เคล็ด(ไม่)ลับ ห่างไกล โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า

เคล็ด (ไม่) ลับ ห่างไกล โรคซึมเศร้า

เชื่อว่าทุกคนบนโลกใบนี้ต่างเคยรู้สึกเครียด รู้สึกผิดหวังหรือมีอารมณ์เศร้าหมองเหมือน ๆ กันเมื่อต้องเผชิญกับความสูญเสียหรือปัญหาอุปสรรคในชีวิต ความรู้สึกเหล่านี้เป็นเรื่องปกติหากเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่ถ้าความเครียดและความเศร้าเหล่านี้ดำเนินติดต่อกันเป็นระยะเวลานานและมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคน ๆ นั้นกำลังเป็นโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าหรือกลุ่มโรคทางอารมณ์ เป็นทางอาการที่มีผลมาจากการทำงานของสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin) นอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) และโดปามีน (dopamine) ที่ลดลง ประกอบด้วย 3 อาการหลัก ได้แก่

  1. อาการทางอารมณ์ เศร้า หดหู่ ว่างเปล่า ไม่สดชื่น ไม่ร่าเริง หม่นหมอง เบื่อหน่าย ขาดความสนใจ ขาดความมั่นใจ ไม่มีความกระตือรือร้น ไม่มีแรงจูงใจ ไร้ความหวัง ไม่มีความสุข ไม่มีความชื่นชม ไม่มีความยินดียินร้าย หงุดหงิดง่าย รู้สึกผิดง่าย
  2. อาการทางความคิด สมาธิความจำ แย่ลง การวางแผนและการตัดสินใจแย่ลง คิดว่าตนเองไร้ค่า คิดเรื่องการตาย ตำ หนิหรือโทษตัวเองบ่อย ๆ
  3. อาการทางร่างกายและพฤติกรรม กินน้อยหรือมากผิดปกติ นอนน้อยหรือมากผิดปกติ เคลื่อนไหวน้อยหรือมากผิดปกติ

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 สาเหตุใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. สาเหตุจากทางกาย เช่น การใช้ยา หรือสารเสพติดต่าง ๆ รวมถึงโรคทางกายอื่น ๆ เช่น ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนผิดปกติ โรคลมชัก โรคสมองเสื่อม ฯลฯ
  2. สาเหตุทางจิตสังคมที่ทำให้เกิดภาวะเครียด โดยบุคคลที่มีแนวโน้มที่จะเกิดโรคซึมเศร้าได้ง่ายส่วนใหญ่จะมีวิธีการมองโลกในแง่ลบหรือขาดทักษะในการเผชิญปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต หรือในคนที่มีพันธุกรรมของโรคซึมเศร้าในครอบครัว เนื่องจากความคิดและอารมณ์เชื่อมโยงกันด้วยสารสื่อประสาทในสมองและสามารถเปลี่ยนแปลงยีนในสมองทำ ให้มีการทำหน้าที่ผิดปกติและ ส่งผ่านรุ่นต่อรุ่นได้

อาการที่เข้าข่ายโรคซึมเศร้า

การมีอารมณ์เศร้า หดหู่ สิ้นหวัง โดดเดี่ยว หรือหงุดหงิดง่ายขึ้น ร่วมกับอาการทางความคิดที่ผิดปกติ เช่น คิดว่าตัวเองไร้ค่า เป็นภาระคนอื่น การตัดสินใจหรือการวางแผนแย่ลง สมาธิหรือความจำถดถอย คิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ และการมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น การกินมากหรือน้อยกว่าปกติ การนอนมากหรือน้อยกว่าปกติ การเคลื่อนไหวช้าหรือเร็วผิดปกติ โดยมีอาการ ดังกล่าวคงอยู่นานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ จนทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน หรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้ามีหลายชนิด แตกต่างกันด้วย ลักษณะอารมณ์ที่เกิดขึ้น ระยะเวลาและระดับความรุนแรง แต่อันดับแรกต้องแยกโรคซึมเศร้าที่มีสาเหตุจากโรคทางกายหรือการใช้ยาและสารเสพติดออกก่อน เนื่องจากการรักษาและพยากรณ์โรคแตกต่างกัน หากสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าสามารถลองทำแบบประเมินคัดกรองโรคซึมเศร้าที่เรียกว่า 9Q ของกรมสุขภาพจิตได้ หากคะแนนมากกว่า 7 ขึ้นไปแนะนำ ให้พบจิตแพทย์เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การรักษาและผลข้างเคียงของยารักษาโรคซึมเศร้า

การรักษาโรคซึมเศร้าจะรักษาด้วยยาต้านเศร้าและการทำจิตบำบัด โดยพิจารณาเป็นรายบุคคล ทั้งนี้ยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้ามีอยู่หลายกลุ่ม โดยแพทย์จะเลือกใช้ตามอาการของผู้ป่วย โดยยาต้านเศร้ากลุ่มที่ใช้บ่อยจะให้ผลออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin) ทำให้มีอาการข้างเคียงในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก เช่น คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ใจสั่น มือสั่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ท้องผูกหรือท้องเสีย ง่วงซึมหรือนอนไม่หลับ ความต้องกานทางเพศลดลง โดยอาการข้างเคียงดังกล่าวมีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคนและอาการจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อกินยาต่อเนื่องสม่ำเสมอ

เราทุกคนเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่เกิดมาเพื่อเรียนรู้ ยอมรับ เติบโต พัฒนา ฝึกฝน ปรับตัว เจ็บได้ร้องไห้เป็น ฝึกใจดีและให้อภัยตัวเองดูแลรับผิดชอบความสุขและความทุกข์ของตัวเองนอกจากนี้การสร้างพฤติกรรมทางสุขภาพจิตที่ดีด้วยการเลือกรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย รักษาสภาวะอารมณ์ให้แจ่มใสด้วยการทำกิจกรรมเพื่อความสนุกสนาน นับเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะซึมเศร้าได้



พญ.กัณฐิกา ดีคำปา

พญ.กัณฐิกา ดีคำปา
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช




สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :
ศูนย์อายุรกรรม
ชั้น1B โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 225 - 227



ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

VAR_INCL_CK