โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะในคนอายุน้อย

โรคหัวใจ

1.โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะคือ...

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ กลุ่มโรคที่มีจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ซึ่งกลุ่มนี้มีหลายประเภท ยกตัวอย่างเช่น หัวใจเต้นช้าผิดปกติที่มักพบในผู้ป่วยสูงอายุ หรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติที่สามารถพบได้ในเกือบทุกช่วงอายุ และอีกชนิดที่สามารถพบได้ คือ กลุ่มที่มีอาการหัวใจเต้นสะดุด ซึ่งมักจะเกิดจากการที่บางตำแหน่งของหัวใจ มีการปล่อยสัญญาณไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติออกมา

2.หัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดกับคนอายุน้อย ต่างจากหัวใจเต้นผิดจังหวะในทารกอย่างไร

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถเกิดได้กับผู้ป่วยในทุกช่วงอายุ แต่ว่าในแต่ละช่วงอายุอาจพบโรคที่แตกต่างกันได้ ขอพูดถึงแยกเป็นกรณีนะครับ กลุ่มผู้ป่วยสูงอายุอาจพบโรคหัวใจเต้นช้าได้บ่อยขึ้น แต่ในขณะที่ผู้ป่วยอายุน้อย มักจะพบว่าโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะประเภทที่หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นสะดุดได้บ่อยกว่า

สำหรับผู้ป่วยเด็กเล็ก เช่น เด็กทารกก็สามารถเกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ทั้งประเภทเต้นเร็วผิดจังหวะ และบางรายก็เต้นช้าผิดจังหวะได้ ซึ่งอาจแสดงอาการตั้งอยู่ในครรภ์ของมารดาได้ครับ แต่การวินิจฉัยทำได้ค่อนข้างยากและต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางเป็นหลักครับ

3.สาเหตุหลักๆ ของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดในคนอายุน้อย

สาเหตุของการโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะในคนอายุ โดยส่วนมากแล้วมักจะเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งจะเป็นความผิดปกติที่มีมาตั้งแต่เกิด แต่อาจมาแสดงอาการให้เห็นชัดเจนในเวลาที่แตกต่างกัน โดยบางรายอาจมีอาการตั้งแต่วัยเด็กแต่อาจเป็นไม่บ่อยหรือไม่ทันสังเกต พออายุมากขึ้นอาจเริ่มแสดงอาการมากขึ้นจนตรวจพบได้ และที่น่าสนใจอีกอย่างคือ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางครั้งอาจไม่ได้แสดงอาการตลอดเวลา ทำให้คนไข้หลายคนที่มีอาการ พอไปตรวจตามสถานพยาบาล อาจไม่พบความผิดปกติอะไรเลยก็ได้ เพราะเวลาที่ไปตรวจนั้น ความผิดปกติได้หายไปแล้ว

4.เทคโนโลยีหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ใช้ในการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีอะไรบ้าง

เนื่องจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจไม่แสดงอาการตลอดเวลาทำให้มีความยุ่งยากในการวินิจฉัย ดังนั้นในปัจจุบันก็จะเริ่มมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้การวินิจฉัยโรคได้ดียิ่งขึ้น ขอยกตัวอย่างที่ใช้กันบ่อยๆ นะครับ อันดับแรก คือ การตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24-48 ชั่วโมง (holter monitoring) ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์บันทึกสัญญาณไฟฟ้าหัวใจแบบที่ติดตัวผู้ป่วยตลอดเวลา โดยที่เครื่องจะทำการบันทึกแบบอัตโนมัติตลอดเวลาที่ติดเครื่อง ทำให้เพิ่มโอกาสในการตรวจพบโรคนี้ได้มากขึ้น ในปัจจุบันยังได้มีการพัฒนาอุปกรณ์เหล่านี้ให้สะดวกและใช้งานได้นานขึ้น โดยปัจจุบันสามารถบันทึกได้นานสูงสุดถึง 30 วัน แต่การที่เราต้องมีอุปกรณ์มาติดตัวนานถึง 1 เดือน คงไม่ใช่เรื่องที่สะดวกสบายนัก ดังนั้นผู้ป่วยหลายรายที่มีอาการไม่บ่อย การตรวจด้วยวิธีนี้อาจจะไม่เหมาะ อาจเลือกใช้วิธีการฝังอุปกรณ์บันทึกสัญญาณไฟฟ้าหัวใจ (loop recorder) ซึ่งสามารถใช้งานได้นานถึง 3 ปี แต่ในผู้ป่วยหลายรายที่รู้สึกว่าโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีอาการรุนแรงและอยากรักษาให้หายขาด อาจพิจารณารับการตรวจทางสรีระไฟฟ้าหัวใจ (electrophysiologic study) ซึ่งจะเป็นการตรวจแบบนึงที่มีการใส่สายบันทึกสัญญาณเข้าไปในห้องหัวใจเพื่อทำการหาความผิดปกติและให้การรักษาที่เหมาะสม สำหรับการเลือกเทคโนโลยีแบบไหนให้กับใคร คงต้องมาคุยกับแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพื่อจะได้ตัดสินใจได้ถูกต้องครับ

นอกจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีการพัฒนาในทุกวัน สำหรับบุคคลทั่วไปอาจพูดถึงเรื่องของการใช้นาฬิกาข้อมือที่สามารถบันทึกการเต้นของหัวใจได้ ขอเรียกกลุ่มนี้ว่า smart watch นะครับ สำหรับหลักการทำงานจะมีสองแบบ แบบแรกจะเป็นแบบที่กันได้บ่อย นั่นคือ สามารถนับอัตราการเต้นหัวใจได้ โดยสังเกตุง่ายคือ จะมีแสงสีเขียวหรือแดง ที่ด้านหลังของอุปกรณ์ ซึ่งจะสามารถบอกว่าได้หัวใจเต้นกี่ครั้งต่อนาที แต่จะไม่สามารถบอกได้ว่าจังหวะการเต้นนั้นผิดปกติหรือไม่ แบบที่สองจะสามารถพบได้ใน smart watch รุ่นใหม่ซึ่งจะสามารถบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้จริง แต่จะได้เพียงช่องสัญญาณเดียว และข้อจำกัดที่สำคัญคือ การบันทึกจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเราสั่งการเท่านั้น ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายนะครับ นั่นคือ หากเรามีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะขึ้นมา ถ้าเราสามารถกดบันทึกสัญญาณได้ทัน เราอาจจะพอได้ข้อมูลว่าความผิดปกตินั้นเป็นอย่างไร แต่ถ้าเรากดบันทึกไม่ทัน นั่นก็คือเราจะไม่สามารถเห็นความผิดปกตินั้นได้ครับ

บทสรุปส่งท้าย จะเห็นได้ว่าโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้นสามารถเกิดได้กับทุกช่วงอายุ และที่น่าสนใจคือการวินิจฉัยนั้นก็ยังทำได้ยากอีกด้วย ดังนั้นหลายคนที่ไม่แน่ใจว่าอาการที่ตัวเองมีอยู่นั้น เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ ผมคงแนะนำว่าควรหาโอกาสเข้ามาปรึกษากับคุณหมอเฉพาะทางด้านโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพื่อจะได้เลือกแนวทางการตรวจได้เหมาะสม เพราะหลายครั้งที่เลือกการตรวจผิดวิธี เราอาจไม่ได้คำตอบอะไร และยังเสียโอกาสที่จะได้รับการรักษาด้วยครับ


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: ศูนย์โรคหัวใจ
ชั้น 6 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 665, 666


ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

   
VAR_INCL_CK