โรคซึมเศร้า


เครียด

โรคซึมเศร้า

เป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดจากการหลั่งสารสื่อประสาทในสมองผิดปกติหรือไม่สมดุล ซึ่งอาจเป็นผลจากการมีความเครียดสะสมนานๆหรือมีการสูญเสีย ผิดหวัง เจอเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนทางจิตใจรุนแรง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงตามวัยโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ส่งผลกระทบต่อความนึกคิด อารมณ์ พฤติกรรมจนนำไปสู่การตัดสินใจในทางลบรวมถึงการฆ่าตัวตายได้ เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนเรามีเขื่อนที่คอยป้องกันแต่เขื่อนนั้นถูกกัดเซาะจนพัง จึงไม่สามารถกั้นน้ำเข้ามาได้

พฤติกรรมที่ชวนสังเกต

ในคนที่ต้องอยู่กับความเครียดที่หนักและยาวนานหรือมีเหตุการณ์รุนแรงแล้วมีอาการสำคัญที่ชัดเจน นอกจากอารมณ์เศร้า ร้องไห้ อ่อนไหวมากกว่าปกติแล้ว คนที่เป็นโรคมักหมดความสนใจในสิ่งที่เคยชอบ เคยทำแล้วมีความสุข ไม่สามารถดึงตัวเองออกจากปัญหาและอารมณ์เศร้าได้ ร่วมกับมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอื่นๆ ทั้งไม่อยากกินหรือกินมากกว่าปกติ นอนไม่หลับ สะดุ้งตื่นกลางคืน หรือนอนมากเกินไปแต่ไม่สดชื่น กระทบกับการเรียนหรือการทำงาน รู้สึกตัวเองไร้ค่า จนถึงความคิดทำร้ายตัวเอง ซึ่งอาการเหล่านี้ต้องมีติดต่อกันนานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป และเป็นแทบตลอดทั้งวัน บุคคลเหล่านี้อาจส่งสัญญาณให้เราสังเกตหรือระวังไว้ เช่น การสั่งเสีย ร่ำลา เตรียมการจากไป การเขียนจดหมายลาตาย ความคิดที่จะทำร้ายตัวเองที่รุนแรงและตั้งใจเช่น การกระโดดตึก ใช้ปืน โดยหากเคยมีประวัติการทำร้ายตัวเองมาก่อน ควรต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

วิธีการรักษา

ผู้ป่วยควรได้รับการวินิจฉัยและให้การดูแลรักษาโดยเร็วและถูกต้องโดยจิตแพทย์ ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาต้านโรคซึมเศร้าเพื่อปรับระดับของสารสื่อประสาท รวมถึงการให้คำปรึกษา การทำจิตบำบัดเพื่อปรับความนึกคิด การแก้ปัญหา ทัศนคติและพฤติกรรม ที่สำคัญมากคือการเฝ้าระวังไม่ให้มีการทำร้ายตัวเองเกิดขึ้น

คำถามพบบ่อย

  1. โรคซึมเศร้า หายเองได้หรือไม่
    แม้จะมีการวิจัยพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งหายเองได้โดยไม่ได้รับการรักษา แต่ด้วยความรุนแรงของโรคที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายและการทุกข์ทรมานจากโรคนั้น การได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและถูกต้องจึงยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าที่จะปล่อยให้ผู้ป่วยเผชิญกับโรคอย่างยาวนานจนหายเอง
  2. จำเป็นต้องรักษาด้วยยาทุกรายหรือไม่และต้องทานยานานเท่าไหร่
    เมื่อเราทราบแล้วว่าโรคเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง การรักษาด้วยยาที่เข้าไปปรับสารสื่อประสาทจึงเป็นสิ่งจำเป็นและพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยา จะลดระยะเวลาของโรคและการเกิดผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ได้ดีกว่าการได้รับการทำจิตบำบัดเท่านั้น จากการวิจัยพบว่าระยะเวลาเฉลี่ยในการรักษาด้วยยาในโรคนี้อยู่ที่ 1-2ปี และผู้ป่วยสามารถหายขาดจากโรคได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับปัจจัยต่างๆที่นำผู้ป่วยให้เกิดโรคหรือหายจากโรค ไม่ว่าจะเป็นความคิด การเผชิญกับปัญหา ทัศนคติ


แพทย์หญิงหรรษา ลีลาทนาพร

แพทย์หญิงหรรษา ลีลาทนาพร
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช




สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: ศูนย์อายุรกรรม
ชั้น 1B โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 225-227


ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

   
VAR_INCL_CK