“โรคหัวใจ” ไม่เลือกวัย ถึงอายุน้อยก็เป็นได้

โรคหัวใจ

โรคหัวใจในสมัยก่อนมักจะตรวจพบในกลุ่มคนที่มีอายุมาก แต่ปัจจุบันกลับพบในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ประกอบกับในปัจจุบัน โรคหัวใจเป็นโรคยอดฮิตอันดับต้นๆ ที่คร่าชีวิตของคนทั่วโลก และมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นายแพทย์ นิวิธ กาลรา แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด ประจำโรงพยาบาลสุขุมวิท มาช่วยเสริมข้อมูลให้ว่าใน ปัจจุบันพบว่าคนที่อายุยังน้อย หรือวัยรุ่นก็มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้มากเช่นกัน

เวลาพูดถึง “โรคหัวใจ” คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่าคนวัยรุ่น แต่จริงๆ แล้วในปัจจุบันนี้ การใช้ชีวิตของคนอายุยังน้อยล้วนมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัวใจกันมากขึ้น ทั้งเรื่องอาหารการกิน การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อเกิดการสะสมนานวันเข้าในวัยรุ่นบางราย ก็พบว่ามีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัวใจมากขึ้นตามไปด้วย หรือในบางรายแม้จะเป็นนักกีฬาที่มองว่าตัวเองมีร่างกายแข็งแรง แต่ก็ต้องพบแพทย์เพื่อตรวจสภาพความแข็งแรงของหัวใจเป็นประจำ

โรคหัวใจในผู้ที่มีอายุน้อยเกิดขึ้นได้อย่างไร และเป็นโรคอะไรได้บ้าง

ในกลุ่มของคนอายุน้อย ส่วนใหญ่พบว่ามักจะเป็นโรคหัวใจที่เกิดจากกรรมพันธุ์ หรือมีความผิดปกติที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด รวมทั้งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยที่พบมากที่สุดก็คือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ พักผ่อนน้อย ไม่ออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ส่งผลให้มีทั้งโรคอ้วน เบาหวาน ไขมัน ความดันโลหิตสูง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจตามมา ในปัจจุบันพบว่าคนอายุ 25 – 40 ปี ก็เป็นโรคหัวใจแล้ว หรือแม้แต่คนที่ร่างกายแข็งแรง เป็นนักกีฬาก็มีความเสี่ยงในการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจได้เช่นกัน

โรคหัวใจที่เกิดขึ้นมีโรคหัวใจอะไรบ้าง

มีตั้งแต่โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ ทั้งหัวใจรั่ว หรือ ตีบ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคกล้ามเนื้อหัวใจต่างๆ

สังเกตอาการของโรคหัวใจด้วยตัวเองในเบื้องต้น

เริ่มตั้งแต่อาการเจ็บแน่นบริเวณหน้าอก โดยเฉพาะหน้าอกด้านซ้าย ส่งผลให้หายใจไม่สะดวก ในบางรายพบว่ามีอาการเหนื่อยง่ายมากขึ้นเวลาทำกิจกรรมต่างๆ แม้กระทั่งกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ เช่น การเดินขึ้นลงบันได การเดินออกกำลังกาย หรือในบางรายมีอาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติ ก็ควรรีบมาพบแพทย์ในทันที

วิธีการป้องกันโรคหัวใจในกลุ่มคนอายุน้อย

1.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
เริ่มตั้งแต่การดูแลตัวเอง และให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมทั้งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เน้นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ พยายามหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และมีรสเค็ม ควบคุมน้ำตาล รวมทั้งควรทำให้น้ำหนักอยู่ตามเกณฑ์ โดยจะต้องพิจารณาจากส่วนสูงร่วมด้วย

2.หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ
การตรวจสุขภาพเป็นประจำนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญของคนไข้ในกลุ่มโรคนี้ ข้อดีก็มีมากมายตั้งแต่ในกรณีที่ไม่มีอาการ แล้วตรวจพบความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ ก็สามารถทำการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ หรือในกรณีที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคหัวใจเช่นมีคนในครอบครัวเป็นมาก่อน หรือมีโรคอื่นๆ ที่ส่งผลให้เป็นโรคหัวใจตามมา อาทิโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง การตรวจสุขภาพเป็นประจำจะช่วยวินิจฉัย และทำการรักษาโรคหัวใจได้เร็วยิ่งขึ้น แถมยังช่วยให้คนไข้ลดโอกาสการเกิดอันตรายต่อชีวิต และช่วยลดค่าใช้จ่ายของการรักษาในระยะยาวได้

3. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ใน 1 สัปดาห์ควรใช้เวลาออกกำลังกายประมาณ 150 นาที หรือจะแบ่งง่ายๆ เป็น 30 นาทีต่อ 5 วัน หรือ 50 นาที ต่อ 3 วัน ก็ได้ ส่วนวิธีการออกกำลังกายสามารถออกกำลังกาย ได้ทั้งแบบคาดิโอ หรือเวทก็ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ แบดมินตัน ฯลฯ ขอให้มีเหงื่อเวลาออกกำลังกายจะเป็นประโยชน์ที่สุด แต่ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมจนเกินไป

การที่เราเข้าใจถึงที่มาที่ไปของโรคหัวใจ จะช่วยป้องกันให้ห่างไกลโรคหัวใจได้อีกทางหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญเลยคือการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะสำหรับโรคหัวใจแล้ว เป็นโรคใกล้ตัวสำหรับทุกคน แม้จะเป็นคนวัยรุ่นที่มีสุขภาพแข็งแรงมากๆ ก็อาจจะพบว่าเป็นโรคหัวใจซ่อนอยู่ก็ได้ครับ

นพ. นิวิธ กาลรา

นพ. นิวิธ กาลรา
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด



สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: ศูนย์โรคหัวใจ
ชั้น 6 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 665, 666


ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล: