โรคตาในผู้สูงอายุ


โรคตาในผู้สูงอายุ
โรคต้อกระจก

ท่านเคยสังเกตุตนเองหรือไม่ว่า ท่านมีอาการเหล่านี้หรือไม่?

  • สายตาค่อย ๆ มัวลง
  • เห็นภาพเป็นเงาซ้อน
  • เห็นแสงไฟแตกกระจายเป็นแฉก
  • มองเห็นสีต่าง ๆ เปลี่ยนไปจากเดิม
  • อ่านหนังสือตัวเล็กไม่เห็น

ต้อกระจกคืออะไร (Cataract) คืออะไร?

  1. สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด คือ พบในคนสูงอายุ เป็นการเสื่อมไปตามวัย พบว่าครึ่งหนึ่งของคนอายุ 60 ปี เป็นต้อกระจก
  2. เกิดจากอุบัติเหตุ ได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณดวงตา
  3. พบในเด็ก โดยมาตั้งแต่กำเนิด สาเหตุอาจเกิดจากพันธุกรรมการติดเชื้อบางชนิดหรือบางรายเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  4. เกิดเป็นผลแทรกซ้อนจากโรคอื่น ๆ ของตาหรือของร่างกาย เช่น ต้อหิน ม่านตาอักเสบ เบาหวาน
  5. เกิดจากการใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ยาพวกสเตียรอยด์

ถ้าเป็นต้อกระจกแล้วต้องรักษาอย่างไร?

การรักษาต้อกระจกทำได้โดยการผ่าตัดเอาเลนส์แก้วตาที่ขุ่นออก แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่เดิม ในปัจจุบันยังไม่มียารับประทานหรือยาหยอดตาที่ใช้ป้องกันและรักษาต้อกระจกให้หายได้

การผ่าตัดต้อกระจกทำอย่างไร?

1. การผ่าแผลเล็กหรือการสลายต้อกระจก (Phacoemulsification) วิธีนี้ จักษุแพทย์จะใช้เครื่องอัลตร้าซาวน์ โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงมาทำให้เนื้อเลนส์แก้วตาสลายเป็นชิ้นเล็ก ๆ และดูดออกมาได้ เครื่องมือที่ใช้สอดผ่านแผลผ่าตัดเข้าไปในลูกตานั้นมีขนาดเล็ก จึงทำให้มีแผลผ่าตัดเพียง 3 มิลลิเมตร ผู้ป่วยจึงหายเร็วขึ้น ทำให้สายตาชัดเร็วขึ้น ระยะพักฟื้นสั้นลงและกลับไปทำงานได้เร็วขึ้น

2. การผ่าแผลใหญ่หรือการผ่าต้อกระจก (Extracapsular Cataract Extraction หรือ ECCE ) การผ่าตัดวิธีนี้มีการเปิดแผลใหญ่กว่า 10 มิลลิเมตร เพื่อคีบเอาเลนส์ออกมาทั้งชิ้น ทำให้ดวงตามีการกระทบกระเทือนมากกว่า ต้องพักฟื้นนานกว่า ทั้งสองวิธีสามารถใช้เลนส์เทียมเข้าทดแทนเลนส์เดิมที่ผ่าออกมาได้

ถ้าไม่ผ่าตัดต้อกระจกได้หรือไม่?

เมื่อปล่อยให้ต้อกระจกสุกเต็มที่ (Mature Cataract) จะทำให้เลนส์ตาแข็งตัวมากจนกระทั่งไม่สามารถใช้เทคนิคการผ่าแผลเล็ก หรือการสลายต้อกระจกได้ ถ้าจะผ่าต้องทำการผ่าแบบแผลใหญ่แทน

ถ้าต้อกระจกสุกเต็มที่จนกระทั่งถุงหุ้มเลนส์แตก อาจทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงของดวงตาได้ ถ้ารักษาไม่ทัน อาจทำให้ตาบอดได้เช่นกัน

เลนส์แก้วตาเทียม จะมีอายุการใ้งานได้นานเท่าไหร่?

เลนส์แก้วตาเทียมเป็นวัสดุที่สามารถใช้งานได้เป็นการถาวร ไม่มีการหมดอายุหรือต้องคอยเปลี่ยนใหม่เมื่อเวลาผ่านไป

การเลือกใช้เลนส์แก้วตาเทียม ควรเลือกอย่างไร?

เลนส์แก้วตาเทียมชนิดต่าง ๆ

  1. ระยะเดียว (Monofocal IOL) เป็นเลนส์มาตราฐานที่ใช้กันทั่วไปสำหรับการมองไกล ทำให้ผู้ป่วยมองไกลได้ชัดขึ้น แต่ในเวลามองใกล้ เช่น อ่านหนังสือ อาจต้องใส่แว่นมองใกล้เพิ่ม
  2. เลนส์หลายระยะ (Multifocal IOL) ใช้ดูได้ทั้งระยะใกล้และไกล
  3. เลนส์แก้ไขสายตาเอียง (Toric IOL) ในผู้ป่วยที่มีสายตาเอียงอยู่แล้วก่อนผ่าตัด เพื่อทำให้สายตาเอียงลดน้อยลง

ต้อหิน

ดูแลดวงตาให้สดใส ป้องกันโรคต้อหิน

ในประเทศไทยคาดการว่าคนไทยเป็นโรคต้อหินประมาณ 1.7 – 2.4 ล้านคน โรคต้อหินเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอดชนิดถาวร (irreversible blindness) ที่พบบ่อยเป็นอันดับ 1 มักพบมากในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปแต่อาจพบได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยมีแนวโน้มพบเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ยิ่งอายุมากยิ่งพบมาก

โรคต้อหิน เป็นกลุ่มโรคที่เกิดความผิดปกติที่ขั้วประสาทตา (optic nerve) ที่มีแบบเฉพาะตัว โดยจำนวนเซลล์ประสาทตา (ganglion cell and retinal nerve fiber) ค่อยๆ ลดจำนวนลงและไม่สามารถสร้างทดแทนขึ้นใหม่ได้ ทำให้สูญเสียการมองเห็น มักมีภาวะความดันลูกตาสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ แต่ความดันตาอาจจะสูงหรือเป็นปกติก็ได้ โรคนี้จะมีการทำลายขั้วประสาทตาและเส้นประสาทตาอย่างค่อยเป็นค่อยไป การทำลายดังกล่าวมีผลทำให้ลานสายตาหรือความกว้างของการมองเห็นแคบลง ตามัวลง หากไม่ทำการรักษา หรือตรวจพบแล้ว แต่ทำการรักษาไม่ต่อเนื่อง ควบคุมโรคไม่ดี จะสูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

ความดันลูกตา (intraocular pressure) ที่ผิดปกติเกิดจากการเสียสมดุลของการระบายน้ำหล่อเลี้ยงภายในตา (aqueous humor) ซึ่งเป็นของเหลวใสภายในช่องด้านหน้าของลูกตา ในคนไทยค่าเฉลี่ยความดันลูกตาอยู่ที่ประมาณ 13-14 มิลลิเมตรปรอท ดังนั้นหากมีค่าความดันตา 2 มิลลิเมตรปรอท หรือสูงกว่าก็ถือว่าผิดปกติ

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคต้อหิน

  1. ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ หรือเป็นโรคที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงขั้วประสาทตาลดลง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง
  2. ผู้ที่มีสายตาสั้นมากหรือยาวมาก ผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดดวงตาหรือเคยมีอาการตาอักเสบ
  3. ผู้มีประวัติการกระแทกหรือเกิดอุบัติเหตุบริเวณดวงตา
  4. ผู้ที่ใช้ยากิน หยอดตา พ่นยา ทายาด้วยยาสเตียรอยด์ (steroid)
  5. มีประวัติเป็นโรคปวดหัวไมเกรน หรือมีภาวะปวดปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า อย่างรุนแรงเวลาโดยความเย็น
  6. อาชีพหรือกิจกรรมบางประเภท ที่เพิ่มความดันบริเวณคอและใบหน้าอาจทำให้ความดันตาสูงขึ้น

ประเภทของโรคต้อหิน

ต้อหินมุมเปิด (open angle glaucoma) ต้อหินมุมปิด (angle closure หรือ closed-angle glaucoma) และต้อหินที่พบในเด็ก (congenital หรือ developmental glaucoma) หรืออาจแบ่งตามสาเหตุ ต้อหินชนิดเป็นเองที่เรียกว่าต้อหินปฐมภูมิ (primary glaucoma) หรือต้อหินที่เกิดจากโรคอื่นที่เรียกว่าต้อหินทุติยภูมิ (secondary glaucoma) แต่ถ้าจะแบ่งตามอาการแสดงที่มาพบแพทย์ ก็อาจจะแบ่งเป็นต้อหินชนิดเรื้อรังและต้อหินชนิดเฉียบพลัน

ต้อหินปฐมภูมิ ได้แก่ ต้อหินชนิดมุมเปิด (Primary Open-Angle Glaucoma, POAG) เป็นต้อหินที่พบได้บ่อยกว่าต้อหินประเภทอื่น สำหรับคนไทยพบต้อหินชนิดมุมปิด (Primary Angle-Closure Glaucoma) ในสถิติที่สูงมากกว่าชาวผิวขาวหรือพวกฝรั่ง ส่วนใหญ่เป็นชนิดโรคต้อหินแบบเรื้อรังซึ่งไม่มีอาการ ส่วนน้อยจะเป็นต้อหินเฉียบพลันที่อาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดตา อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย และพบในผู้หญิงเอเชีย วัยกลางคนหรืออายุมากอายุมาก ส่วนต้อหินแต่กำเนิด (Congenital Glaucoma) มักพบในเด็กแรกคลอด-3 ปี เกิดจากพันธุกรรมหรือสาเหตุอื่นๆ

อาการของโรคต้อหินแต่ละประเภท

ผู้ป่วยโรคต้อหินส่วนใหญ่ไม่มีอาการในระยะแรก โดยเฉพาะต้อหินชนิดเรื้อรังที่พบบ่อยมักจะไม่มีอาการผิดปกติ ไม่ปวดตา การสูญเสียของประสาทตาเกิดขึ้น อย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง เพราะเป็นการสูญเสียลานสายตาที่จะเกิดที่บริเวณรอบนอกก่อนและจุดบอดเกิดขึ้นในตาข้างหนึ่งจะถูกชดเชยด้วยจุดที่มองเห็นของตาอีกข้างหนึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัว เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นผู้ป่วยจะมีอาการเดินชนขอบประตู ชนเสา ไม่มั่นใจขณะเดินขึ้นลงบันได เพราะมองไม่เห็นด้านข้าง จนกระทั่งมีการสูญเสียลานสายตาในส่วนตรงกลางซึ่งกระทบต่อการอ่านหนังสือ ทีวีและมือถือ จนผู้ป่วยสังเกตความผิดปกติได้ ในที่สุดคือสูญเสียทั้งหมดของลานสายตาหรือภาวะตาบอดนั่นเอง การมีอาการร่วมอย่างอื่นเช่นตาแดงหรือปวดตาพบได้ไม่บ่อยในต้อหินประเภทเรื้อรัง นับเป็นภัยเงียบหรือภัยมืดที่คุกคามอย่างไม่รู้ตัว

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นต้อหินชนิดเฉียบพลัน จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 1 – 2 วัน มีอาการปวดตาหรือปวดศีรษะรุนแรง ตาแดง ตามัว อาจมองเห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ อาจมีคลื่นไส้อาเจียน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วจะทำให้เชลล์ประสาทตาเสีย และสูญเสียการมองเห็น โดยไม่สามารถรักษาให้กลับมาดีเหมือนเดิม บางครั้งมีการตายของกล้ามเนื้อม่านตาทำให้ไม่สามารถควบคุมแสงได้

รศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ กล่าวว่า “การตรวจวินิจฉัยเพื่อเฝ้าระวังโรคต้อหินมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อหิน เพราะโรคนี้ไม่มีสัญญาณเตือน ปัจจุบันพบโรคต้อหินในคนที่มีอายุน้อยลงอาจบ่งบอกถึงปัจจัยเสียงที่เปลี่ยนไปของวิธีดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบัน สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตา แต่ถ้าหากเป็นคนทั่วไปแนะนำให้ตรวจช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งการตรวจต้อหินในปัจจุบันสามารถทราบผลได้ทันที”

แพทย์หญิงณัฐธิดา ชาติบัญชาชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “การป้องกันทางที่ดีที่สุด คือการตรวจสุขภาพตาประจำปี เมื่ออายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไปหรือถ้ามีความเสี่ยง กรรมพันธุ์ในครอบครัวเป็นต้อหิน, สายตาสั้นหรือยาวผิดปกติมาก , เคยมีอุบัติเหตุ / ผ่าตัดทางตา ใช้ยาสเตอรอยด์เป็นเวลานาน, มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดัน ไขมัน ที่มีผลต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาทตาก็ควรมีตรวจด้วย เพราะวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือมาตรวจและได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ เนื่องจากการรักษาตั้งแต่ยังเป็นไม่มากได้ จะให้ผลดีกว่าเพราะถ้าเส้นประสาทตาเสียหายจากต้อหินแล้วจะไม่สามารถรักษาให้กลับมาได้ รักษาอย่างทันท่วงที เพื่อให้อาการของโรคไม่รุนแรงจนถึงขั้นตาบอดและคงการมองเห็นให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผู้ป่วยควรมาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง ไม่ขาดยาที่ได้รับ เพื่อลดความเสี่ยงจากอาการรุนแรงจากโรคต้อหิน”


จอประสาทตาเสื่อม


จอประสาทตาหรือ Retina เป็นส่วนประกอบดวงตาที่อยู่บริเวณหลังผนังด้านในสุด มีลักษณะเป็นชั้นบางๆ ประกอบไปด้วยเซลล์รับภาพจำนวนมาก ในภาวะที่จอประสาทตาปกติ เมื่อเราใช้สายตาเพื่อมอง แสงที่กระทบและหักเหผ่านเลนส์ตาจะมาตกกระทบจุดศูนย์กลางของจอประสาทตาพอดี ทำให้ภาพที่มองเห็นมีความคมชัด เราจึงสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างอิสระ แต่เมื่อไรก็ตามที่เกิดปัญหาขึ้นกับจอประสาทตา การมองเห็นภาพก็ย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง

ปัญหาของจอประสาทตาที่พบได้บ่อยมีดังนี้

  • จอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ เป็นภาวะความเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัย พบได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มักมีอาการตามองไม่ชัดเฉพาะตรงกลางภาพ แต่เห็นภาพข้างๆ ได้เหมือนเดิม บางรายอาจเห็นภาพบิดเบี้ยว
  • เบาหวานขึ้นจอกระสาทตาในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นมากที่สุดของคนวัยทำงาน ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใดๆ เลย ในขณะที่โรคดำเนินไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม อาการที่อาจบ่งชี้ว่าอาจนำไปสู่ภาวะปัญหาที่จอประสาทตา ได้แก่ การมองเห็นภาพแย่ลง เห็นเงา หรือมองเห็นจุดดำลอยไปมาในตา สิ่งสำคัญคือ ผู้ป่วยเบาหวานควรตระหนักถึงความเสี่ยงของตนเอง และปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจตาสำหรับผู้ป่วยเบาหวานสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ หากตรวจแล้วแม้จะไม่พบความผิดปกติ แพทย์ยังต้องนัดเข้ามาตรวจเป็นระยะๆ เพื่อติดตามดูความเปลี่ยนแปลงของจอประสาทตาเพื่อจะได้รับมือกับผลกระทบที่เกิดกับจอประสาทตาได้ตั้งแต่แรกเริ่ม
  • จอประสาทตาเสื่อมจากพยาธิสภาพของจอตาเอง มักเป็นมาแต่กำเนิด เช่น จอประสาทตาบางกว่าปกติ มีรูขาด หลุดลอก หรือจอประสาทตาเสียหายจากภาวะสายตาสั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดในผู้ที่มีสายตาสั้นมากๆ

นอกจากนี้ ยังมีโรคของจอประสาทตาที่เกิดจากโรคเลือดบางอย่างทั้งเลือดข้นมากและเลือดจาง โรคในกลุ่มภูมิต้านตนเอง (autoimmune disease) โรคติดเชื้อ รวมถึงอุบัติเหตุที่เกิดกับดวงตาหรือปัญหาจากการผ่าตัดดวงตา

เมื่อไหร่ควรตรวจ

โดยส่วนมากผู้ที่มาพบแพทย์มักมาด้วยอาการตามัว เห็นเงาหรือจุดดำลอยไปมา หรือเห็นแสงแวบคล้ายฟ้าแลบ ซึ่งเป็นอาการเตือนว่าจอประสาทตาอาจมีปัญหา แต่ความจริงคือความเสียหายของจอประสาทตาอาจเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ โดยไม่มีอาการใดๆ เลย ดังนั้นคำแนะนำที่ดีที่สุดคืออย่างน้อยควรได้รับการตรวจตาด้วยจักษุแพทย์อย่างน้อยสักครั้ง โดยเฉพาะหากคุณเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้แก่ ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคจอตา ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีสายตาสั้นมากคือสั้น 600 ขึ้นไปรวมถึงผู้ที่เคยทำ LASIK มาก่อน ควรได้รับการตรวจจอประสาทตาอย่างสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการ

การตรวจรักษา

แพทย์จะตรวจการมองเห็นโดยทั่วไป ร่วมกับการหยอดยาขยายม่านตาเพื่อให้สามารถตรวจดูจอประสาทตาได้โดยละเอียด บางกรณีแพทย์อาจตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การถ่ายรูปจอประสาทตา สแกนดูความหนาของชั้นจอประสาทตาด้วยเครื่องมือพิเศษ ฉีดสีเพื่อดูลักษณะของหลอดเลือดในกรณีที่จำเป็น เมื่อเข้ารับการตรวจตา ไม่ควรมาตรวจเพียงลำพัง เนื่องจากการหยอดยาขยายม่านตาจะทำให้ตาพร่ามัวประมาณ 2-4 ชั่วโมง ซึ่งอาจลำบากในการเดินทางกลับได้

การป้องกัน

โรคของจอประสาทตาบางโรคสามารถป้องกันได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง เช่น การควบคุมโรคเบาหวาน งดสูบบุหรี่ โดยทั่วไปแล้ว แพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ป้องกันดวงตาจากแสงแดดและจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม การป้องกันโรคจอประสาทตาที่ดีที่สุดคือ “ต้องอย่าใจเย็น” ยิ่งพบความผิดปกติเร็วเท่าใด การดูแลรักษาก็ยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจประเมินจอประสาทตาจากจักษุแพทย์เป็นระยะๆ โดยไม่ต้องรอให้มีอาการก่อนเพื่อดูว่ามีความผิดปกติของดวงตาและจอประสาทตาหรือไม่

การรักษา

การรักษาโรคมีหลายวิธีขึ้นอยู่ปัญหาของจอประสาทตาที่พบ ได้แก่ การฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตา การจี้จอตาด้วยเลเซอร์ และการผ่าตัด ผู้ป่วยจำเป็นต้องควบคุมโรคต่างๆ ทางกาย โดยเฉพาะโรคเบาหวานไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ โรคจอประสาทตาเป็นโรคที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด ผู้ป่วยจึงควรมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง


เบาหวานขึ้นตา

เทคโนโลยีการรักษา โรคเบาหวานเข้าจอประสาทตา

เมื่อเทียบสัดส่วนต่อประชากรคนไทยพบว่า มีผู้ป่วยโรคเบาหวานอยู่ประมาณ 10-15% โดยมีแนวโนัมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มเกิดโรคในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยลง สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น อาหารฟาสต์ฟูดส์ อาหารที่มีแคลอรีสูง มีน้ำตาลสูง คาร์โบไฮเดรตสูง ทำให้สมดุลของการนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานกับส่วนที่เหลือค้างในกระแสเลือดผิดไปจากที่ควรจะเป็น ส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานขึ้น นอกจากนี้พันธุกรรมยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ คือเมื่อพ่อแม่ป่วยเป็นเบาหวาน ลูก ๆ ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคเบาหวานมากขึ้น เมื่อภาพรวมแนวโน้มอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานในประชากรสูงขึ้น ย่อมส่งผลให้อุบัติการณ์ของโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตาสูงขึ้นตามไปด้วย การรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายให้เหมาะสม ต้องอาศัยความร่วมออกกำลังกายให้เหมาะสม ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างอายุรแพทย์ผู้รักษาโรคเบาหวานและจักษุแพทย์ประสานงานกัน เพื่อให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานทุกรายได้รับการตรวจจอประสาทตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้สามารถรับการวินิจฉัยโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตาได้ในระยะเริ่มแรก และให้การรักษาอย่างทันท่วงที

ความล้ำหน้าของนวัตกรรมเกี่ยวกับการตรวจรักษาโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตา ของ โรงพยาบาลสุขุมวิท

การตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตาด้วยวิธีมาตรฐาน คือ การตรวจจอประสาทตาด้วยวิธีขยายม่านตา ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันทั่วไป โดยพยาบาลจะหยอดยาขยายม่านตาให้แก่ผู้ป่วยทุก 5 นาที แล้วรอเวลาให้ม่านตาของผู้ป่วยค่อย ๆ ขยายออกจนเต็มที่ โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อจักษุแพทย์ส่องกล้องตรวจจอประสาทตาเสร็จแล้วม่านตาจะยังคงอยู่ในท่าขยายต่อไป ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการตามัวจากฤทธิ์ของยาขยายม่านตาต่อไปหลังการตรวจราว 4-6 ชั่วโมง นอกจากนี้ยาขยายม่านตาอาจส่งผลกระทบต่อโรคประจำตัวของผู้ป่วยเช่นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงได้ อย่างไรก็ตามวิธีการตรวจดังกล่าวยังคงให้ผลการตรวจที่ละเอียดที่สุดและยังคงเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

โรงพยาบาลสุขุมวิท มีเครื่องมือที่ช่วยให้การตรวจจอประสาทตาและรักษาเบาหวานเข้าจอประสาทตามีความสะดวกปลอดภัยและมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ดังนี้

  1. กล้องถ่ายภาพจอประสาทตาโดยไม่ต้องขยายม่านตา (Non-mydriatic Fundus Camera) ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจจอประสาทตาได้ในรายที่ไม่สะดวกที่จะรับการขยายม่านตาหรือมีข้อห้ามบางประการเช่นความดันโลหิตสูงมาก โรคหัวใจ เป็นต้น แต่การตรวจจอประสาทตาด้วยวิธีขยายม่านตาก็ยังคงให้รายละเอียดที่สูงกว่า
  2. เครื่องสแกนจอประสาทตาด้วยแสงเลเซอร์ (Optical Coherence Tomography) เป็นอุปกรณ์ที่สามารถให้ภาพภาคตัดขวางของเนื้อจอประสาทตาที่มีความละเอียดสูงมาก คล้ายการทำ MRI scan สมอง เป็นวิธีการที่มีความปลอดภัยสูงมากเนื่องจากไม่ต้องฉีดสารทึบรังสีใด ๆ เข้าสู่ร่างกาย และเลเซอร์ที่ใช้ก็มีความปลอดภัยต่อตาของมนุษย์ ช่วยให้เห็นรายละเอียดภายในชั้นเนื้อจอประสาทตาว่ามีการบวมขนาดเล็ก มีของเหลวรั่วอยู่ได้จอประสาทตา หรือมีพังผืดขนาดบางมาก ๆ เกาะอยู่บนผิวจอประสากตาหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่อาจตรวจไม่พบจากการส่องกล้องตรวจปกติ ส่งผลให้ทำการวินิจฉัยโรคและทำการรักษาได้ในระยะเริ่มแรกมากขึ้น
  3. เครื่องเลเซอร์จอประสาทตา (Argon Laser-532) เป็นอุปกรณ์กำเนิดแสงเลเชอร์เพื่อใช้ในการรักษาเบาหวานเข้าจอประสาทตาในระยะต่าง ๆ เพื่อให้โรดสงบลงและฟื้นการมองเห็นกลับคืนมา อุปกรณ์ดังกล่าวนี้สามารถใช้ในแผนกตาผู้ป่วยนอกและสามารถเคลื่อนย้ายไปใช้ในการทำผ่าตัดจอประสาทตาในห้องผ่าตัดได้ด้วย
  4. เครื่องผ่าตัดวุ้นตาและจอประสาทตา (vitrectomy Machine) เป็นเครื่องมือรุ่นใหม่ล่าสุดในปัจจุบัน ใช้เพื่อทำผ่าตัดลงเลือดออกจากช่องวุ้นตา และลอกพังผืดออกจากผิวจอประสาทตา หรือซ่อมแชมจอประสาทตาที่ขาดและลอกตัวจากเบาหวานได้

ระยะของเบาหวานเข้าจอประสาทตา

โดยทั่วไปถ้าควบคุมเบาหวานได้ดี ระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting blood sugar) สูงไม่เกิน 140 mg/dl ในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ส่วนมากผู้ป่วยจะยังปลอดภัยจากเบาหวานเข้าจอประสาทตา ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมักควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีและเป็นเบาหวานมานานเกินกว่า 5 ปี สามารถแบ่งโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตาได้เป็น 2 ระยะคือ ระยะเริ่มแรก (Non-proliferative diabetic retinopathy, NPDR) และระยะลุกลาม (Proliferative diabetic retinopathy, PDR) ระยะเริ่มแรกจะมีลักษณะพบจุดเลือดออก และมีโปรตีนรั่วบนเนื้อจอประสาทตา อาจพบศูนย์กลางจอประสาทตาบวมร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งจะเป็นสาเหตุของอาการตามัวในระยะนี้ ระยะลุกลามจะมีลักษณะพบเส้นเลือดฝอยผิดปกติงอกใหม่ปรากฏบนเนื้อจอประสาทตา อาจมีเลือดออกในช่องวุ้นตา จอประสาทตาลอกจากพังผืดดึงรั้งบนจอประสาทตา อาจพบศูนย์กลางจอประสาทตาและขั้วประสาทตาบวมร่วมด้วยก็ได้ ระยะนี้เป็นระยะที่สำคัญมาก หากรักษาไม่ทันท่วงทีจะส่งผลให้ตาบอดได้

การตรวจคัดกรองโรค

ผู้ป่วยเบาหวานทุกรายจำเป็นต้องได้รับการตรวจคัดกรองว่ามีเบาหวานเข้าจอประสากตาหรือไม่โดยเร็วที่สุด เนื่องจากในขณะที่อายุรแพทย์วินิจฉัยโรคเบาหวานในครั้งแรก ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยเพิ่งเริ่มป่วยเป็นเบาหวาน พบว่าผู้ป่วยหลายรายได้รับการตรวจพบเบาหวานเข้าจอประสาทตาในระยะลุกลามแล้วในขณะที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคเบาหวานในครั้งแรก ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโรค ผู้ป่วยเบาหวานทุกรายต้องได้รับการตรวจคัดกรองเบาหวานเข้าจอประสาทตาโดย

  1. หากตรวจแล้วผลเป็นปกติ ควรได้รับการตรวจซ้ำที่ 1 ปื
  2. หากพบว่าเป็นเบาหวานระยะแรก ควรได้รับการตรวจซ้ำที่ 3 ถึง 6 เดือน
  3. หากพบว่าเป็นเบาหวานระยะลุกลามหรือ พบศูนย์กลางจอประสาทตาบวม ต้องได้รับการรักษาในทันที

เบาหวานขึ้นจอประสาทตา รักษาได้อย่างไรบ้าง?

  • เบาหวานเข้าจอประสาทตาระยะแรก กรณีไม่มีศูนย์กลางจอประสาทตาบวม ใช้วิธีนัดตรวจติดตามอาการทุก 3 ถึง 6 เดือนกรณีมีศูนย์กลางจอประสาทตาบวม มีทางเลือกในการรักษาโดยการใช้เลเซอร์หรือการฉีดยาเข้าสู่ช่องวุ้นตา
  • เบาหวานเข้าจอประสาทตาระยะลุกลาม มีทางเลือกในการรักษา 3 ทางคือ
    1. การใช้เลเซอร์
    2. การฉีดยาเข้าสู่ช่องวุ้นตา
    3. การผ่าตัดจอประสาทตา

โดยจักษุแพทย์สาขาจอประสาทตาจะเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย

การรักษาทุกวิธีข้างต้นรวมถึงการผ่าตัดรักษาจอประสาทตา กว่า 90% เป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ภายใต้ยาชาเฉพาะที่ ระยะเวลาในการทำผ่าตัดรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความยากง่ายของโรค โดยทั่วไปใช้เวลาในการผ่าตัดประมา 1 ชั่วโมง ซึ่งการรักษาแบบผู้ป่วยนอกและไม่ต้องดมยาสลบนี้ส่งผลดีต่อผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหลายๆโรค ช่วยให้มีความปลอดภัยสูงขึ้นและประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษา

การปฏิบัติตัวหลังเข้ารับการรักษา

  • กรณีรับการรักษาด้วยเลเชอร์ ผู้ป่วยสามารถเดินทางกลับบ้านได้ทันที ใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่มีข้อห้ามใดๆ
  • กรณีรับการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าสู่ช่องวุ้นตา ห้ามน้ำเข้าตาเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ส่วนการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ระยะพักฟื้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของการผ่าตัดโดยทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 2-4 สัปดาห์

โรคเบาหวานเข้าจอประสาทตาเป็นภัยเงียบที่มากับโรคเบาหวาน ในระยะเริ่มแรกอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลย อย่าได้นิ่งนอนใจว่าน่าจะไม่มีอะไรผิดปกติ การเพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นเบาหวานอาจไม่ได้หมายความว่าท่านเพิ่งป่วยเป็นเบาหวานเสมอไป ท่านอาจป่วยเป็นเบาหวานมาระยะหนึ่งแล้วโดยไม่แสดงอาการก็ได้ ซึ่งหมายความว่าเบาหวานอาจเข้าสู่จอประสาทตาของท่านเรียบร้อยแล้ว

p style="text-indent: 5%;">เมื่อใดที่ทราบว่าป่วยเป็นโรคเบาหวานจำเป็นต้องได้รับการตรวจจอประสาทตาโดยเร็วที่สุด ท่านจะมีความเสี่ยงสูงในกรณีที่ท่านมีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคเบาหวาน, มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน (Body mass index สูงกว่า 25), อยู่ในภาวะตั้งครรภ์และมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินค่าปกติ การมีความดันโลหิตสูงและระดับไขมันในเลือดสูงจะเป็นปัจจัยให้การดำเนินโรคแย่ลงเร็วขึ้น การตรวจคัดกรองและพบความผิดปกติในระยะเริ่มแรกจะช่วยให้ท่านสามารถรักษาการมองเห็นและดวงตาของท่านเอาไว้ได้ จึงควรขอรับคำปรึกษาและรับการตรวจจอประสากตาจากจักษุแพทย์ที่ท่านไว้วางใจเพื่อดวงตาที่ท่านรักจะยังคงการมองเห็นที่ชัดเจนตลอดไป

 


ศูนย์ตา โรงพยาบาลสุขุมวิท


รศ.นพ. ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์

รศ.นพ. ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยาและต้อหิน

    

พญ. ณัฐธิดา ชาติบัญชาชัย

พญ. ณัฐธิดา ชาติบัญชาชัย
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยาและต้อหิน



สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: ศูนย์ตา
ชั้น 6 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 601, 602

ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

facebook instagram line youtube