การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งจำเป็นแค่ไหน

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งจำเป็นแค่ไหน

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งจำเป็นแค่ไหน?

โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่หนึ่งของคนไทย

รองลงมาคือโรคหัวใจและหลอดเลือดและ อุบัติเหตุตามลำดับ ทั้งนี้โรคมะเร็งที่พบมากที่สุด 3 อันดับของคนไทยในปี พ.ศ.2563 แยกตามเพศ จะพบว่าในเพศหญิง มะเร็งเต้านมจะพบมากเป็นอันดับที่ 1 ตามด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ และ มะเร็งปากมดลูก ตามลำดับ ส่วนในเพศชาย มะเร็งตับคือมะเร็งที่พบมากอันดับที่ 1 รองลงมาคือ มะเร็งปอดและมะเร็งลำไส้ใหญ่ ตามลำดับ

สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งคือ

การเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรม (Gene) ในร่างกายของคนเรา โดยมีทั้งปัจจัยเสี่ยงที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด และ ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง

  • ปัจจัยเสี่ยงที่ติดตัวตั้งแต่กำเนิด ได้แก่ การได้รับพาหะยีนที่มีการกลายพันธุ์ผิดปกติที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็ง เช่น การกลายพันธุ์ของยีนที่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ชนิด BRCA ที่สามารถถ่ายทอดในครอบครัว และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งต่อมลูกหมาก ของสมาชิกในครอบครัวเดียวกันได้

  • ปัจจัยเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การได้รับสารก่อมะเร็งจากสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ ควันจากการเผาไหม้ สารกัมมันตรังสีบางชนิด สามารถเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งตับ การสัมผัสสารไฮโดรคาร์บอนบางชนิดเช่น เบนซีน นอกจากนี้รวมถึง การได้รับสารก่อมะเร็งในอาหารบางชนิด เช่นอะฟลาทอกซินในถั่วลิสงที่ขึ้นราแล้วที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งตับ รวมถึง การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่นเชื้อไวรัส HPV ที่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูก เชื้อไวรัสตับอักเสบบีและตับอักเสบซีจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งตับ อนึ่ง การติดแบคทีเรียบางชนิดเช่น H.pylori สามารถเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้ พฤติกรรมเสี่ยงในปัจจุบันเช่น ภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐาน สามารถเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งได้อีกหลายชนิดเช่นกัน

การตรวจพบโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ทำให้แพทย์สามารถรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดได้ ทำให้การคัดกรองโรคมะเร็งมีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน

การคัดกรองมะเร็งที่แนะนำให้ทำในปัจจุบันได้แก่

  • การคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ในคนอายุมากกว่า 50 ปี
  • การคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการเอกซเรย์เต้านมแมมโมแกรมและอัลตราซาวน์เต้านมในสตรีที่อายุมากกว่า 40 ปี
  • การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจภายในและตรวจหาเชื้อ HPV ในสตรีที่อายุมากกว่า 25 ปี
  • การคัดกรองมะเร็งปอดในผู้ที่สูบบุหรี่มากกว่า 30 ซอง-ปีที่หยุดบุหรี่มาไม่เกิน 15ปี ในคนอายุ 55-70 ปี
  • การคัดกรองอัลตราซาวน์ช่องท้องและตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับในคนที่เป็นพาหะการติดเชื้อไวรัสบีและตับอักเสบซี
ทั้งนี้แพทย์แนะนำให้ตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อจะได้ตรวจพบโรคอื่นๆได้ตั้งแต่เริ่มต้น

เนื่องในโอกาสวันมะเร็งโลก 4 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ หมอขอเชิญชวนให้ทุกท่านกลับมาสนใจเรื่องของโรคมะเร็งที่ใกล้ตัวเราทุกคน ทั้งในเรื่องการป้องกัน การคัดกรอง และให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพื่อให้เราสามารถปิดช่องว่างการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ ตามธีมของ World cancer day 2023: Close the cancer care gap


หากท่านใดมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว สามารถใช้บริการ

>>โปรแกรมตรวจป้องกันมะเร็ง ชาย/หญิง ได้ที่โรงพยาบาลสุขุมวิท<<


พญ. อัจฉรา สุภาวเวช

พญ. อัจฉรา สุภาวเวช
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรแพทย์มะเร็งวิทยา

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมศูนย์อายุรกรรม
ชั้น 1B โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 225, 226, 227


ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

VAR_INCL_CK