เทคนิคการรักษาโรคหลอดเลือดสมองด้วยการฉีดสีหลอดเลือดสมองโดยไม่ต้องผ่าตัด


เทคนิคการรักษาโรคหลอดเลือดสมองด้วยการฉีดสีหลอดเลือดสมองโดยไม่ต้องผ่าตัด

การฉีดสีหลอดเลือดสมอง (Cerebral Angiography)เป็นการศึกษาหลอดเลือดของส่วนคอ และหลอดเลือดส่วนสมอง เพื่อการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของหลอดเลือดชนิดต่างๆ เช่น หลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral Aneurysm) หลอดเลือดสมองเชื่อมต่อกันอย่างผิดปกติ (Arterio-Venous Malformation/Fistula) ตลอดจนการวินิจฉัยระดับหลอดเลือดฝอย และหลอดเลือดดำ Venous Anomaly การฉีดสีหลอดเลือดในสมัยก่อน จะใช้วิธีการฉีดสี และถ่ายภาพเอกซเรย์เป็นครั้ง ทำให้ภาพที่ได้ยังไม่ชัดเจนมากนัก ขึ้นกับความเร็วของการถ่ายภาพ และความคลาดเคลื่อนของภาพอีกด้วย ปัจจุบันเทคโนโลยีการฉีดสีหลอดเลือดสมองมีความก้าวหน้าอย่างยิ่ง ได้เปลี่ยนการฉีดสีหลอดเลือดสมองปกติ เป็นการฉีดสีแบบลบภาพกระโหลกศรีษะออก ตลอดจนการใช้ระบบบันทึกภาพแบบดิจจิตัล รวมถึงการทำภาพสามมิติได้อีกด้วย Digital subtraction 3D cerebral angiography


การวินิจฉัยหลอดเลือดสมอง ด้วยวิธีการฉีดสีหลอดเลือดสมองโดยตรงนั้น Digital Subtraction Cerebral Angiography จัดเป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดส่วนสมองและคอชนิดมาตรฐานที่สุดในปัจจุบัน เพื่อให้ได้ข้อมูลการตรวจวินิจฉัยอย่างครบถ้วน ประโยชน์ที่ได้รับจากการทำการตรวจวินิจฉัยชนิดนี้คือ สามารถวินิจฉัยหลอดเลือดเพื่อค้นหาความผิดปกติ ว่าหลอดเลือดสมองมีภาวการณ์แตก อุดตัน โป่งพองหรือไม่ และสามารถให้การรักษาได้ในคราวเดียวกัน โดยให้ผลการวินิจฉัยที่แม่นยำ สามารถรักษาได้ทันการ ประหยัดเวลา และฟื้นตัวเร็ว


วิธีการฉีดสีหลอดเลือดสมอง (Digital Subtraction Cerebral Angiography) แพทย์จะทำการใส่สายสวนหลอดเลือด (Catheter) ที่ต้นขาหรือต้นแขนขึ้นไปถึงหลอดเลือดส่วนคอและสมอง จากนั้นทำการฉีดสารทึบแสงผ่านสายสวนเข้าไปยังหลอดเลือดทีละเส้น ดูความผิดปกติหลอดเลือดแดง หลอดเลือดฝอย และหลอดเลือดดำตามลำดับ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ โดยผ่านหน้าจอเอกซเรย์และทำการบันทึกไว้ โดยผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อยเหมือนแทงเข็มน้ำเกลือทั่วไป ขณะฉีดสีหลอดเลือดสมองผู้ป่วยอาจมีอาการร้อนบริเวณใบหน้าบางครั้งเท่านั้น

ข้อดีของการวินิจฉัยด้วยวิธีนี้จะสามารถทำการตรวจวินิจฉัยในหลอดเลือดสมองได้อย่างชัดเจนที่สุด เมื่อเทียบกับการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นๆ เช่นการตรวจด้วยเครื่องซีทีสแกน (CT Scan) หรือตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI) เป็นต้น ในผู้ป่วยบางรายที่พบความผิดปกติจากภาพเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอ็มอาร์ไอนั้น อาจพบว่าไม่ใช่ของจริงก็เป็นได้ (False positive)

ปัจจุบันสามารถใช้วิธีการทำด้วยเครื่อง เอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้า เอ็มอาร์ไอ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT ซึ่งพบว่าในเครื่องที่เป็นรุ่นใหม่สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้เทียบเท่าใกล้เคียงกับการฉีดสีหลอดเลือดสมองได้ถึงร้อยละ 80 แต่อย่างไรก็ตามก็ยังจัดว่าไม่ใช้วิธีมาตรฐาน ดังนั้นหากพบว่ามีการผิดปกติของหลอดเลือดสมองโดยวิธีการดังกล่าวอาจมีความจำเป็นที่ต้องมาฉีดสีหลอดเลือดสมองโดยตรงอีกครั้ง

ตาโปน

ภาพผู้ป่วย แสดงอาการของตาโปน ซึ่งได้รับการวินิจฉัย จากภาพเอกซเรย์ CT Scan

จากภาพผู้ป่วยแสดงอาการของตาโปน ซึ่งได้รับการวินิจฉัย จากภาพเอกซเรย์ CT Scan พบหลอดเลือดดำใหญ่โป่งพองผิดปกติในกระบอกตาขวา (Superior ophthalmic vein dilatation) ต่อมาได้รับการฉีดสีหลอดเลือดสมองโดยตรง Digital Subtraction Cerebral Angiography เพื่อการวินิจฉัยโรค พบว่ามีหลอดเลือดแดงรั่วเชื่อมต่อกับหลอดเลือดดำตาขวาผิดปกติ (Carotid-cavernous fistula) และในคราวเดียวกันได้ให้การรักษาด้วยการอุดรอยรั่วของหลอดเลือด ด้วยขดลวด ทำให้ผู้ป่วยไม่มีอาการตาโปนแดง และสายตากลับสู่ภาวะปกติภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องให้การดมยาสลบ หรือผ่าตัด

ฉีดสีหลอดเลือด

ภาพการฉีดสีหลอดเลือดสมอง Digital Subtraction Cerebral Angiography ชนิดสามมิติ

ฉีดสีหลอดเลือด

ภาพการฉีดสีหลอดเลือดสมอง Digital Subtraction Cerebral Angiography

ขดลวด

ภาพขดลวดที่ใช้อุดหลอดเลือดแดงในสมองรั่ว

วิธีการฉีดสีหลอดเลือดสมอง (Digital Subtraction Cerebral Angiography) เหมาะกับใคร

1.ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดคาโรติด (Carotid Disease) ส่งผลให้เกิดอาการอ่อนแรง/อัมพาต ชั่วคราว หรือถาวร โดยอาจมีอาการดังนี้

  • อาการชาครึ่งชีก
  • หน้าเบี้ยว
  • การทรงตัวไม่ดี
  • แขนขาอ่อนแรง

2.ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (Acute Stroke) เช่นหลอดเลือดสมองตีบ/อุดตัน หรือแตก โดยอาจมีอาการดังนี้

  • ปวดศรีษะรุนแรง
  • ใบหน้าแขนขาอ่อนแรง ครึ่งซีก
  • สับสนอย่างเฉียบพลัน
  • มีปัญหาการพูด
  • ใบหน้าเบี้ยว มุมปากตก
  • ตามองเห็นผิดปกติข้างเดียวหรือ สองข้าง
  • มองเห็นภาพซ้อน
  • กลืนลำบาก
  • ไม่รู้สึกตัว

3.ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของใบหน้า โดยอาจมีอาการดังนี้

  • เลือดกำเดาไหลไม่หยุด
  • มีปานบริเวณใบหน้า
  • มีเนื้องอกของโพรงจมูกและใบหน้า

เรียบเรียงโดย นพ. จักรี ธัญยนพพร ประสาทศัลยแพทย์ และศัลยแพทย์หลอดเลือดสมอง รพ. สุขุมวิท


นพ. จักรี ธัญยนพพร
นพ. จักรี ธัญยนพพร
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านประสาทศัลยแพทย์ และศัลยแพทย์หลอดเลือดสมอง



สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: ศูนย์ศัลยกรรม
ชั้น 1 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 110, 111

ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

facebook instagram line youtube
VAR_INCL_CK