“หลอดเลือดสมองแตก” ทำผู้ป่วยสูงวัยวูบคาโต๊ะอาหาร!!! รพ.สุขุมวิท ผ่าตัดรักษาพ้นวิกฤตทันการ

หลอดเลือดสมองแตก

ถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจทีเดียวสำหรับผู้สูงอายุที่เกิดเหตุ “วูบ” ขณะรับประทานอาหารนอกบ้านกับครอบครัว ซึ่งทีแรกเข้าใจกันว่าเป็นลมเพราะเคยบ่นให้ได้ยินว่าปวดหัว-เวียนหัวอยู่บ่อยครั้ง ประจวบเหมาะกับในระยะหลังๆ มานี้ยังเกิดอาการชาที่มือและแขนซีกขวาอีกด้วย โดยทางครอบครัวได้นัดจะเข้าพบคุณหมออยู่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า แต่มาเกิดเหตุขึ้นก่อนซึ่ง “คุณอัจฉรียกรณ์” ผู้เป็นบุตรสาวของ “คุณอัจฉรา” ได้ลำดับเหตุการณ์ของคุณแม่ไว้ดังนี้

“เรานัดพบคุณหมอไว้ในวันเสาร์ แต่เกิดเหตุในวันพุธตอนที่คุณแม่ออกไปทานข้าวกับคุณพ่อ แต่วันนั้นขณะที่คุณแม่ทานข้าวคุยกับเพื่อนที่มาด้วยแต่อยู่ดีๆ ท่านก็ค่อยๆ เอนตัวลงแล้วก็หลับไปเลย ตอนแรกคุณพ่อคิดว่าคุณแม่เป็นลมหน้ามืด แต่เมื่อเรียกแล้วไม่ตื่น จึงตัดสินใจเรียกรถพยาบาลให้นำส่งมาที่โรงพยาบาลสุขุมวิทในทันทีเพราะอยู่ใกล้ที่สุด และระหว่างอยู่ในรถพยาบาลคุณแม่ก็อาเจียน มือขวาตกและไม่มีแรง และทางโรงพยาบาลสุขุมวิทเตรียมความพร้อมในการรักษาไว้ดีมาก พอถึงโรงพยาบาลแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ทำการวัดความดันให้คุณแม่เลย ซึ่งตอนนั้นเฉียด 200 แล้วก็อาเจียนด้วย ทางโรงพยาบาลก็นำคุณแม่เข้า CT Scan สมองเลย พอเห็นผลปุ๊บคุณหมอก็โทรศัพท์มาคุยกับคุณพ่อว่า คุณแม่เส้นเลือดในสมองแตกต้องเข้ารับการผ่าตัดโดยด่วน ทางครอบครัวก็ตัดสินใจให้ผ่าตัดเลยไม่ได้รีรออะไรแล้ว”

“ผ่าตัด” ได้เร่งด่วนมีส่วนช่วยระบายเลือดในสมอง

กรณีอย่างนี้ถือเป็นเรื่อง “เร่งด่วน” สำหรับคุณหมอผู้รักษาด้วยเช่นกัน นพ.จักรี ธัญยนพพร แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมประสาท ได้ให้ข้อมูลภายหลังจากได้ทำการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยจนพ้นวิกฤติในเคสนี้ไว้ว่า

“เคสนี้ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลเร็ว แล้วคุณหมอประจำห้องฉุกเฉินได้ส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการสแกนสมองเลยเพราะตรวจร่างกายแล้วพบว่ามีความผิดปกติของสมองเกิดขึ้น นั่นคือภาวะอาการจากหลอดเลือดสมองแตก และเข้ารับการผ่าตัดสมองทันทีในระยะเวลาไม่น่าจะเกิน 30-45 นาที หลังจากวินิจฉัยโรคว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งหลังจากที่ผมได้ดูจากภาพวินิจฉัยแล้วบอกได้ว่ามีวิธีรักษาอย่างเดียวคือการผ่าตัดสมองเพื่อระบายเลือดออก ขณะเดียวกันก็ได้ตัดชิ้นเนื้อสมองไปตรวจหาสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดสมองแตกด้วย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วในคนไข้อายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป ที่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทยมักจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง เพราะฉะนั้นหลังจากผ่าตัดเสร็จก็ได้เฝ้าระวังในเรื่องของการเกิดปัญหาแทรกซ้อน เช่น เลือดออกในสมองซ้ำ ชักกระตุกหรือติดเชื้อ ในขณะเดียวกันก็ได้หาสาเหตุด้วยโดยไปดูว่ามีลักษณะของเนื้องอกสมองหรือไม่ ตามที่ได้ตัดชิ้นเนื้อสมองส่งไปตรวจ ซึ่งผลปรากฎว่าไม่มี จากนั้นได้ทำการตรวจหลอดเลือดสมองซ้ำเพื่อหาสาเหตุว่าเป็นหลอดเลือดโป่งพอง หลอดเลือดสมองเชื่อมผิดปกติ หรือหลอดเลือดตีบมาทำให้แตกก็ปรากฏว่าไม่มี คือเป็นลักษณะของความดันโลหิตสูงที่ทำให้หลอดเลือดสมองแตก แต่ก็ไม่ได้ประมาทว่ามันมีสาเหตุจากความดันโลหิตสูงอย่างเดียว เพราะหากเป็นโรคอื่นก็อาจจะทำให้เลือดออกซ้ำได้ และหลังจากผ่าตัดสมองแล้วเห็นว่าผู้ป่วยอาการดีขึ้น เริ่มมีการตอบสนอง มีการรู้สึกตัวมากขึ้น จึงได้เริ่มแผนการรักษาถัดไปด้วยการกายภาพบำบัดที่ เรียกว่า Fully Rehabilitation”

ใช้เทคโนโลยี การแพทย์ฟื้นฟูอาการจากพิษตกค้าง

ผู้ป่วยซึ่งถูก “โรคหลอดเลือดสมอง” เล่นงานแล้วมันยังทิ้งความผิดปกติต่าง ๆ ไว้ในร่างกายถึง 80 เปอร์เซ็นต์ทำให้เกิดภาวะอาการต่าง ๆ ตามมา โดย “นพ.วรวัฒน์ เอียวสินพานิช แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู” อธิบายเสริมว่า “คนไข้บางรายมีอาการแขนขาอ่อนแรง บางรายมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการพูด หรือการสื่อความหมายซึ่งควรเข้ารับโปรแกรมเวชศาสตร์ฟื้นฟูอย่างรวดเร็วที่สุด โดยปกติแล้วเมื่อสภาวะทางร่างกายคงที่ โดยไม่มีโรคหรือต้องเข้ารับการผ่าตัดอะไรอีก จะเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับวางโปรแกรมการทำเวชศาสตร์ฟื้นฟูโดยเร็วที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาหลังจากเกิดปัญหาหลอดเลือดในสมอง ซึ่งที่ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูโรงพยาบาลสุขุมวิทจะเน้นการบูรณาการทุกศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ และสามารถช่วยผู้ป่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นแผนไทย หรือการฝังเข็มของจีน รวมถึงการใช้เครื่องมือที่ก้าวหน้าล้ำสมัยมาร่วมรักษาผู้ป่วยให้ฟื้นตัวจากภาวะหลอดเลือดสมองให้เร็วที่สุด อย่างเช่น เครื่องกระตุ้นด้วยแม่เหล็ก ซึ่งมี 2 อย่าง โดยอย่างแรกจะต้องได้รับการกระตุ้นเส้นประสาทในสมองโดยตรง เรียกว่า TMS หรือ Transcranial Magnetic Stimulation ส่วนอีกอย่างหนึ่งเป็นเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง เช่นที่แขน ขา ซึ่งสามารถใช้กระตุ้นระบบปัสสาวะได้ด้วย เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต บางรายจะมีภาวะความผิดปกติในการกลั้นปัสสาวะ จึงสามารถใช้เครื่องมือตัวนี้มาช่วยกระตุ้นได้”

นอกจากนี้ “คุณหมอวรวัฒน์” ได้กล่าวเพิ่มเติมกรณีผู้ป่วยเจอปัญหาอัมพาตช่วงล่าง ผู้ป่วยอ่อนแรง และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้รวมถึงปัญหาการเดินนั้น “รพ.สุขุมวิท” ได้สั่งนำเข้าเทคโนโลยี “หุ่นยนต์ฝึกเดินเสมือนจริง” ที่เป็นลักษณะของ Exoskeleton ที่ให้ผู้ป่วยสวมใส่ช่วยพยุงร่างกายรักษาสมดุลในการทรงตัวและเดิน เสมือนทำงานทดแทนกำลังกล้ามเนื้อที่หายไป ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเท้าสัมผัสพื้นซึ่งจะเป็นตัวเร่งการฟื้นตัวให้กลับมาปกติได้เร็วขึ้นสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณเอว หลัง และสะโพกฟื้นตัวได้ดีมีพัฒนาการที่ดีขึ้นโดยช่วยให้เกิดการฟื้นตัวของเซลล์สมองตามมา

ส่วนเครื่องมือสำหรับช่วยพัฒนาเส้นประสาทให้เกิดการฟื้นตัวได้เร็วซึ่ง “รพ.สุขุมวิท” ได้จัดเตรียมไว้ด้วยแล้วก็คือ ‘Hyperbaric oxygen therapy’ “เครื่องมือนี้จะมีลักษณะเป็นแคปซูล ให้คนไข้เข้าไปอยู่ในแคปซูล เมื่อสูดออกซิเจน 100% ในนั้นเข้าไป ออกซิเจนนี้จะแทรกซึมไปตามอวัยวะต่างๆ หรือเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งก็จะมีส่วนช่วยเร่งการฟื้นตัวให้เส้นประสาทกับสมองของคนไข้ได้เร็วยิ่งขึ้น”

ลูกสาวผู้ป่วยเล่าถึงพัฒนาการของคุณแม่

“คุณแม่มีอาการดีขึ้นแบบก้าวกระโดดเลยจากตอนแรกนั่งไม่ได้ แต่ผ่านไปเดือนเดียวก็สามารถนั่งและยืนได้ แล้วก็เริ่มเดินได้เหมือนเดินพยุงแบบ Robot พอเดือนที่ 2 มือ-แขนก็เริ่มขยับ แล้วก็เริ่มพูดได้ จากที่ตอนแรกพูดไม่ได้สื่อสารหายไปเลยก็เริ่มพูดได้ เริ่มขยับปากได้ พอถึงเดือนที่ 3 ก็เริ่มออกเสียงได้ ในขณะเดียวกันขาก็เริ่มฝึกแบบมือจับราวฝึกเดิน แต่ทุกวันนี้เริ่มฝึกเดินไม้เท้า โดยไม่ต้องพึ่ง Robot แล้วเพราะ Exercise ด้วยร่างกายเขาเอง บุคลากรของทางโรงพยาบาลได้ให้ความใส่ใจมาก ๆ ดูแลเหมือนคนในครอบครัว อะไรที่ผิดปกติ อะไรที่สามารถทำให้คุณแม่ดีขึ้นได้ เขาก็จะบอก-สอนเรา ก็เลยแนะนำปากต่อปากให้คนอื่นรู้ว่ากายภาพที่นี่ดีจริงๆ ได้บอกเพื่อนที่ประสบเหตุแบบเดียวกันให้ลองมาทำกายภาพที่นี่ โดยยกตัวอย่างเรื่องฝึกกลืนซึ่งบางคนผ่านไป 6 เดือนแล้วยังไม่ได้ฝึกกลืนเลย แต่คุณแม่ฝึกกลืนตั้งแต่อาทิตย์แรก ๆ ตั้งแต่คุณหมอจักรีบอกไว้ในห้อง ICU ว่าถ้าคุณแม่ปลอดภัยก็ให้ฝึกกลืนได้เลย คุณแม่ก็เลยได้ฝึกกลืนตั้งแต่อาทิตย์แรก อาทิตย์ต่อมาก็ไม่ต้องใส่สายป้อนอาหารเหมือนตอนแรกๆ แล้ว”

สำหรับผู้ป่วยในโรคนี้ “นพ.จักรี” ทิ้งท้ายถึงความสำคัญเมื่อเกิดกรณีเลือดออกในสมองแล้วทั้งผู้ป่วย หรือคนใกล้ตัวไม่ได้รับรู้ หรือใส่ใจส่งผลให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาช้า และเนื้อสมองก็จะตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในบางกรณีก็อาจทำการรักษาไม่ทันเพราะบางครั้งผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลด้วยอาการโคม่าแล้ว ความดันโลหิตสูงจนส่งผลให้การเต้นของหัวใจสูงมากจนผ่าตัดไม่ได้-รักษาไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเกิดอาการของหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกก็จะเป็นหน้าที่ของคุณหมอในการวิเคราะห์หาสาเหตุ ยิ่งหากผู้ป่วยมีอาการแขนขา อ่อนแรง ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว ชักกระตุก หรือไม่รู้ตัวก็ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันทีไม่ว่าจะเป็นกี่โมงยามก็ตาม


นพ. วรวัฒน์ เอียวสินพานิช

นพ. วรวัฒน์ เอียวสินพานิช
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู



นพ. จักรี ธัญยนพพร
นพ. จักรี ธัญยนพพร
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านประสาทศัลยแพทย์ และศัลยแพทย์หลอดเลือดสมอง



VAR_INCL_CK