รู้จักสิว

รู้จักสิว

สิว นับเป็นตัวปัญหาใหญ่บนใบหน้าสวยๆ ของคุณผู้หญิงและคุณผู้ชายโดยเฉพาะวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว ส่วนใหญ่อาการของสิวจะไม่รุนแรงนัก แต่สิวในบางคนอาการจะรุนแรงและอักเสบมาก ที่สำคัญคือ เมื่อสิวหายไปแล้วยังคงทิ้งร่องรอยไว้ให้ดูต่างหน้า บ้างก็เป็นแผลเป็น รอยดำ รอยบุ๋ม หรือรอยนูน

เนื่องจากสิวเกิดจากการอักเสบของต่อมไขมัน (sebaceous) ทำให้เรามักจะพบสิวในบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น ใบหน้า หน้าอก หลังส่วนบน คอ ไหล่ หรือต้นแขน โดยจะพบสิวได้หลายระยะทั้งสิวอุดตัน เช่น สิวหัวเปิดสีดำ หรือสิวหัวปิด ซึ่งจะเห็นเป็นหัวขาว ๆ อยู่ใต้ผิวหนัง ต่อมาอาจจะกลายเป็นสิวอักเสบเห็นเป็นตุ่มแดง (papulonodular) ได้ บางคนถ้าการอักเสบมาก อาจพบเป็นตุ่มหนอง (pustule) หรือเป็นสิวอักเสบขนาดใหญ่ที่อยู่ลึกลงไปใต้ผิวหนังที่เรียกว่าสิวหัวช้าง (nodulocystic) ได้ด้วย

  1. Seborrhea คือ การผลิตน้ำมันของต่อมไขมันในผิวมากเกินไป เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ฮอร์โมน สภาพอากาศ ยาบางชนิด พันธุกรรม เป็นต้น
  2. Hyperkeratosis คือ การที่ผิวหนังชั้นนอกสุด (Stratum corneum) เกิดการหนาตัวขึ้นผิดปกติ เนื่องจากเกิดการผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วผิดปกติ ทำให้เกิดการอุดตันท่อต่อมไขมัน และส่งผลรบกวนการไหลของน้ำมันออกมานอกผิวหนัง
  3. Microbial colonization คือ แบคทีเรียที่เจริญเติบโตอยู่บริเวณรูขุมขน (Propionibacterium acne) เป็นสาเหตุให้สิวอุดตัน เกิดการอักเสบ บวมแดง หรือเป็นหัวหนองขึ้นมา
  4. Inflammation คือ กระบวนการอักเสบของร่างกาย ทำให้เกิดสิวบวมแดงและอักเสบขึ้น ในกรณีที่เป็น Severe acne การอักเสบจะขยายและลึกลงไปในบริเวณเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้เคียงมากขึ้น

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดสิว มีอยู่หลายประการ อย่างเช่น

HORMONE การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ โดยระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน จะมีระดับสูงในช่วงวัยรุ่นโดยเฉพาะเพศชาย ทำให้เราพบสิวในช่วงอายุนี้มากกว่าช่วงอื่น ฮอร์โมนนี้จะไปกระตุ้นให้ต่อมไขมันมีขนาดใหญ่ขึ้น มีการสร้างไขมันออกมามากขึ้น และในขณะที่น้ำมันเดินทางจากต่อมไขมันสู่ปาก รูขุมขน เกิดไปผสมเข้ากับแบคทีเรียและเซลล์ผิวที่ตายแล้วซึ่งอยู่ในรูขุมขน ทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนกลายเป็นสิวอุดตัน ระหว่างนั้นเม็ดเลือดขาวในร่างกายจะออกมากำจัดแบคทีเรีย ทำให้สิวอักเสบ เกิดเป็นตุ่มแดง บวม เจ็บ และเป็นหัวหนองในที่สุด

สิวอาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างตั้งครรภ์ ระหว่างมีประจำเดือนผู้หญิงบางคน อาจมีสิวเห่อ มากขึ้นในระยะก่อนมีประจำเดือนได้ เนื่องจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีการบวมของรูขุมขนและการคั่งของน้ำในร่างกาย หรือ โรคบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน เช่น โรคถุงน้ำ ในรังไข่ (polycystic ovary syndrome)

FOOD เดิมเชื่อว่าอาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแลต หรือ อาหารมันๆ ทำให้เกิดสิว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังไม่มีการศึกษาใดๆ ที่บ่งชี้ว่าอาหารเป็นสาเหตุของการเกิดสิว แต่ถ้าสังเกตว่าอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง ทำให้อาการสิวอักเสบแย่ลง อาจลองหลีกเลี่ยงหรือหยุดรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ แล้วสังเกตว่าอาการสิวอักเสบดีขึ้นหรือไม่

SKIN CARE การใช้เครื่องสำอางก็เป็นสาเหตุหนึ่งของสิว ดังนั้นในคนที่มีโอกาสเป็นสิวง่าย แนะนำให้พยายามใช้เครื่องสำอางให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำมัน (oil-free) และควรจะเลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าไม่ทำให้เกิดสิวอุดตันหรือสิวอักเสบ (noncomedogenic และ non-acnegenic) นอกจากนี้การใช้สเปรย์หรือเจลบำรุงเส้นผม ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณใบหน้า

STRESS ความเครียดจะกระตุ้นให้ต่อมไขมันทำงานมากขึ้น

MEDICATION ยาบางอย่างเช่น สเตียรอยด์และลิเธียม มีรายงานว่าทำให้เกิดสิวได้ในบางคน

GENES กรรมพันธุ์มีผลต่อการเกิดสิวด้วยเช่นกัน ถ้าพ่อแม่มีประวัติเป็นสิวในวัยรุ่น ลูกใน วัยรุ่นก็มีโอกาสที่จะเป็นสิวด้วยเช่นกัน

การรักษา การเริ่มรักษา หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์ผิวหนังตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มเป็นสิว จะทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพ และสามารถป้องกันการเกิดสิวในระดับรุนแรงได้

การรักษาสิวโดยทั่วไปคือ การป้องกันการเกิดสิวใหม่ และลดการอักเสบของรอยโรคเดิมลง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา ปัจจุบันการรักษาสิวมีทั้งยาทาเฉพาะที่และยารับประทาน โดยจะเลือกใช้วิธีรักษาแบบใด ขึ้นกับความรุนแรงของสิวในขณะนั้น

ยาทาเฉพาะที่ ที่ใช้ในการรักษาสิวมีหลายกลุ่มด้วยกัน เช่น ยาปฏิชีวนะ ซึ่งจะออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิว แต่เนื่องจากถ้าใช้แต่เพียงตัวเดียว อาจทำให้เกิดการดื้อยาได้ จึงควรใช้ร่วมกับยาทาในกลุ่มอื่นๆ เช่น ยากลุ่ม benzoyl peroxide โดยทาทิ้งไว้ 5-10 นาที จะช่วยลดสิวอุดตันและลดการอักเสบของสิวได้ และยาในกลุ่มวิตามินเอ ซึ่งจะช่วยลดการเกิดสิวอุดตันและช่วยทำให้สิวอุดตันที่เกิดขึ้นแล้วหลุดลอกออกไปได้โดยง่าย ยาทาเฉพาะที่ส่วนใหญ่จะมีผลข้างเคียงทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง อาจทำให้เกิดรอยแดง แห้งหรือลอกได้ ดังนั้นจึงควรทาบางๆ และเริ่มใช้ในปริมาณน้อยๆ ก่อน ถ้ามีอาการระคายเคืองให้หยุดยาดังกล่าว แต่ถ้าไม่มีอาการแสบหรือแดงก็สามารถทายาปริมาณมากขึ้น หรือทายาแล้วทิ้งเอาไว้นานขึ้นก่อนจะล้างออกได้

ในกรณีที่สิวอักเสบเป็นรุนแรงหรือรักษาด้วยยา ข้างต้นไม่ดี การใช้ยาทาแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องรับประทานยาร่วมด้วย ซึ่งมีทั้งยาปฏิชีวนะและยาในกลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอ ซึ่งควรจะปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง เนื่องจากยาชนิดนี้ จะมีผลต่อการตั้งครรภ์ การทำงานของตับและไขมันในเลือด

การรักษาสิวด้วยยาฮอร์โมน หรือยาคุมกำเนิด นั้นมีประสิทธิภาพในผู้หญิง ซึ่งยาจะไปมีผลต่อฮอร์โมนพวก estrogen และ androgen ซึ่งจะส่งผลต่อการยับยั้งการทำงานของต่อมไขมัน

สำหรับการรักษาด้วยการกดสิว ควรทำโดยแพทย์ผู้รักษาเพื่อขจัดสิวอุดตัน แต่ไม่ควรบีบหรือแกะสิวเอง เนื่องจากอาจเกิดการติดเชื้อซ้ำลงไปบริเวณนั้นและทำให้เกิดรอยดำหรือแผลเป็นตามมาได้ ในกรณีที่เป็นสิวอักเสบมาก แพทย์อาจพิจารณาฉีดยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เข้าไปในตำแหน่งที่เกิดสิวอักเสบนั้น ก็จะช่วยให้สิวยุบลงได้ ดังนั้นการรักษาสิวจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดตามมา

ในปัจจุบันนี้นอกจากยาทาและยารับประทานแล้ว การใช้แสงเลเซอร์ และการฉายแสงสีฟ้า แสงสีแดง จะช่วยเสริมผลการรักษาสิวให้หายเร็วขึ้นด้วย

การรักษาสิว ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาหรือไม่ใช้ยา ก็ไม่สำคัญเท่า การใช้เวลาในการรักษาสิว

โดยทั่วไปการรักษาจะใช้เวลา 4-8 สัปดาห์ หรืออาจยาวนานถึง 3 เดือน และระหว่างการรักษา อาการของสิวอาจดูแย่ลงก่อนที่จะดีขึ้น จึงอาจทำให้คนไข้ท้อใจ และคิดจะยกเลิกการรักษา ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องรู้ไว้คือ ต้องรักษาต่อไปแม้ว่าอาการจะไม่ได้ดีขึ้นในทันทีก็ตาม

S.O.S LASER

การเกิดรอยดำสิวหลังการอักเสบ (post-inflammatory hyperpigmentation : PIH) ไม่เพียงแต่มีความผิดปกติทางกายภาพเท่านั้น ยังทำให้เกิดการวิตกกังวล ก่อความรำคาญ ซึ่งปกติจะค่อยๆ จางลงได้เมื่อเวลาผ่านไป แต่การรักษาทางการแพทย์ในปัจจุบันก็สามารถช่วยให้หายเร็วขึ้น ได้แก่ Q-switched Nd : YAG laser เป็นเลเซอร์ที่รักษาความผิดปกติของเม็ดสี ปล่อยคลื่นความถี่ที่มีความยาวคลื่น 532 และ 1064 นาโนเมตร เพื่อเข้าไปทำลายเม็ดสีเมลานินที่ชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ ทำให้เซลล์เม็ดสีแตกตัว ทำให้หลังยิงตรงจุดด่างดำจะเห็นสีเข้มชัดขึ้น ก่อนถูกกำจัดออกจากผิวหนัง หลังจากนั้นเม็ดเลือดขาวจะเข้าไปดูดซึมหรือย่อยสลายเม็ดสีที่ผิดปกติ และถูกกำจัดด้วยการขับเป็นของเสียออกจากร่างกาย

เมื่อตอนยิง Q-switched Nd : YAG laser ความรู้สึกจะคล้ายกับถูกหนังยางดีดเบาๆ ทีละจุด อาจจะมีร้อนๆ แสบๆ บ้าง แต่ยังสามารถทนได้ หลังจากทำแล้วอาจมีรอยแดงบ้าง แต่จะสามารถหายได้เองภายใน 1-2 ชั่วโมง และภายใน 4-5 วันตรงรอยดำจะมีสีเข้มข้นหรือบางคนอาจเป็นสะเก็ด และรอยหรือสะเก็ดก็จะหลุดหายไปภายใน 1-2 สัปดาห์ หลังทำครั้งแรกผิวบริเวณรอยดำจะดูจางลง ถ้ารอยดำไม่ลึกอย่างกระแดดอาจจะทำแค่ครั้งเดียวก็เห็นผลเลย แต่ถ้ากระลึกอาจจะต้องทำสัก 3 ครั้งขึ้นไป ผิวก็จะค่อยๆ กระจ่างขึ้น และข้อดีอีกอย่างคือ Q-Switch ยังเข้าไปกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนที่ผิวหนังบริเวณนั้นด้วย ก็จะช่วยริ้วรอยจางลงไปพร้อมๆ กัน

วิธีการรักษา ก่อนทำการรักษาอาจมีการแปะยาชาในบางราย ต้องทำการรักษาต่อเนื่องทุก 2-4 สัปดาห์

ปัจจัยอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เกิดสิว

ปัจจัยบางอย่างไม่ใช่สาเหตุโดยตรงในการเกิดสิว แต่สามารถกระตุ้นให้อาการของสิวแย่ลงได้ เช่น อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง (น้ำตาลและแป้ง) การบริโภคนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวมากเกินไป (ยกเว้นชีส) การสูบบุหรี่ เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ก่อให้เกิดการอุดตันรูขุมขนได้

TIPS ห่างไกลสิว

  1. ทำความสะอาดร่างกายและใบหน้าทุกวัน แต่ระวังไม่ควรล้างหน้าบ่อยหรือขัดถูผิวหน้ามากเกินไป เพราะจะทำให้ผิวหนังเสียสมดุล การล้างหน้าควรล้างเพียงวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น ยกเว้นช่วงที่เสียเหงื่อจากการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรือช่วงที่คิดว่าผิวหนังสกปรก
  2. รับประทานผักผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด
  3. ออกกำลังกาย
  4. พักผ่อนให้เพียงพอ
  5. ทำจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ อย่าเครียด ซึ่งความเครียดเป็นสาเหตุของการเกิดสิว
  6. หลีกเลี่ยงแดดจัด เนื่องจากยาบางชนิดอาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสง หากใช้ยาประเภทนี้ควรทาผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดเป็นประจำทุกวัน

ปิดท้าย

สิวอาจเป็นเรื่องธรรมดา แต่การรักษาไม่ได้ง่าย การพบแพทย์ผิวหนังเพื่อได้รับการรักษานั้นจำเป็น เพื่อหาสาเหตุ และ วิธีการรักษาที่ถูกต้อง แม้ว่าอาการของสิวจะอยู่ในระยะแรก หรือเพิ่งเริ่มเป็นสิว เพราะถ้าเริ่มรักษาเร็วก็จะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาดี และลดความเสี่ยงในการเกิดรอยแผลเป็นสิวอีกด้วย