รู้ไว้อุ่นใจจริงๆ

ไม่ว่าจะลุก จะนั่ง เดินหรือหยิบจับของอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็รู้สึกเหนื่อยไปเสียหมด แม้ว่าจะเข้า ๆ ออก ๆ ไปหาหมอที่โรงพยาบาลมากี่เที่ยวจนเวลาผ่านไปเป็นปีก็ไม่อาจรู้ได้ว่าตัวเองเป็นโรคอะไรกันแน่ เพราะที่ได้ยินหมอบอกคือ...โรคหัวใจ...แนะแต่เพียงว่าให้เข้ารับการผ่าตัด!!! ในที่สุดผู้ป่วยหญิงชาวต่างชาติวัย 54 ปี จากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงเลยตัดสินใจบินมาพึ่งหมอไทยที่ รพ.สุขุมวิท ให้ช่วยตรวจหาสาเหตุที่มาของอาการเหนื่อยสุดทนที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังพกพาอาการ ไอจัดเกือบตลอดเวลา มาโชว์หมออีกต่างหาก...

 ผู้ป่วยต่างชาติซึ่งไม่ขอเปิดเผยว่าชื่อเรียงเสียงไร ได้สื่อสารความในใจโดยถ่ายทอดผ่านล่ามให้ นพ.นิวิธ กาลรา แพทย์ผู้เชียวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด ประจำศูนย์โรคหัวใจ 24 ชั่วโมง รพ.สุขุมวิท ได้ทราบถึงความมุ่งหวังตั้งใจในการเดินทางมานี้เพราะเธอมีอาการเหนื่อยง่ายมาประมาณ 1 ปีก่อนหน้านี้แล้ว ขณะที่เล่าไปก็ไอแค็ก ๆ และออกอาการเหนื่อยหอบไปด้วยตลอดเวลาโดยเธอได้เล่าว่าน้ำหนักตัวได้ลดลงอย่างต่อเนื่องเพราะไอจนนอนไม่หลับมาตลอด...ทำเอาคุณหมอนิวิธ ต้องรีบลำเลียงคำถามมาป้อนเพื่อให้ได้ความชัดเจนมาเป็นข้อมูลเพื่อวินิจฉัยและเพียงพอสำหรับประเมินอาการต่อไป และสรุปได้ว่าผู้ป่วยไปรับการตรวจวินิจฉัยจาก รพ.ในประเทศตนเองมาก่อนโดยผลตรวจที่ได้ฟังมาจากคุณหมอผู้ตรวจว่าเธอเป็นทั้งโรคหัวใจ โรคคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ รวมทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจ จากนั้นก็ได้รับยามาทานหลายขนาน โดยแพทย์โรคหัวใจเจ้าของไข้ได้แนะนำให้เข้ารับการรักาาด้วยการผ่าตัด แต่เจ้าตัวได้ปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าผลการตรวจไม่ได้ช่วยให้เธอทราบชัดเจนว่าป่วยเป็นโรคใดรุนแรงขนาดไหนคุณหมอจึงแนะนำให้ผ่าตัด ซึ่งตัวเธอเองนั้นกลัวอันตรายจากการผ่าตัดและผลข้างเคียงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงทำให้ตัดสินใจเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อหาแนวทางการรักษาด้วยวิธีอื่น

 แต่ด้วยเหตุที่ผู้ป่วยมิได้นำผลการตรวจรักษาของคุณหมอชาติเดียวกันติดตัวมาด้วย คุณหมอนิวิธ จึงเริ่มทำการตรวจตามขั้นตอนโดยเมื่อใช้หูฟังแนบหน้าอกซ้ายของผู้ป่วยและรู้สึกได้ถึงเสียงเต้นและจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ทำให้วินิจฉัยในเบื้องต้นได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะ คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิด เอ เอฟ โดยลักษณะการเต้นของหัวใจมีลักษณะเต้นพลิ้วอย่างเร็วมาก จึงส่งผู้ป่วยไปเข้ารับการตรวจด้วยอัลตราซาวด์ซึ่งทำให้ยืนยันได้ว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจาก ลิ้นหัวใจตีบ จากนั้นได้นำเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ซึ่งพบว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยรายนี้มีความผิดปกติจึงแนะนำให้เข้ารับการรักษาใน รพ.ทันที แต่ผู้ป่วยได้ปฏิเสธและขอรักษาด้วยการทานยาไปก่อนแม้ว่าจะได้รับคำอธิบายถึงตัวโรคอย่างค่อนข้างละเอียดแล้วก็ตาม

 ผลปรากฏว่าหลังจากได้ยาไปทานเพียง 2 วัน ผู้ป่วยก็มีอาการดีขึ้นเล็กน้อย จึงเริ่มเข้าใจถึงอาการป่วยของตนเองว่าเข้าขั้นรุนแรงแล้ว จึงให้ญาติพากลับมาที่ศูนย์โรคหัวใจ รพ.สุขุมวิท และยอมให้แพทย์รับตัวไว้เป็นผู้ป่วยใน เพื่อจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ต่อไป ขณะเดียวกัน คุณหมอนิวิธ ก็ได้อธิบายให้ผู้ป่วยได้ทราบถึงการรักษาภาวะอาการลิ้นหัวใจตีบ ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี วิธีแรกคือ การขยายด้วยบอลลูน กับวิธีที่สองคือ การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ โดยใช้ลิ้นหัวใจเทียมมาใส่ให้ทำงานแทนลิ้นหัวใจเดิม ซึ่งสำหรับกรณีของผู้ป่วยรายนี้แพทย์ได้ตรวจพบว่ามีหินปูนเกาะอยู่ที่ลิ้นหัวใจค่อนข้างมาก จึงแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดโดยเพื่อจะได้หลีกเลี่ยงอัตราเสี่ยงจากกรณีที่อาจเกิดลิ่มเลือดอุดตันในสมอง และมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจเองในระยะต่อไป...

 หมอจอแก้ว ได้ยินได้ฟังถึงตรงนี้ก็เข้าใจว่าผู้ป่วยต้องตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดแน่ ๆ ...แต่...เดาผิดจั๋งหนับเลยครับ...เพราะถึงยังไงคุณผู้ป่วยและญาติก็ยังทักท้วงอยู่ดีแม้จะได้รับความกระจ่างถึงขนาดนั้นแล้วก็ตาม ซึ่งก็ไม่ใช่เพราะเหตุผลอื่นใดนอกจาก...ความกังวลใจเรื่องการผ่าตัดที่ยังไม่อาจสลัดทิ้งไปได้ในทันทีนั่นเองและทำให้ทั้งผู้ป่วยและญาติขอยืดเวลาออกไปอีกสักระยะหนึ่งเพื่อจะได้ทำใจ...เอ๊ย...ตัดสินใจ

 แต่ผลสุดท้ายก็หนีไม่พ้นต้องยอมเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจจนได้...ก็ต้องเห็นใจครับ เพราะหากได้ยินว่าตัวเองกำลังจะต้องขึ้นเขียง...เอ๊ย...ขึ้นเตียงผ่าตัดหัวใจแล้วล่ะก็ หมอจอแก้ว ยอมเอาหัวเป็นประกันเลยว่าไม่ว่าใครก็ใครล้วนต้องเกิดอาการหวาดผวาด้วยกันทั้งนั้น...

 แต่หากพิจารณาถึงเทคโนโลยีก้าวหน้าทันสมัยของวงการแพทย์ที่มีวิวัฒนาการในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเชี่ยวชาญของคุณหมอที่เป็นศัลยแพทย์บุคลากรการแพทย์ หรือจะเป็นอุปกรณ์การแพทย์ยุคใหม่ที่มีการคิดค้นและพัฒนาวิทยาการโดยใช้ระบบไฮ-เทคล้ำยุดอย่างในปัจจุบันก็ได้ช่วยเพิ่มความมั่นใจและลดความกังวลให้ผู้ป่วยได้มากทีเดียวถึงแม้จะเคยหวาดผวากับการผ่าตัดมาก่อนก็ตาม...ดูอย่างผู้ป่วยรายนี้เป็นตัวอย่างก็ได้

 ครั้นเมื่อผู้ป่วยให้ความยินยอมพร้อมใจแล้วแพทย์ผู้รักษาจึงนำไปเข้ารับการฉีดสีตรวจสวนหัวใจเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งเมื่อไม่ปรากฏว่าพบการตีบของหลอดเลือดหัวใจแล้วได้นำไปเข้าห้องผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ โดยใช้ลิ้นหัวใจเทียมที่ทำมาจากโลหะซึ่งคุณหมอได้ยืนยันแล้วว่ามีอายุการใช้งานนานกว่าลิ้นหัวใจแบบวัสดุสังเคราะห์

 หลังจากได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยถูกส่งไปพักในห้องไอ ซี ยู เป็นเวลา 3 วัน โดยสามารถถอดท่อช่วยหายใจออก ผู้ป่วยสามารถหายใจได้เองในวันแรกหลังจากผ่าตัดแล้วและไม่ได้ออกอาการเหนื่อยหรือไออีกหลังจากย้ายจากห้องไอ ซี ยู ไปอยู่ในห้องพักพื้น โดยคุณหมอให้นอนพักต่อมา 1 สัปดาห์เพื่อให้ผู้ป่วยได้ทำกายภาพบำบัดเพิ่มความแข็งแรงระหว่างพักฟื้นก่อนได้รับอนุญาตให้ออกจาก รพ. ซึ่งหลังจากผ่าตัดได้ 2 สัปดาห์ผู้ป่วยก็เดินทางออกจากประเทศไทยไปพร้อมกับความพึงพอใจในผลการรักษาที่ช่วยให้พ้นทรมานจากอาการเหนื่อยและไอชนิดที่เรียกว่าหายเป็นปลิดทิ้ง แต่...ยังมีประเด็นที่เพิ่มความประทับใจให้กับผู้ป่วยมากขึ้นอีกโดยคุณหมอประจำศูนย์โรคหัวใจ 24 ชั่วโมง รพ. สุขุมวิท ได้วางแนวทางการรักษาเพื่อให้คุณหมอที่ประเทศของผู้ป่วยสามารถประเมินและรักษาต่อเนื่องได้ต่อไป

 มาถึงประเด็นความสงสัยที่ยังคาใจ หมอจอแก้ว อีกเรื่องเดียวคือ กรณีที่ผู้ป่วยต่างชาติรายนี้เกิดภาวะอาการลิ้นหัวใจตีบขึ้นมานั้น...มันต้องมีที่ไปที่มาอย่างแน่นอน...???

 คุณหมอนิวิธ ได้ช่วยคลายความข้องใจสงสัยในเรื่องนี้โดยบอกว่า...

"น่าจะผลจากการติดเชื้อในวัยเด็กจึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ลิ้นหัวใจจนเกิดภาวะผิดปกติมากขึ้น ๆ  ตามจำนวนปี หากเป็นมากจะทำให้เกิดอาการเหนื่อยไอ และถึงขั้นหัวใหยุดเต้นได้ แต่ในด้านการรักษานั้นจำเป็นต้องพบและปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางเพื่อเข้ารับการตรวจด้วยอุปกรณ์การแพทย์เพื่อการนี้โดยตรงเพื่อให้แพทย์สามารถประเมินแนวทางรักษาได้อย่างเหมาะสมครับ"

 

 

ข้อมูลจาก  นิตยสารอุ่นใจใกล้หมอ  ปีที่ 4 ฉบับเดือนกรกฎาคม 2559

คอลัมน์ รู้ไว้...อุ่นใจจริงๆ หน้า 44-45