พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย แบบไหนเข้าข่าย “พัฒนาการล่าช้า”

พัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย

“พัฒนาการของลูก” เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่กังวลใจกันมาก บางบ้านหาข้อมูลเตรียมตัวกันมาอย่างดี แต่จู่ ๆ ก็เริ่มไม่มั่นใจว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องกันแน่

เกณฑ์ง่าย ๆ เพิ่มความอุ่นใจให้ครอบครัว

คุณหมออธิบายว่า พัฒนาการของเด็กนั้นมี 4 ด้าน คือด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก ด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ด้านสังคม และด้านภาษา ซึ่งวิธีสังเกตง่าย ๆ ว่าพัฒนาการลูกปกติหรือไม่ ก็คือเมื่ออายุเขาครบตามเกณฑ์ นี่คือสิ่งที่เขาควรจะทำได้

  • ด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ : 4 เดือนเด็กจะเริ่มพลิกคว่ำได้ พอ 6 เดือนเริ่มนั่งได้ และเริ่มคลานได้ตอน 8 เดือน
  • ด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก : 9 เดือนเด็กจะเริ่มหยิบจับของชิ้นเล็กได้ เช่น หยิบลูกเกดเข้าปากเองได้
  • ด้านสังคม : 2 เดือน เด็กเริ่มยิ้มตอบได้ 4 เดือนเริ่มดีใจเวลาเจอคนเลี้ยง 9 เดือน ก็เล่นจ๊ะเอ๋กับคุณพ่อคุณแม่ได้
  • ด้านภาษา : 9 เดือนเด็กจะเริ่มเรียกแม่ว่า “มามา” เรียกพ่อว่า “ปาปา” พอ 1 ขวบ ก็จะเริ่มพูดเป็นคำได้ 1 คำ เช่น ถ้าอยากกินนมก็จะพูดคำว่า “นม” อยากไปไหนก็จะพูดว่า “ไป” เริ่มชี้บอกความต้องการได้ และเดินเองได้

อาการแบบไหนเริ่มเข้าข่าย “พัฒนาการช้า”

จุดสังเกตง่าย ๆ ที่คุณหมอบอกไว้ก็คือ ถ้าคนอื่นเริ่มทำได้แล้ว แต่ลูกเรายังทำไม่ได้ นั่นคือสัญญาณเริ่มต้นของความผิดปกติแล้ว “เกณฑ์ที่พูดไปนั้น ความจริงก็ค่อนข้างช้าแล้ว นั่นหมายความว่า เด็กไม่ควรจะมีพัฒนาการช้ากว่านี้ เช่น เด็กส่วนใหญ่มักจะพูดได้ก่อน 1 ขวบอยู่แล้ว แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ลูก 1 ขวบแล้วยังไม่พูด ไม่ชี้บอกความต้องการ ไม่หยิบจับของเล็ก ๆ หรือไม่เดิน ให้รีบพามาพบกุมารแพทย์” คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าเพิ่งตกใจไป พาน้อง ๆ มาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุและวิธีการรักษาให้ตรงจุด

“TUMMY TIME” เทคนิคเสริมสร้างพัฒนาการให้ลูกน้อย

ในเด็กที่มีอายุเกิน 3 เดือนขึ้นไป คุณหมอแนะนำวิธีที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้ลูกน้อยเองได้ที่บ้าน “ให้คุณพ่อคุณแม่นอนเอนตัวประมาณ 45 องศา แล้ววางตัวเด็กให้ท้องชนท้อง มือหนึ่งประคองหลัง อีกมือประคองก้น ท่านี้เป็นการบังคับให้เด็กพยายามยกตัวขึ้นมา จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อคอ หลัง และยังสามารถกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาได้ด้วย เพราะระหว่างที่ทำ คุณพ่อคุณแม่สามารถพูดคุยกับเด็กไปด้วยได้ ทำเสียงสูง ต่ำ ให้เขาสนใจกับเสียงพูดของเรา”

“เสียง” สิ่งสำคัญช่วยกระตุ้นการเรียนรู้

คุณหมอบอกว่าอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของเด็กเล็กได้ดี นั่นก็คือ “เสียง” คุณพ่อคุณแม่อาจจะเขย่ากรุ๊งกริ๊งไปด้านซ้ายที ขวาที ขึ้นบน ลงล่าง ให้เด็กมองตาม วิธีนี้จะช่วยพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ได้เร็วกว่าคนอื่น แต่ถ้าเป็นในกรณีที่เด็กเกิน 4 เดือนไปแล้ว คุณหมอแนะนำให้เริ่มอ่านหนังสือให้เขาฟัง เด็กอายุ 4-12 เดือน คุณพ่อคุณแม่ควรจะเลือกหนังสือที่เป็นผ้าหรือเป็นยาง ที่ไม่ทำอันตรายต่อเด็ก ไม่มีมุมแหลมคม ฉีกไม่ได้ ส่วนรูปภาพก็จะเน้นรูปสัตว์ตัวใหญ่ ๆ เช่น ยีราฟ สิงโต คอยชี้ให้เด็กดู ให้เขามีส่วนร่วมในการจับ ในการเปิดหน้าหนังสือ อาจจะมีการทำท่าเลียนแบบให้ดูด้วยก็ได้ เช่น ท่ากระต่าย ท่าแมวมีหนวด หรือทำเสียงสูงต่ำให้เด็กรู้สึกสนใจ

WATCH OUT!

การให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบดูทีวีหรือแท็บเล็ต นอกจากจะไม่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กแล้ว ยังอาจทำให้เด็กเกิดสมาธิสั้น และส่งผลให้พัฒนาการล่าช้า เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่สามารถมีปฏิกิริยาตอบสนองหรือมีการปฏิสัมพันธ์ใด ๆ ได้เหมือนกับคุณพ่อคุณแม่ หรือคนเลี้ยงนั่นเอง เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรที่จะมีช่วงเวลากับเด็กให้ได้อย่างน้อย 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ 3 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อพัฒนาการที่ดีของลูกน้อย




นายแพทย์กิตติศักดิ์ สุรประยูร
กุมารแพทย์

VAR_INCL_CK