ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน


เบาหวาน

ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

“เบาหวาน” เป็นโรคที่น้ำตาลในเลือดมีระดับสูงเกินค่ามาตรฐานตามเกณฑ์ ความสำคัญคือเมื่อเริ่มเป็นเบาหวานแล้วต้องหมั่นตรวจเช็ค และคอยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้เกินระดับที่ควบคุม หากปล่อยให้ปริมาณน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็สามารถส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ อาทิ จอประสาทตา หัวใจ เท้า ไต ยิ่งกว่านั้นไม่ใช่มีแค่เบาหวานอย่างเดียว หากยังมีเรื่อง...ความดัน...ไขมัน...โรคอ้วน รวมด้วยแล้ว ก็ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญทำให้หลอดเลือดตีบหรือตัน ส่งผลให้เกิดปัญหาที่หลอดเลือดในสมอง หรือในหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็น “ภัยเงียบ” ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ หากแต่ข้อดีคือ สามารถป้องกัน หรือชะลอการเกิดของโรคแทรกซ้อนต่างๆได้ ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาล และดูแลสุขภาพสม่ำเสมอ อาทิ การออกกำลังกายเป็นประจำ การรักษาความดันโลหิต และคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับที่แพทย์กำหนด และตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ

โรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนที่ไม่เป็นโรคเบาหวานสองถึงสี่เท่า และอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุยังน้อย

โรคเบาหวานมีผลต่อหัวใจอย่างไร?

การควบคุมน้ำตาลที่ไม่ดี หรือสูงเกินไปเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ เนื่องจากน้ำตาลในเลือดสูงจากโรคเบาหวานสามารถทำลายหลอดเลือดและเส้นประสาทที่ควบคุมหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในช่วงปกติ เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่จะช่วยลดการอักเสบในหลอดเลือด ลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเพิ่มขึ้นกว่าปกติทำให้เกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือดแดง และเมื่อน้ำตาลและไขมันไปเกาะติดกับผนังหลอดเลือดสะสมเป็นปริมาณมากขึ้น จะทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง ส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และหากคราบไขมันที่สะสมอยู่ที่ผนังหลอดเลือดแตกออกและกลายเป็นลิ่มเลือด จะส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้

นอกจากนี้ผู้ป่วยเบาหวานยังมีแนวโน้มที่จะมีภาวะอื่น ๆ ที่เสี่ยงต่อภาวะโรคแทรกซ้อนต่างๆ ความดันโลหิตสูง จะเพิ่มแรงของเลือดผ่านหลอดเลือดแดงและอาจทำลายผนังหลอดเลือดได้ ทำให้หลอดเลือดเกิดการเสียหายและเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง นำไปสู่ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง อุดตัน ส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง


ภาวะไขมันสูงในเลือดเป็นภาวะที่พบร่วมกับโรคเบาหวานได้บ่อย เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยไขมัน LDL (“ไขมันไม่ดี”) ที่มากเกินไปในกระแสเลือด จะไป อุดตันผนังหลอดเลือดให้เกิดความเสียหายได้ เมื่อเวลาผ่านไปคราบไขมันอาจทำให้หลอดเลือดหนาขึ้น (หลอดเลือดแดงแข็ง) และสามารถปิดกั้นหลอดเลือดแดงหยุดการไหลเวียนของเลือดไปยังหัวใจ (โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ) หรือสมอง (โรคหลอดเลือดสมอง)

ไตรกลีเซอไรด์สูง และไขมัน HDL ต่ำ (“ ไขมัน ชนิดดี”) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากการควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี ทำให้ ไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้นได้ และ ภาวะ ที่ไขมัน HDL ต่ำ จะส่งผลลดการกำจัดไขมัน LDL หรือไขมันไม่ดีออกจากกระแสเลือด ทำให้ไขมัน LDL สูงมีส่วนทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว และเมื่อหลอดเลือดมีความหนา หรือแข็งตัวมากๆ ส่งผลให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายไม่เพียงพอ

ภาวะต่างๆเหล่านี้ จะไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก โดยแพทย์สามารถทำการตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อช่วยควบคุม ป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้

เป็นเบาหวานแล้ว ทำอย่างไรให้หัวใจแข็งแรง และป้องกันภาวะแทรกซ้อน?

  1. เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ดีต่อสุขภาพ กินผัก ผลไม้สด โปรตีน เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และเมล็ดธัญพืชมากขึ้น ลดการรับประทานอาหารแปรรูปให้น้อยลง (เช่นมันฝรั่งทอดขนมหวานอาหารจานด่วน) และหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ (กรดไขมันไม่อิ่มตัว) พบได้ในอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของ เนยเทียม เนยขาว ครีมเทียม นมข้นหวาน เช่น โดนัท ขนมปัง เครื่องดื่มเย็นต่างๆ กาแฟเย็น ชาเย็น
  2. ดื่มน้ำเพียงพอ ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี จะสูญเสียน้ำในร่างกายจากการปัสสาวะบ่อยครั้ง การดื่มน้ำเปล่าอย่างเพียงพอ จะช่วยปรับความสมดุลในร่างกาย
  3. ควบคุมน้ำหนัก การลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมก็สามารถลดระดับไตรกลีเซอไรด์และน้ำตาลในเลือดได้ ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสมกับส่วนสูง และน้ำหนัก
  4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายทำให้ร่างกายไวต่ออินซูลินมากขึ้น (ฮอร์โมนที่ช่วยให้เซลล์ในร่างกายใช้น้ำตาลในเลือดเป็นพลังงาน) ซึ่งจะช่วยจัดการโรคเบาหวาน การออกกำลังกายยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและความเสียหายของเส้นประสาท พยายามออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์เช่นการเดินเร็ว จะช่วยส่งผลดีต่อสุขภาพ
  5. ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ ตรวจเลือด HbA1C เป็นประจำเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือดเฉลี่ยของคุณในช่วง 2 ถึง 3 เดือน เพื่อสามารถควบคุมและประเมินการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม
  6. รักษาระดับความดันโลหิต ให้ต่ำกว่า 140/90 มม. ปรอท (หรือตามเป้าหมายที่แพทย์กำหนด)
  7. ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ให้อยู่ในตามเกณฑ์ที่เหมาะสม
  8. หยุดสูบบุหรี่

หากผู้ป่วยเป็นเบาหวาน ควรดูแลให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ และควรปรึกษาแพทย์ถึงความจำเป็นต้องใช้ยา หรือพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเพื่อจัดการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และตรวจสุขภาพต่างๆ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ่อนต่างๆ อาทิ ตา ไต เท้า หัวใจ




ขอขอบคุณ: พญ.ทฤตมน รัตนประภาต
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านระบบต่อมไร้ท่อและเบาหวาน

พญ.ทฤตมน รัตนประภาต

พญ.ทฤตมน รัตนประภาต
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านระบบต่อมไร้ท่อและเบาหวาน



สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: ศูนย์เบาหวาน
ชั้น 1B โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 225, 226, 227


ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

   
VAR_INCL_CK