พัฒนาการลูกสะดุด ถ้าไม่หยุด ติดจอ

ติดจอ

 

ปัจจุบันพบว่าเด็กไทยมีอัตราการติดมือถือที่จัดว่าเป็นโรคถึงขนาดที่ต้องบำบัดรักษาราว10-15% ด้วยเพราะเนื้อหาและรูปแบบของเกมที่สนุก ช่วยสร้างความสุขได้ดี บวกกับเทคโนโลยีที่ทำให้สื่อต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและเข้าถึงง่าย ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองควบคุมดูแลได้ยาก หรือมักปล่อยให้เป็นความสุขของลูกเพราะตัดรำคาญที่จะเกิดปัญหาความขัดแย้งกับลูก ท้ายที่สุดอาจส่งผลกระทบถึงสุขภาพ เพราะเมื่อลูกติดมือถือมากเกินไป โดยเฉพาะหากมัวแต่เล่นแต่เกมมือถือก็อาจทำให้สมองฝ่อ และมีผลกระทบต่างๆ ตามมา ดังนี้

สุขภาพร่างกายผิดปกติ เด็กจะเริ่มมีอาการปวดศีรษะ ปวดตา ปวดต้นคอ และปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ บางรายถึงขั้นกล้ามเนื้อตาโดนทำลายจนต้องผ่าตัดรักษาก็มี ในเด็กบางคนก็อาจเป็นโรคขาดสารอาหาร หรือโรคอ้วนที่เกิดจากการนั่งนิ่งๆ ใช้แต่มือกดจอโทรศัพท์มือถือเป็นระยะเวลานานๆ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดต่างๆ ร่วมด้วย

สมองเล็กลง ขาดการพัฒนา ในทางการแพทย์พบว่าเด็กที่เล่นมือถือนานๆ ติดต่อกัน 2 ชั่วโมง ต่อเนื่องกัน 2 ปี มีผลให้ขนาดของสมองบางส่วนเล็กลง ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากการสแกน MRI อย่างชัดเจน ทำให้พัฒนาการของเชาว์ปัญญาไม่ดี เช่น มีกระบวนการฝึกคิด การเรียนรู้และการแก้ปัญหาที่เชื่องช้า ไม่พัฒนาเท่าที่ควร แถมเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้นในเด็กได้อีกด้วย

เข้าสังคมยาก ความสัมพันธ์ครอบครัวแย่ ทักษะการเข้าสังคมเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบได้มากของเด็กกลุ่มนี้ เพราะได้สูญเสียเวลาไปกับการเล่นมือถือซะส่วนใหญ่ จนทำให้ขาดการพัฒนาทักษะในด้านนี้ และส่งผลกระทบอย่างมากในความสัมพันธ์ระดับครอบครัว

อารมณ์รุนแรง พฤติกรรมก้าวร้าว กรณีของเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี มักพบปัญหาในลักษณะของการโวยวายที่รุนแรงกว่าเด็กทั่วไปที่ไม่ติดการเล่นมือถือ และจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโตขึ้น โดยเริ่มจากลักษณะการพูดที่ก้าวร้าว การแสดงออกที่รุนแรงและมีสภาวะอารมณ์ที่ผิดปกติไป ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลได้ง่ายกว่าเด็กกลุ่มอื่น

4 อาการบ่งชี้ลูกติดมือถือหนัก ต้องบำบัดกับคุณหมอ

การที่ผู้ปกครองจะทราบได้ว่าลูกแค่เล่นมือถือในระดับทั่วไป หรือเข้าขั้นติดหนักและควรเข้ารับการบำบัดจากคุณหมอนั้น มีวิธีสังเกตพฤติกรรมอยู่ด้วยกัน 4 ข้อหลัก ได้แก่

  1. ไม่สนใจหรือเลิกทำกิจกรรม อื่นๆ ที่เคยชอบ
  2. ละเลยหน้าที่ความรับผิดชอบ ไม่สนใจเรียน และกิจวัตรประจำวันอื่นๆ
  3. ควบคุมเวลาเล่นมือถือของตัวเองไม่ได้ และใช้เวลาในการเล่นมากขึ้นเรื่อยๆ หลายชั่วโมงต่อวัน
  4. หงุดหงิด โมโหรุนแรง แสดงอาการก้าวร้าวและต่อต้านในหลายๆ เรื่อง ไม่ใช่เฉพาะแค่การเล่นมือถือ

หลายคนอาจเข้าใจว่าลูกที่ติดมือถือหรือติดเกมจะมีอารมณ์โมโหและหงุดหงิดง่ายเฉพาะเวลาไม่ได้เล่นมือถือเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้ว อารมณ์โมโหรุนแรงจะกระจายไปยังเรื่องอื่นๆ ในชีวิตประจำวันอย่างเห็นได้ชัด รุนแรงที่สุดคือ เด็กอาจทำลายข้าวของและขว้างปาสิ่งของ สามารถทำร้ายหรือชกต่อยพ่อแม่โดยไม่รู้สึกผิด เพราะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ แม้จะเกิดปัญหาเพียงเล็กน้อยก็ตาม

พ่อแม่คือหัวใจสำคัญ ช่วยปรับพฤติกรรมลูก

ผู้ปกครอง หรือพ่อแม่มักเข้าใจว่าการเล่นเกมถือเป็นเรื่องปกติตามวัยของเด็ก แต่หากการเล่นเหล่านั้นขาดวิธีควบคุมที่ดีและเหมาะสม อาจส่งผลให้เกิดปัญหากับเด็กโดยตรงในระยะยาวได้ โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นที่จะเริ่มมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามา เช่น ความเครียดจากการเรียนและภาวะฮอร์โมน ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ขั้นตอนการบำบัดรักษาคือ

แพทย์จะทำการประเมินพฤติกรรมเด็กจากการพูดคุยกับผู้ปกครองหรือตัวเด็กเอง ร่วมกับการประเมินความพร้อม และความอดทนของพ่อแม่ประกอบเข้าด้วยกัน ก่อนจะให้คำแนะนำหลักการเปลี่ยนพฤติกรรมให้เด็กอย่างเข้าใจ ดังนี้

  1. กำหนดเวลาเล่นมือถือให้ชัดเจน ซึ่งรวมถึงการใช้โซเชียลมีเดีย (Social Media) ทั้งหมดรวมกัน ควรกำหนดเวลาการเล่นในวันธรรมดาที่ 1 ชั่วโมง และวันเสาร์อาทิตย์ไม่เกิน 2 ชั่วโมง (ช่วงเวลาใดก็ได้) แต่ต้องเล่นภายในเวลาที่กำหนดเท่านั้น
  2. เลือกประเภทเกมที่เหมาะสม เด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปีแพทย์ยังไม่แนะนำให้เล่นคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแท็บเลตทุกชนิด เด็กอายุ 3-6 ปี ควรเล่นเกมหรือดูรายการที่เน้นส่งเสริมพัฒนาการและการศึกษา ส่วนเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ควรเลือกเกมที่ไม่มีความรุนแรงมาก เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้เด็กก้าวร้าวและชินชากับเรื่องรุนแรง เพราะเป็นสิ่งที่เด็กเห็นและทำอยู่ในเกมทุกวัน วันละหลายๆ รอบ ส่งผลให้กลายเป็นคนมีพฤติกรรมรุนแรงได้ในอนาคต
  3. สร้างกิจกรรมทดแทน สภาวะความเครียด แรงกดดันจากสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูงต่างๆ บวกกับกลุ่มเพื่อนที่เล่นเกมอยู่เดิมแล้ว ทำให้เด็กหันไประบายออกทางเกมได้ง่ายขึ้น ผู้ปกครองหรือพ่อแม่ควรจัดหากิจกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาทดแทน เช่น จัดทริปเที่ยว ทำอาหาร หรือออกกำลังกายร่วมกัน ไม่ควรสั่งห้ามแบบทันทีทันใด พร้อมเฝ้าสังเกตอารมณ์และพฤติกรรมของเด็กอย่างใกล้ชิด
  4. สานความสัมพันธ์ดีๆ ไม่ใช่ตามใจ สมาชิกในครอบครัวถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การบำบัดสมบูรณ์แบบ ควรหลีกเลี่ยงการพูดจารุนแรง ด่าว่าหรือใช้คำพูดเชิงลบ เน้นคำพูดเชิงบวกและหากิจกรรมทำร่วมกัน ฝึกให้ลูกมีสังคมร่วมกับผู้อื่น และให้คำชมเมื่อลูกทำสิ่งดีๆ เพื่อสร้างความรู้สึกภูมิใจให้เด็กทำสิ่งเหล่านั้นต่อไป
  5. การรักษาอาการติดมือถือของลูกจำเป็นต้องดูแลกันในระยะยาว เพราะโอกาสที่ลูกจะกลับไปติดเกมซ้ำยังคงมีอยู่ ผู้ปกครองหรือพ่อแม่จึงเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก โดยไม่ลืมที่จะทำความเข้าใจซึ่งกันและกันตลอดเวลา เพื่อลดโอกาสการกลับไปติดมือถือหรือติดเกมในอนาคต หากรู้สึกว่าการแก้ปัญหาด้วยตนเองไม่ได้ผล ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะแน่ใจว่าลูกไม่มีพฤติกรรมติดเกมแล้ว

พญ. รวยวรรณ สันติเวส

พญ. รวยวรรณ สันติเวส
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคภูมิแพ้ในเด็ก



สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: ศูนย์กุมารเวช
ชั้น 2A โรงพยาบาลสุขุมวิท
เปิดบริการทุกวัน 07.00 - 22.00 น.
โทร. 02-391-0011 ต่อ 314, 317, 318

ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

facebook instagram line youtube
VAR_INCL_CK