู่ร่างกายและมีการตกค้างที่ลำไส้ มักพบสารพิษในอาหารประเภท ปิ้ง ย่าง อาหารหมักดอง และ สารเคมีจากผักที่ไม่สะอาด
  • ผู้ที่มีประวัติดื่มสุรา หรือ สูบบุหรี่
  • ผู้ที่เป็นโรคอ้วน โดยเฉพาะผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายเกินมาตรฐาน (มากกว่า 25 หรือมีรอบเอวมากกว่า 36 นิ้ว)

การป้องกันการเกิดมะเร็ง

  • การค้นหามะเร็งควรเริ่มทำตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไปในคนปกติ คนที่มีโอกาสเสี่ยงครอบครัวเคยมีประวัติเป็นมะเร็งควรทำการตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ หลีกเลี่ยง อาหารที่มีไขมันสูง

การตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรก

  • การตรวจหาเลือดในอุจจาระ 2 ครั้งต่อปี
  • การเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่ โดยใส่แป้งเข้าทางทวารหนัก (Barium enema)
  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (CT - Colonography)
  • การตรวจโดยการส่องกล้อง Singmoidscopy และ Colonoscopy
  • การตรวจเลือดดูระดับโปรตีนชนิดหนึ่งที่สร้างโดยเซลล์มะเร็ง CEA

การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • การผ่าตัด เป็นวิธีที่ดีที่สุดหลังจากแพททย์ได้พบว่ามีชิ้นเนื้อในลำไส้จากการตรวจด้วยวิธีส่องกล้องทางทวารหนัก และ มีความจำเป็นต้องผ่าตัด
  • การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)
  • การฉายแสง (รังสีรักษา)

มะเร็งปอด

คือ มะเร็งปอดหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆของคนไทย ซึ่งมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในโลก และ เป็นโรคที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในกลุ่มโรคมะเร็ง โดยส่วนมากผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดจะไม่แสดงอาการในระยะแรก แต่จะมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเกิดโรคเมื่อมีการเจริญเติบโตของมะเร็งมากขึ้น อย่างไรก็ตามมะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด

ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ แต่มีปัจจัยบางประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดได้

  • บุหรี่ สารพิษในบุหรี่ สามารถทำลายเซลล์ปอดจนเกิดความผิดปกติของเซลล์
  • สารพิษและมลภาวะในสิ่งแวดล้อม มลภาวะในสิ่งแวดล้อม เช่น การสัมผัสสารแอสเบสตอส (Asbestos) หรือแร่ใยหินที่พบมากในอุตสาหกรรมรถยนต์ ฉนวนกันความร้อนการก่อสร้าง และ อุตสาหกรรมสิ่งทอ รวมถึงการสัมผัสฝุ่น Pm 2.5 นอกอาคารก็อาจส่งผลเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งปอดได้เช่นกัน
  • อายุ ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี แต่ก็สามารถพบได้ในอายุคนน้อยกว่า 40ปี
  • กรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัวเคยมีประวัติการเป็นโรคมะเร็งปอด ก็มีความเสี่ยงที่คนอื่นๆในสมาชิกครอบครัวจะเป็น

การรักษา

  • ผ่าตัด (surgery) ใช้สำหรับการรักษามะเร็งในระยะแรกที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย ขนาดก้อนที่ไม่ใหญ่เกินไป จะมีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองใกล้ๆ และ ไม่มีการยึดติดกับอวัยวะสำคัญต่างๆ เนื่องจากเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคได้
  • ฉายรังสี (Radiology) เป็นวิธีการรักษาเฉพาะที่เช่นเดียวกับการผ่าตัด
  • ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการให้ยาที่สามารถทำลายเซลล์มะเร็ง โดยการฉีดหรือผสมสารละลายหยดเข้าไปทางหลอดเลือด ซึ่งตัวยาจะผ่านเข้าไปในระบบไหลเวียดเลือดและเข้าสู่เซลล์มะเร็งทางเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง
  • ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) เป็นวิธีการรักษามะเร็งโดยมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งโปรตีนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมกลไกลการเกิดมะเร็ง โดยวิธ๊การให้ยารับประทาน มีผลข้างเคียงน้อยและได้ผลดีในผู้ป่วยที่ได้รับการตอบสนองต่อการรักษา มักใช้เป็นการรักษาสำรอง เมื่อล้มเหลวจากการให้ยาเคมีบำบัด
  • ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) การผสมยากับสารละลายแล้วหยดเข้าไปทางหลอดเลือด หวังผลเพื่อกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถกลับมาทำงานได้เป็นปกติ มีผลข้างเคียงน้อยกว่าการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด มักใช้เป็นการรักษาสำรอง เมื่อล้มเหลวจากการให้ยาเคมีบำบัด

มะเร็งปอด หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้นสามารถรักษาได้ หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่จัด มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ทำงานใกล้ชิดกับสารเคมี หรือ สารก่อมะเร็ง เป็นต้น ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด และหมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อให้การรักษามะเร็งมีประสิทธิผลมากที่สุดนั้น การได้รับการตรวจหาการกลายพันธุ์ในเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยด้วยการตรวจยีนมะเร็งร่วมด้วย จะช่วยให้แพทย์และผู้ป่วยสามารถร่วมกันวางแผนการรักษา และ เลือกยารักษาได้อย่างเหมาะสม

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นเนื้องอกร้ายซึ่งเกิดขึ้นในเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นหนึ่งในเนื้องอกร้ายที่พบในอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเกิดขึ้นได้กับสตรีวัยเจริญพันธุ์และวัยหมดประจำเดือน ร้อยละ 90 พบในสตรีวัยหมดประจำเดือนแล้ว และ มีเพียงร้อยละ 3 ที่พบในสตรีอายุน้อยกว่า 40 ปี มดลูกเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิงเป็นกล้ามเนื้อรูปร่างคล้ายลูกแพร์ ภายในเป็นโพรงนี้จะมีเยื่อบุโพรงนิ่มๆ มีเส้นเลือดเล็กๆ มากมาย เพื่อไว้สำหรับให้ตัวอ่อนฝังตัวเมื่อเกิดการตั้งครรภ์ เยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrium) นี้เองที่หากมีการแบ่งตัวของเซลล์เยื่อบุที่ผิดปกติไปก็จะเกิดเป้นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นมา

สาเหตุของการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

เยื่อบุโพรงมดลูกสาเหตุของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกนั้นในผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80-90 เกิดจากการที่ร่างกายได้รับฮอร์โมนเอสโตเจนมากเกินไป ทั้งที่เป็นฮอร์โมนจากภายในคือร่างกายมีฮอร์โมนเอสโตเจนมากเองซึ่งจะพบในคนอ้วนหรือภาวะไข่ไม่ตก (Anovulation) หรือได้รับฮอร์โมนจากภายยอก เช่น ยาฮอร์โมน หรือ อาหารเสริม
การที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากๆ นี้ถึงจะมีการกระตุ้นเยื่อบุโพรงมดลูกให้แบ่งตัวมาก อาจเกิดเป็นเซลล์ผดิปกติและเป็นมะเร็งได้

ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

  • คนอ้วน (obesity) BMI > 30
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง
  • ผู้ที่มีประจำเดือนครั้งแรกมาเร็วและผู้ที่วัยหมดประจำเดือนมาช้า
  • สตรีที่มีบุตรยาก
  • ผู้ที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนหลังวัยหมดประจำเดือน
  • มะเร็งเต้านม
  • ผู้ที่ได้รับยา tamoxifen
  • สมาชิกในครอบครัว มีประวัติโรคทางพันธุกรรม

อาการของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

  • เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดในช่วงที่มีประจำเดือนหรือไม่มีประจำเดือน
  • มีอาการตกขาวผิดปกติปนเลือด ปนหนอง

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกจะมีด้วยกันทั้งหมด 4 ระยะ

ระยะที่ 1 โรคยังลุกลามอยู่เฉพาะในผนังมดลูก
ระยะที่ 2 โรคลุกลมเข้าปากมดลูก
ระยะที่ 3 โรคลุกลามถึงเยื่อหุ้มมดลูก รังไข่ช่องคลอด หรือ เนื้อเยื่อในอุ้งเชิงกราน ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง
ระยะที่ 4 โรคมะเร็งลุกลามเข้ากระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ และแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ หรือแพร่กระจายสู่ต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้าหรือแพร่กระจายเข้าเส้นเลือดไปยังอวัยวะต่างๆแพร่กระจายเข้าสู่ ปอด ตับ เยื่อบุช่องท้องและกระดูก

วิธีการรักษาโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

วิธีรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมีหลาบวิธี โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยอาจจะพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ ร่วมด้วยได้แก่ ชนิดของเนื้องอก ระดับอาการ อายุ สุขภาพ ซึ่งวิธีการรักษาประกอบไปด้วย

  • การรักษาโดยผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาหลักของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกโดยจะตัดมดลูก รังไข่ และท่อนำไข่ 2 ข้าง,ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน และ ต่อมน้ำเหลืองข้างเส้นเลือดใหญ่ การผ่าตัดนั้นนอกจากจะเอาเนื้อมะเร็งที่ในโพรงมดลูกออกมาแล้วยังใช้ผลของการผ่าตัดมาบอกระยะของโรคด้วยเมื่อทราบระยะของโรคและการกระจายของมะเร็งแล้ว เราจะใช้ผลเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจสำหรับการรักษาเสริมอื่นๆ ต่อไป (การฉายแสงหรือเคมีบำบัด) ว่าจะต้องได้รับการรักษาเสริมหรือไม่ หรือใช้วิธีใดรักษาเสริมต่อ
  • การรักษาโดยการฉายรังสี ใช้สำหรับการรักษาเสริมหลังจากการผ่าตัดเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
  • การรักษาโดยเคมีบำบัด ใชสำหรับการรักษาเสริมหลังจากการผ่าตัดหรือเมื่อโรคกลับมาเป็นซ้ำ

การป้องกันมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดมะเร็งชนิดนี้ได้อย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสามารถดูแลรักษาตนเองเพื่อลดโอกาสเกิดมะเร็งชนิดนี้ได้โดยการควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายสม่ำเสมอปรึกษาแพทย์เมื่อเกิดความผิดปกติเช่น ขาดประจำเดือนต่อเนื่อง มีประจำเดือนมาไม่ตรงรอบ หรือมีเลือดออกผิดปกติหลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว รวมไปถึงมีความเสี่ยงโรคมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องเช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่

โดยสรุป ผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกส่วนมากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มต้นเนื่องจากมีอาการที่เด่นชัดจึงนำไปสู่การรักษาอย่างรวดเร็วเบื้องต้นผู้ป่วยควรหาข้อมูลที่เหมาะสมและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อจะได้วางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม หลังเข้ารับการรักษาแล้วผู้ป่วยต้องดูแลตัเองตามคำแนะนำของแพทย์และเข้ารับการตรวจติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ


นพ. มาโนช เครือวัลย์

นพ. มาโนช เครือวัลย์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านมะเร็งนรีเวช


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: ศูนย์สูติ-นรีเวช
ชั้น 2A โรงพยาบาลสุขุมวิท
เปิดบริการทุกวัน 08.00 - 20.00 น.
โทร. 02-391-0011 ต่อ 356, 357

ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล: