ปัญหาช่องปาก ของผู้สูงอายุ

ปัญหาของช่องปากของผู้สูงอายุ

ภาวะปากแห้ง ผู้สูงอายุที่มีภาวะปากแห้ง คอแห้ง น้ำลายน้อย น้ำลายหนืด และกลืนลำบาก ให้จิบน้ำบ่อย ๆ อย่างน้อย วันละ 8-12 แก้ว หรือ 2-3 ลิตร (ยกเว้นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวที่ต้องระมัดระวังเรื่องปริมาณของน้ำดื่ม เช่น ผู้ป่วยโรคไตควรปรึกษาแพทย์) อาจให้ดื่มน้ำซุป เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อย หรือเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาล ผู้ดูแลอาจตั้งขวดน้ำไว้ใกล้ ๆ ผู้สูงอายุเพื่อให้ไม่ลืมดื่มน้ำ ถ้าน้ำลายน้อยหรือหนืดมากอาจต้องใช้น้ำลายเทียมช่วย หรือหากริมฝีปากแห้ง ให้ใช้ลิปมันหรือปิโตรเลียม เจลลี่ได้ (แต่ไม่ควรใช้ในกรณีที่ผู้สูงอายุมีภูมิคุ้มกันต่ำเพราะอาจติดเชื้อ)

นอกจากนี้ สามารถใช้ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นสูตรน้ำ เช่น เควายเจล หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัดหรือร้อนจัด หลีกเลี่ยงยาสูบประเภทต่าง ๆ หลีกเลี่ยงกาแฟและสุราซึ่งทำให้ปากแห้งมากขึ้น ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ แต่ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์

สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีหรือเคมีบำบัด นอกจากจะปากแห้งแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อราในปาก อาการที่ปรากฏคือ มีฝ้าขาวหรือรอยแดงปนขาว โดยเฉพาะบริเวณใต้ฟันปลอมหรือมุมปาก ถ้าพบอาการเช่นนี้ให้ปรึกษาบุคลากรสาธารณสุขเพื่อพิจารณาว่าจะใช้ยาต้านเชื้อราหรือไม่

เยื่อบุช่องปากอักเสบ เป็นอาการที่เยื่อบุอ่อนภายในช่องปากและรอบ ๆ ริมฝีปากอักเสบ จะมีความรู้สึกเจ็บปวดมากเวลาอ้าปากหรือเวลารับประทานอาหารที่มีรสเปรี้ยว เผ็ด ร้อน สาเหตุของโรคอาจเกิดจากการแพ้ยา ถูกสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนสูง หรือเป็นผลมาจากระบบภูมิต้านทานของคนไข้มีการเปลี่ยนแปลง

แผลมุมปาก อาการที่ปรากฏคือ เนื้อเยื่อมุมปากมีสีซีด ยุ่ย เป็นแผลแตก ระคายเคือง เจ็บปวดขณะอ้าปาก สาเหตุเกิดจากมุมปากแห้ง น้ำลายเอ่อมุมปาก ขนาดของฟันปลอมไม่ถูกต้อง ทานยาปฏิชีวนะมานาน หรือขาดวิตามินบี นอกจากนี้อาจมีการติดเชื้อราร่วมด้วย

การดูแลเบื้องต้นทำได้โดยใช้ผ้าสะอาดเช็ดน้ำลายที่มุมปากให้แห้งเสมอ ทาลิปมันหรือปิโตรเลียม เจลลี่บรรเทาอาการปากแห้ง และส่งให้ทันตแพทย์รักษาและแก้ไขสาเหตุต่อไป

ปัญหาของช่องปากของผู้สูงอายุ

กลิ่นปาก เป็นสาเหตุทางกายภาพ (Physiologic Halitosis) เกิดจากกระบวนการย่อยสลายปกติภายในช่องปาก เช่น หลังตื่นนอนในเวลาเช้าหรือกลิ่นจากอาหารบางประเภท ซึ่งปัญหากลิ่นปากมักเป็นเรื่องที่ผู้สูงอายุกังวลใจ ซึ่งแก้ไขได้โดยแปรงฟันให้สะอาดและแปรงลิ้น เพราะการแปรงลิ้นจะช่วยกำจัดคราบที่เกาะหนาบนลิ้นอันเป็นสาเหตุของกลิ่นปาก ควรจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อให้น้ำลายไม่หนืด ตรวจดูว่าผู้สูงอายุมีอาการปากแห้ง เหงือกอักเสบ หรือมีเศษอาหารติดในช่องปากหรือไม่ นอกจากนี้อาจใช้น้ำยาบ้วนปากชนิดไม่มีแอลกอฮอล์ร่วมด้วย

ภาวะกลืนลำบาก ภาวะที่ผู้สูงอายุกลืนอาหารของเหลว หรือน้ำลงสู่ลำคอได้ยากกว่าปกติ อาการที่แพทย์หรือนักกิจกรรมบำบัดใช้ประเมินว่าผู้สูงอายุมีภาวะกลืนลำบาก ได้แก่ อาการกล้ามเนื้อรอบปากอ่อนแรง ริมฝีปากปิดไม่สนิทจนน้ำลายไหล ชอบเก็บอาหารไว้ที่กระพุ้งแก้มกล้ามเนื้อรอบปากขยับได้ช้าขณะเคี้ยว ภาวะกลืนลำบากอาจทำให้เกิดปัญหาในช่องปาก เช่น มีอาหารตกค้างบริเวณกระพุ้งแก้ม มีแผ่นคราบจุลินทรีย์สะสมในปริมาณมากฟันผุง่ายขึ้น มีโอกาสปากแห้งได้มากขึ้น และสำลักได้ง่าย

การดูแลสุขอนามัยช่องปากสำหรับผู้มีภาวะกลืนลำบาก ทำได้โดยแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์เช่นเดียวกับผู้สูงอายุติดเตียงทั่วไป แต่ต้องระมัดระวังท่าทางเป็นพิเศษ ผู้ดูแลควรจัดให้ผู้สูงอายุอยู่ในท่านั่งเอนหลัง ให้ศีรษะสูงจากพื้นโดยทำมุมประมาณ 30-45 องศา แล้วช่วยประคองบริเวณคอ จากนั้นสังเกตว่ามีอาหารค้างอยู่ที่กระพุ้งแก้มและลิ้นหรือไม่ หากมีให้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ กวาดเศษอาหาร คราบต่าง ๆ เสมหะ หรือน้ำลายเหนียวออกให้มากที่สุด แล้วแปรงฟันด้วยแปรงสีฟันขนอ่อนนุ่ม และยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ บีบยาสีฟันเพียงเล็กน้อยโดยไม่ต้องจุ่มน้ำ คอยใช้ผ้าซับน้ำและน้ำลายเป็นระยะเมื่อแปรงเสร็จแล้วให้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดปากให้สะอาด

ข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

VAR_INCL_CK