ดูแลหัวใจลูกน้อยให้ปลอดภัย

โรคหัวใจเด็ก

ดูแล "หัวใจลูกน้อย" ให้ปลอดภัย

เมื่อลูกบอกว่ามีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอก ความกังวลอย่างแรกของคนเป็นคุณพ่อและคุณแม่คงหนีไม่พ้น "ลูกของเราเป็นโรคหัวใจหรือไม่" "อาการนี้อันตรายไหม" "แล้วเราจะต้องทำอย่างไรบ้าง" ซึ่งในบทความนี้จะอธิบายให้คุณพ่อคุณแม่ทราบถึงสาเหตุหลักและแนวทางการวินิจฉัย ตลอดจนการรักษาอาการเจ็บหน้าอกในเด็ก

สาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกในเด็ก

แม้ว่าอาการเจ็บหน้าอกในเด็กที่แข็งแรงดีมาก่อนจะฟังดูน่าตกใจ แต่ในทางสถิติแล้วอาการเจ็บหน้าอกในเด็กที่มีสาเหตุมาจากระบบหัวใจและหลอดเลือดนั้นพบได้น้อยมาก ซึ่งจุดนี้จะแตกต่างจากอาการเจ็บหน้าอกในผู้สูงวัย ซึ่งพบอัตราการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้มากกว่าเมื่อเทียบกับผู้ป่วยเด็ก อาการเจ็บหน้าอกในเด็กสามารถแบ่งสาเหตุได้คร่าวๆ ดังนี้

  1. สาเหตุที่ไม่ได้เกิดจากหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งพบได้มากถึง 98% สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือ การอักเสบของกระดูกและกล้ามเนื้อผนังทรวงอก รองลงมาคือสาเหตุจากระบบหายใจ เช่น โรคหืด โรคหวัด หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ และทางเดินอาหาร เช่น โรคกรดไหลย้อน กระเพาะอาหารอักเสบ หรือแม้แต่ความเครียดก็ทำให้มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกได้เช่นกัน
  2. สาเหตุจากหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งพบได้น้อยกว่ามากแต่มีความอันตรายถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม ในกลุ่มนี้โรคที่พบได้คือ การอักเสบของกล้ามเนื้อและ/หรือเยื่อหุ้มหัวใจ, โรคผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ, โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือแม้แต่โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โดยเฉพาะโรคที่มีหลอดเลือดโคโรนารีออกจากตำแหน่งผิดปกติแต่กำเนิด

อาการเจ็บหน้าอกของลูกอันตรายหรือไม่

เบื้องต้นสามารถประเมินความเร่งด่วนได้จากอาการ หากสามารถบอกอาการปวดเป็นแบบแปล๊บ ๆ จี๊ด ๆ และสามารถชี้ตำแหน่งได้ชัดเจน หรือสัมพันธ์กับท่าทางอิริยาบถ สาเหตุมักจะมาจากกล้ามเนื้อหรือเอ็นอักเสบ หากอาการเจ็บสัมพันธ์กับมื้ออาหาร หรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน แสบร้อนร่วมด้วย ก็ชี้นำไปที่ระบบทางเดินอาหารมากกว่า ทั้งนี้อาการเจ็บหน้าอกในเด็กที่ควรได้รับการประเมินเร่งด่วน เนื่องจากอาจมีสาเหตุจากหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่

  1. เจ็บแน่น ๆ กลางหน้าอก ซึ่งเด็กบางคนอาจบรรยายว่าเหมือนถูกกดทับ ร่วมกับอาการปวดร้าวไปที่แขนซ้าย
  2. เจ็บขณะออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่ต้องใช้แรง
  3. อาการปวดรุนแรง
  4. มีอาการร่วม โดยเฉพาะ เป็นลม หน้ามืด เวียนศีรษะ ใจสั่นหรือใจเต้นเร็ว
  5. มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคหัวใจ
  6. มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหัวใจตั้งแต่อายุน้อย รวมถึงญาติพี่น้องเสียชีวิตกะทันหัน และโรคลมชัก

ขั้นตอนในการตรวจ

เบื้องต้นจะมีการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทาง ในกรณีที่อาการเจ็บหน้าอกชี้นำไปทางด้านหัวใจและหลอดเลือด กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจอาจส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ซึ่งการตรวจเหล่านี้เป็นการตรวจที่สามารถทำได้อย่างปลอดภัยในเด็ก

แนวทางการรักษา

แนวทางการรักษาจะขึ้นกับว่า อาการเจ็บหน้าอกนั้นเกิดจากสาเหตุใด

  1. การอักเสบของกระดูกและกล้ามเนื้อผนังทรวงอกที่อาการไม่รุนแรงมักจะหายเองโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวด ในกรณีที่อาการเจ็บรุนแรงหรือเป็นนานอาจใช้วิธีการประคบอุ่นหรือรับประทานยาแก้ปวดเวลามีอาการ ทั้งนี้ผู้ปกครองควรปรึกษากุมารแพทย์ก่อนให้บุตรหลานรับประทานยา เนื่องจากยาแก้ปวดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้
  2. หากอาการเจ็บหน้าอกมีสาเหตุมาจากหัวใจและหลอดเลือดแนวทางการรักษาก็จะจำเพาะกับโรคนั้น ตัวอย่างเช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบเร็ว (Tachyarrhythmia) จะมีแนวทางการรักษาโดยการรับประทานยาโรคหัวใจหรือการจี้ไฟฟ้าหัวใจหรือโรคหลอดเลือดโคโรนารีออกจากตำแหน่งผิดปกติแต่กำเนิด (ALCAPA) จะต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดย้ายเส้นทางเดินเลือดของหลอดเลือดโคโรนารีอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ อาการเจ็บหน้าอกในเด็กอาจสังเกตได้ยากโดยเฉพาะในเด็กเล็กซึ่งพัฒนาการตามวัยยังไม่สามารถบรรยายอาการต่าง ๆ ได้เต็มที่ อาการที่ผู้ปกครองจะสังเกตได้ อาจมีเพียงการนำมือกุมหน้าอก, เหงื่อแตก หน้าซีดคล้ายจะเป็นลมขณะวิ่งเล่น, อาการดูดนมแล้วเหนื่อยหรือดูดไปพักไปในเด็กทารก หากมีอาการที่น่าสงสัย ขอแนะนำให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานของท่านมาตรวจที่โรงพยาบาลทันที



พญ.อภิญญา พราหมณี
พญ.อภิญญา พราหมณี
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านกุมารเวชศาสตร์โรคหัวใจ




สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :
ศูนย์กุมารเวช
ชั้น2A โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 314, 317, 318



ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

VAR_INCL_CK