รพ.สุขุมวิทใช้ “หุ่นยนต์ฝึกเดินเสมือนจริง” ฟื้นสภาพให้ผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลัง

เวชศาสตร์ฟื้นฟู

รพ.สุขุมวิทใช้ “หุ่นยนต์ฝึกเดินเสมือนจริง” ฟื้นสภาพให้ผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลัง อัมพาตช่วงล่างเริ่มขยับขาก้าวได้!!!

"คุณเมย์ ประภาพร แข็งแรง ผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลัง อัมพาตช่วงล่างไม่สามารถเดินได้ตั้งแต่ปี 2559 ขณะมีวัยเพียง 35 ปี โดยได้รับอุบัติเหตุรถชน กระดูกแตกละเอียด ไม่เหลือกระดูกสันหลัง...เส้นประสาทก็ขาดอย่างสมบูรณ์ กระดูกที่แตกไปทิ่มปอดทำให้ไม่สามารถหายใจเองได้ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจคุมไว้...ตอนที่ฟื้นขึ้นมาก็มีคุณหมออยู่ประมาณเกือบ 20 คน จนผ่านไปเดือนกว่า ๆ คุณหมอถึงบอกว่า ถูกรถชนรุนแรงเส้นประสาทขาด...ไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก แต่ที่ไม่บอกและทุกคนพยายามเลี่ยงเพราะกลัวเรารับไม่ได้แล้วฆ่าตัวตาย...”

จริง ๆ แล้วเรื่องฆ่าตัวตายไม่ได้อยู่ในความคิดของ “คุณเมย์” แม้แต่น้อย ซึ่งอาจเป็นเพราะก่อนเกิดอุบัติเหตุนี้เธอเป็นผู้มีความเลื่อมใสในหลวงพ่อจรัญ และได้ไปปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน สิงห์บุรีเป็นปกติวิสัยอยู่ก่อนแล้ว จึงสามารถปรับจิตใจให้อยู่กับปัจจุบันได้พร้อมกับตั้งสติคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้มีชีวิตอยู่ต่อไปโดยไม่เป็นภาระของสังคม...ของชาติ...และของครอบครัว จะนอนอยู่เฉยๆ ไม่ได้...จากนั้นก็ได้เข้าสู่การทำกายภาพบำบัดควบคู่กับการรักษาตัวอยู่ที่ รพ.แห่งหนึ่ง และต่อมาได้ย้ายไปรักษาและฝึกฟื้นฟูทุกอย่างที่สถาบันสิรินธรเกือบ 2 เดือนจึงกลับบ้านและเข้ารับการฟื้นฟูแบบไป-กลับจนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้รวมทั้งช่วยเหลือตนเองด้วยการออกกำลังกายแม้จะอยู่บนเตียงเกือบตลอดเวลาเพื่อให้ข้อเข่าข้อสะโพกได้ขยับเหมือนคนปกติ โดยได้มารับการบำบัดฟื้นฟูที่ “ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลสุขุมวิท” การรักษาฟื้นฟูเพิ่มเติมเริ่มจากการกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทั้งแบบ TMS และ PMS ก่อนที่จะไปถึงขั้นการฝึกเดินกับหุ่นยนต์เสมือนจริง ‘Exoskeleton’ โดยอาศัยเทคโนโลยีก้าวหน้า หุ่นยนต์รุ่นใหม่ ภายใต้การดูแลของนักกายภาพ และนักกิจกรรมบำบัดรวมทั้งคุณหมอ…!!!

เวชศาสตร์ฟื้นฟู

คุณหมอที่มีส่วนสำคัญอย่างมากสำหรับการฟื้นฟูอาการของ “คุณเมย์” คือ “นพ.ปัณณวิชญ์ วงศ์วิวัฒนานนท์...แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู” ประจำ “โรงพยาบาลสุขุมวิท” อธิบายสรุปว่าได้ดูแลผู้ป่วยหญิงรายนี้หลังจากได้รับบาดเจ็บแล้ว 1 ปีโดยเริ่มด้วยการใช้เครื่อง TMS กระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กที่ศีรษะ ร่วมกับ PMS กระตุ้นด้วยแม่เหล็กตามตัวและแขนขา อย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ต่อเนื่องกันประมาณ 7 เดือน มีผลออกมาค่อนข้างดีมากจากเดิมที่ผู้ป่วยไม่สามารถสั่งการขยับของขาได้เลยขณะนอนก็สามารถนอนตะแคงแล้วก็ขยับ งอข้อสะโพกขึ้นลงได้ ไปว่ายน้ำในโรงแรมได้ สามารถว่ายน้ำหมุนตัวกลับในสระว่ายน้ำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมากสำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังและมีภาวะอัมพาตท่อนล่างค่อนข้าง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สามารถที่จะฟื้นคืนภาวะอะไรต่อมิอะไรได้มากรวมถึงเรื่องการขับถ่ายหลังจากที่ได้รับการกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กในช่วงแรก และหลังจากที่ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลสุขุมวิทได้นำหุ่นยนต์ฝึกเดินเสมือนจริง (Exoskeleton) เข้ามา “คุณเมย์” ก็ได้เข้ามาฝึกเดิน ซึ่งเห็นได้ว่าเธอสามารถพัฒนาการก้าวเดินเป็นเนื้อเดียวกับหุ่นยนต์ได้อย่างรวดเร็วมาก และได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้รับให้คุณหมอได้รับฟังถึงการฟื้นคืนตัวของสิ่งที่เจ้าตัวเองก็ไม่อยากจะเชื่อว่ามันยังจะฟื้นตัวต่อไปได้อีกโดยมีความรู้สึกมากขึ้นในบริเวณขา กับความรู้สึกของการพัฒนาต่อยอดในการฟื้นคืนของระบบทางเดินปัสสาวะที่สามารถสัมผัสได้ด้วยตัวเองจนอยากบอกว่าในความเป็นจริงแล้วการที่ก้าวย่างเดินได้ด้วยหุ่นยนต์ตั้งแต่ระยะแรก ๆ มีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาด้านจิตวิญญาณอย่างมาก แม้กระทั่งผู้มาฝึกเดินรายอื่นซึ่งเคยท้อแท้สิ้นหวังในชีวิตก็กระเตื้องขึ้น มีจิตใจที่สมบูรณ์ขึ้นมากกว่าเดิมได้ทันทีทำให้คลายจากภาวะอาการซึมเศร้าที่เคยเกิดขึ้น โดย “คุณหมอปัณณวิชญ์” ระบุว่ามีข้อพิสูจน์จากงานวิจัยหลายชิ้นที่มีผู้ทำรายงานไว้แล้ว และได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

“...เป้าหมายในการรักษาผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตนั้น ใจของหมอเองคือวางเป้าหมายให้คนไข้กลับมาเดินได้ ส่วนที่ว่าจะกลับมาเดินได้แบบเดินได้ด้วยตัวเองล้วน ๆ หรือเดินได้ด้วยเครื่องช่วยเดินซึ่งอาจเป็นเครื่องช่วยเดินที่อิสระด้วยตัวเองโดยอาจจะมีคนช่วย 1 คนก็เป็นเป้าหมายที่จะให้คนไข้คืนกลับสู่การมีอิสระในการเดินครับ สำหรับเป้าหมายที่ผมตั้งไว้ในกรณีของคุณเมย์คือเรื่องมาทำการกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS) อย่างต่อเนื่อง การฝึกเดินด้วยหุ่นยนต์เป็นระยะ ๆ นะครับ แล้วก็มีการฝึกฝนในเรื่องของการกระตุ้นการเคลื่อนไหวอัตโนมัติตามวิธีการของ เค็นแวร์ เป็นหลักการที่ได้วางแผนไว้แล้ว และสิ่งที่อยากจะเห็นที่สุดก็คือเห็นคุณเมย์เดินด้วยตัวเอง อาจจะมีเครื่องช่วยค้ำยันนิดหน่อยนะครับ ซึ่งวิธีการต่าง ๆ ที่เราทำไปนั้นเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้เกิดการฟื้นคืนอย่างแท้จริงขึ้นมาได้ครับ…”

โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต อื่นๆ มีสิทธิ์ฟื้นฟูได้ดังกรณี “คุณเมย์”

การที่ผู้ป่วยเกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาตจากกรณีที่สาธยายมานี้ รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยด้วย “โรคหลอดเลือดสมอง” หรือ “โรคทางสมองอื่น ๆ การบาดเจ็บไขสันหลัง อาทิ โรคแขนขาอ่อนแรง ผ่าตัดกระดูกสันหลัง หรืออุบัติเหตุ ก็สามารถเข้ารับฟื้นฟูร่วมกับการฝึกเดินกับหุ่นยนต์เสมือนจริง (Exoskeleton) ได้เช่นกัน” ซึ่งช่วงระยะ Golden Period 6 เดือนแรกหลังจากเกิดวิกฤตของโรคถือเป็นส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพได้เร็วขึ้น แต่หากหลังจาก 6 เดือนไปแล้วก็สามารถพัฒนาได้เช่นกัน ซึ่งไม่ว่าจะเพิ่งเป็นในระยะเริ่มแรก ระยะกลาง ๆ หรืออาจเป็นระยะเรื้อรังราว ๆ 5 หรือ 10 ปีแล้วก็ตาม “คุณหมอปัณณวิชญ์” อธิบายว่า “ไม่มีคำว่า “หยุดพัฒนา” ในการฟื้นคืนแต่อย่างใด แต่ที่เห็นหรือรู้สึกว่าหยุดพัฒนาไปแล้วก็เพราะที่ผ่านมาเรายังมีความรู้ไม่พอ จนกระทั่งปัจจุบันนี้มีทั้งความรู้ใหม่ ๆ วิธีการใหม่ ๆ มารักษาภาวะอาการได้ขนาดนี้ก็เท่ากับเป็นการตอบโจทย์ ที่สามารถประจักษ์ได้ว่าเทคโนโลยีการแพทย์มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มีพัฒนาการฟื้นคืนสภาพร่างกายให้สามารถเคลื่อนไหวได้ดีกว่าเดิม โดยอาศัยเครื่องมือทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน และ วิธีการใหม่ ๆ ที่นำมาใช้ในขณะนี้ ซึ่งระยะเวลาจะเป็นตัวตอบโจทย์ไม่ว่าจะต้องใช้เวลามากน้อยแค่ไหนอย่างไรหากลองได้เริ่มต้นรักษาแล้วคุณหมอบอกว่ายังไม่เคยเห็นรายใดยอมแพ้หรืออยากหยุดรักษา เพราะผู้ป่วยที่มาเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูกับ “ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู...โรงพยาบาลสุขุมวิท” แต่ละครั้งนั้นล้วนแล้วแต่มีจุดพัฒนาการฟื้นคืนร่างกายให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ถ้าไม่ลองก็จะไม่ได้รับรู้ถึงสิ่งใหม่ ๆ วิธีการใหม่ ๆ ที่มีส่วนช่วยเติมความหวังได้” ดังที่ “คุณเมย์” เผยไว้ว่า “...ครั้งแรก ก่อนที่จะได้ลองฝึกเดินนึกไม่ถึงคะว่ามันจะทำได้ขนาดนี้ หุ่นยนต์มันจะทำได้จริงเหรอ เหมือนเราอคติไงคะ เพราะเคยมีโอกาสฝึกจากที่อื่นแต่ไม่ได้เดินแบบนี่ คือเดินแล้วต้องยักสะโพกปาดเท้าไปด้านข้าง พอได้มาลองจริง โห มันมหัศจรรย์...และที่สำคัญคือ รพ.สุขุมวิทมองเห็นสิ่งเดียวที่คนไข้ต้องการคือการกลับมาเดินได้อีกครั้ง จึงให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะทำให้คนไข้ดีขึ้น ยอมนำเข้ามาให้บุคคลากรศึกษาแล้วก็นำมาใช้กับคนไข้แค่นี้เราก็แฮปปี้มีความสุขมาก ที่สำคัญพอมาฝึกเดินแล้วทุกคนได้ช่วยเหลือเราอย่างเต็มที่ พอเราทำได้ดีขึ้น มากขึ้นมันเหมือนกับว่าเราทำได้นะ เราเดินได้นะ เราทำได้ดีขึ้น...ดีขึ้น...มันเหมือนดีขึ้นเรื่อย ๆ ๆ ค่ะ...”


 นพ. ปัณณวิชญ์ วงศ์วิวัฒนานนท์

นพ. ปัณณวิชญ์ วงศ์วิวัฒนานนท์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู


นพ.วรวัฒน์ เอียวสินพานิช

นพ.วรวัฒน์ เอียวสินพานิช
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู




สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
ชั้น 9 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 971, 972



ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

   
VAR_INCL_CK