การฝังรากฟันเทียมเพื่อทดแทนฟันที่เสียไป


รากฟันเทียม

การฝังรากฟันเทียมเพื่อทดแทนฟันที่เสียไป

ฟันเป็นอวัยวะหนึ่งในร่างกาย รากฟันเทียมจึงเป็นอวัยวะเทียมซึ่งคล้ายๆ กับการใส่ลิ้นหัวใจเทียมหรือว่าข้อต่อเทียมที่รู้จักกัน หลายคนมักจะเข้าใจว่ารากฟันเทียมคือการรักษารากฟัน การรักษารากฟันคือคนไข้ยังมีรากฟันอยู่ ฟันยังอยู่บริเวณเดิมเพียงแต่ฟันอาจจะมีการบาดเจ็บหรือว่ามีการติดเชื้อทำให้ต้องมารักษา คือกำจัดเชื้อโรคจากคลองรากฟันและอุด ทำให้ฟันยังใช้การต่อไปได้ แต่การฝังรากฟันเทียมนั้น คนไข้จะต้องถอนฟันออกไปแล้ว คือไม่มีฟันในบริเวณนั้น และต้องการใส่ฟันใหม่เพื่อทดแทน จึงฝังรากเทียมเพื่อทดแทนฟันที่หายไป

โดยทั่วไปคนเราจะมีฟันหลังทั้งหมดประมาณ 8 คู่ ฝั่งละ 4 คู่ ซึ่งจะเปรียบเทียบได้กับเสาบ้าน คือบ้านหนึ่งหลังที่มีเสา 8 ต้น ดังนั้นถ้าฟันหายไป 1 ซี่ ก็เหมือนเสาบ้านหายไปเสาเดียว ซึ่งผู้ป่วยอาจจะรู้สึกไม่แตกต่างจากเดิมและยังสามารถเคี้ยวอาหารได้เหมือนปกติ หรือในกรณีที่หายไป 2 ซี่ เหมือนเสาบ้านที่หายไป 2 ต้น จากทั้งหมด 8 ต้น ผู้ป่วยอาจจะยังใช้งานได้เหมือนปกติ แต่แน่นอนในระยะยาว การที่ฟันหายไป 1 ซี่คือการที่เสาต้นอื่นๆ ต้องรับแรงแทน ดังนั้นในระยะยาวฟันซี่อื่นก็อาจจะเกิดปัญหาได้ เช่น มีฟันสึกหรือแตกเกิดขึ้น บางครั้งกว่าคนไข้จะรู้สึกตัวก็เมื่อมีอาการอย่างอื่นที่เด่นชัดออกมา เช่น มีร่องแก้มชัดเจนขึ้น ใบหน้าย่นลงมา หรือขณะที่พูดน้ำลายที่มากองที่มุมปาก เป็นผลของความสูงของใบหน้าที่ลดลงเนื่องจากฟันสึก ซึ่งเมื่อเกิดปัญหานี้แล้วก็ทำให้เกิดปัญหาต่อบุคลิกภาพของผู้ป่วย การแก้ไขมักจะยากขึ้นหากปล่อยให้ฟันหายไปเป็นเวลานาน ดังนั้นการรีบใส่ฟันทดแทนให้เร็วหลังจากถอนฟันออกไปจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

รากฟันเทียมประกอบไปด้วย 3 ส่วน

ส่วนแรกก็คือส่วนของรากฟันเทียม ซึ่งทำจากวัสดุทดแทนที่เข้ากันได้กับเนื้อเยื่อมนุษย์ อาจจะเป็นโลหะไทเทเนียมหรือว่าแทนทาลัม หรือว่าในปัจจุบันมีเซรามิคซึ่งให้ความสวยงามที่มากขึ้น โดยรูปร่างของรากฟันเทียมมีหลากหลาย อาจจะเป็นทรงตรง หรือทรงสอบ แต่มักจะมีลักษณะคล้ายๆ กับสกรูซึ่งเป็นเกลียว ในการผ่าตัดฝังรากเทียม หลังจากกรอกระดูกให้เป็นรูปทรงที่จะรองรับรากฟันเทียมแล้ว ก็ไขรากเทียมเข้าไป ซึ่งเรียกว่าการฝังรากฟันเทียม หลังจากรากเทียมติดแน่นในกระดูกแล้วก็ต่อแกนกลางซึ่งเป็นส่วนที่ 2 แกนตัวนี้จะยึดระหว่างรากเทียมกับครอบฟันหรือว่าฟันเทียมทดแทนแบบอื่นๆ และในส่วนที่ 3 คือฟันเทียมทดแทน ซึ่งสามารถเลือกได้หลายแบบ อาจจะเป็นครอบฟันตัวเดียว สะพานฟัน หรือฟันปลอมแบบถอดได้ ซึ่งฟันเทียมทดแทนเหล่านี้จะมายึดอยู่บนรากเทียมผ่านแกนกลาง

รากฟันเทียม เหมาะสมกับใคร?

  • ผู้ที่มีฟันแตก หัก หรือบิ่น
  • ผู้ที่ต้องการทดแทนฟันที่เหลืออยู่ แต่ไม่แข็งแรง
  • ต้องการยิ้มและพูดคุยได้อย่างมั่นใจ
  • ผู้ที่เสียฟันแท้ ต้องการการบดเคี้ยวที่ดี
  • ผู้ที่ทำฟันปลอมแบบถอดได้ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
รากฟันเทียม

ก่อนที่จะฝังรากฟันเทียมต้องคำนึงถึงอะไร

  • ปัจจัยที่ 1 โดยส่วนใหญ่คนไข้จะคำนึงถึงเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้รากฟันเทียมเป็นฟันเทียมทดแทนที่มีค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุด แต่ว่าอย่างไรก็ตามถ้าเทียบกับในอดีต ประมาณ 10 ปีที่แล้วรากฟันเทียมราคาสูงกว่านี้มาก และในปัจจุบันราคาถูกลงมามาก แต่ว่าคุณภาพดีขึ้น ดังนั้นถ้ามองกันในความคุ้มค่าแล้ว รากฟันเทียมจัดเป็นฟันปลอมทดแทนที่ใช้งานได้นาน ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ในราคาที่จับต้องได้และไม่สูงจนเกินไป
  • ปัจจัยที่ 2 เป็นเรื่องของการที่ผู้ป่วยบางคนกลัวการผ่าตัด เพราะว่าการฝังรากฟันเทียมต้องฝังลงไปในกระดูกของคนไข้ ซึ่งแน่นอนถึงแม้ว่าจะเป็นการผ่าตัดเล็ก แต่ว่าก็ต้องมีเลือดออก มีการผ่าตัด มีความบาดเจ็บที่เกิดขึ้นหลังทำ
  • ปัจจัยที่ 3 สุขภาพของผู้ป่วย เนื่องจากการฝังรากเทียมในขั้นตอนแรกคือการผ่าตัดเพื่อฝังรากเทียมให้ติดกับกระดูก สุขภาพร่างกายของผู้ป่วยจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการหายของแผล การยึดติดของรากฟันเทียมกับกระดูก ในกรณีที่ต้องมีการปลูกกระดูก การที่กระดูกจะเกิดขึ้นมากหรือน้อยขึ้นกับร่างกายของผู้ป่วยด้วย และในฟันหลังบน หากมีการผ่าตัดปลูกกระดูกในโพรงอากาศแม็กซิลลา พยาธิสภาพในโพรงอากาศอาจจะส่งผลต่อความสำเร็จของการผ่าตัดได้ เช่นผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศ ไซนัสอักเสบ จะมีผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้มากขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต้องแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบถึงสุขภาพในปัจจุบัน โรคหรือการผ่าตัดที่เคยเป็นในอดีต โรคประจำตัว ยาหรือวิตามินที่ทานอยู่เป็นประจำ ทันตแพทย์จะได้พิจารณาว่าโรคนั้นๆจะส่งผลต่อความสำเร็จและภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นมากน้อยอย่างไร
  • ปัจจัยที่ 4 ที่ต้องคำนึงถึงก็คือการดูแลรากฟันเทียม ดังที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นว่ารากฟันเทียมจัดเป็นอวัยวะเทียม ดังนั้น หลังจากกระบวนการฝังและต่อฟันเทียมทดแทนแล้ว รากฟันเทียมจึงต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่เช่นเดียวกับที่ดูแลฟันปกติ เช่นแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟัน ดังนั้นถ้าผู้ป่วยไม่สามารถดูแลช่องปากได้จึงเป็นกลุ่มที่ไม่เหมาะสม เช่นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่างที่ทำให้การเคลื่อนไหวของมือไม่ปกติ บังคับการทำงานของมือไม่ได้ การใส่ฟันปลอมแบบถอดได้ซึ่งสามารถถอดออกมาและทำความสะอาดได้ทั่วถึงจึงเหมาะสมกว่า

สำหรับการเตรียมตัวก่อนทำรากเทียม

การที่ผู้ป่วยจะเข้ามาผ่าตัดฝังรากฟันเทียมไม่ได้น่ากลัว กระบวนการคล้ายกับการไปถอนฟันหรือว่าผ่าฟันคุดเท่านั้น ผู้ป่วยควรมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง รวมถึงการเข้านอนเร็วขึ้นและทานข้าวตามปกติเพื่อที่ว่าร่างกายก็จะได้รู้สึกสดชื่นมากขึ้น แต่ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว อาจจะมีการตรวจเช็คสุขภาพก่อนเพื่อเตรียมผู้ป่วยให้พร้อมสำหรับการผ่าตัดฝังรากเทียม และผู้ป่วยควรทานยาอย่างที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัด สำหรับผู้ป่วยที่ทานยาละลายลิ่มเลือดเป็นประจำ ทันตแพทย์จะปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้เพื่อพิจารณาว่าจำเป็นที่จะต้องหยุดยาหรือไม่


รากฟันเทียม

ขั้นตอนในการฝังรากเทียม

ประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอน

  1. ขั้นตอนที่ 1 ขั้นตอนแรกเป็นการประเมินผู้ป่วย โดยทันตแพทย์จะตรวจร่างกายผู้ป่วยเบื้องต้น รวมถึงการตรวจช่องปาก ประเมินวิเคราะห์สภาพของกระดูกและเนื้อเยื่อบริเวณที่วางแผนจะฝังรากฟันเทียม
  2. ขั้นตอนที่ 2 เมื่อผู้ป่วยมีความพร้อมก็จะเข้าสู่การผ่าตัดฝังรากฟันเทียม ส่วนใหญ่จะเป็นการผ่าตัดเล็กภายใต้ยาชาเฉพาะที่ โดยกรอกระดูเพื่อรองรับรากฟันเทียม และฝังรากฟันเทียม แต่ในบางกรณี เช่น ปริมาณของกระดูกไม่เหมาะสม ความสูงหรือความกว้างไม่เพียงพอ ในเคสเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องผ่าตัดเสริมกระดูกขึ้นมา รวมถึงถ้าเป็นฟันบนก็อาจจะต้องผ่าตัดยกไซนัสร่วมกับการปลูกกระดูก และบางครั้งต้องมีการผ่าตัดเพื่อย้ายเส้นประสาท โดยการผ่าตัดเพิ่มเติมเหล่านี้อาจจะทำพร้อมกับการฝังรากเทียม หรือทำก่อนขึ้นกับกรณีไป หลังจากที่รอให้รากเทียมติดกับกระดูกเรียบร้อยแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการต่อไป
  3. ขั้นตอนที่ 3 หลังจากฝังรากฟันเทียมเสร็จแล้วจะเข้าสู่ขั้นตอนต่อรากฟันเทียมกับฟันเทียมทดแทนในแบบที่เลือก โดยในขั้นตอนนี้ทันตแพทย์จะนัดผู้ป่วยเพื่อพิมพ์ปาก หลังจากนั้นเมื่อได้ฟันเทียมทดแทนมาแล้ว ทันตแพทย์จะยึดฟันเทียมทดแทนกับรากฟันเทียมที่ฝังไปแล้วในช่องปากคนไข้ หลังจากคนไข้ใส่ฟันเทียมทดแทนเรียบร้อย ทันตแพทย์จะนัดติดตามอาการ ซึ่งในขั้นตอนนี้คนไข้ก็จะต้องมาพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ตามระยะที่ทันตแพทย์แนะนำ

ข้อดีของรากฟันเทียม

  • มีความคงทน
  • สามารถบดเคี้ยวได้ดี
  • ไม่มีปัญหาเรื่องการออกเสียง
  • ป้องกันการสูญเสียฟันและกระดูกข้างเคียง
  • เสริมสร้างสุขภาพช่องปาก
  • หมดปัญหาฟันเทียมขยับระหว่างพูดคุย หรือทานอาหาร
  • สวยงาม ดูเป็นธรรมชาติ

“ในปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีหลายอย่างที่เข้ามาช่วยในการฝังรากฟันเทียม เช่นการนำข้อมูลที่ได้จากการเอ็กซเรย์ 3 มิติ ซึ่งทำให้เราทราบปริมาณกระดูก และเห็นอวัยวะและรากฟันในบริเวณใกล้เคียงอย่างแม่นยำ ไปช่วยวางแผนการรักษา ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า virtual implant planning คือเป็นการวางแผนการรักษาเสมือนจริง โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยวางรากเทียมเสมือนจริง คือมีรูปร่าง ขนาด ความยาวเท่าที่วางแผนจะฝังจริงไปลองวางในข้อมูลเอ็กซเรย์ 3 มิติของคนไข้ นอกจากช่วยในการวางแผน ยังสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ออกมาเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยกำหนดทิศทางของรากเทียมในวันที่ผ่าตัด ดังนั้นการฝังรากเทียมจะมีความแม่นยำมากขึ้นกว่าปกติ นอกจากความแม่นยำก็เป็นเรื่องของความรวดเร็ว และความเจ็บป่วยที่น้อยลงของผู้ป่วย”


ทพญ. เพ็ญพร เหลืองชนะ

ทพญ. เพ็ญพร เหลืองชนะ
ทันตแพทย์ด้านทันตกรรมรากเทียม


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: ศูนย์ทันตกรรม
ชั้น 6 โรงพยาบาลสุขุมวิท
โทร. 02-391-0011 ต่อ 613, 614

ติดตามรับข้อมูลข่าวสารอัพเดทจากทางโรงพยาบาล:

facebook instagram line youtube
VAR_INCL_CK